รายงานพิเศษ : น้ำมันโลกดิ่ง ผลบวก-ลบ’ไทย’

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลงต่ำกว่า 28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 มกราคม หลังจากที่การคว่ำบาตรอิหร่านถูกยกเลิกไป ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญแห่งนี้จะกลับมาส่งออกได้อีกครั้ง โดยอิหร่านประกาศว่า คาดว่าจะสามารถส่งออกน้ำมันได้ที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลง 4.4% มาอยู่ที่ 27.67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงหนึ่งระหว่างภาคการซื้อขาย ก่อนที่จะดีดตัวกลับขึ้นมาอยู่ที่สูงกว่า 28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยครั้งสุดท้ายที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดต่ำกว่า 28 ดอลลาร์ คือเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2546

สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ยืนยันว่าอิหร่านทำได้ตามพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงประวัติศาสตร์เมื่อปีที่แล้วที่จะควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของตน

แม้การตัดสินใจที่จะยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่านได้รับการสื่อสารเป็นอย่างดี แต่ข่าวดังกล่าวส่งผลสะเทือนต่อตลาดหุ้นทั่วตะวันออกกลางและเอเชียที่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากระดับราคาน้ำมันที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปีอยู่แล้ว

Advertisement

การประกาศข่าวดังกล่าวหมายความว่า ถึงตอนนี้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้ เป็นการเพิ่มอุปทานน้ำมันที่ล้นตลาดอย่างรุนแรงอยู่แล้ว กอปรกับอุปสงค์ที่อ่อนแอและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ราคาน้ำมันร่วงลงราว 75% นับตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นต้นมา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทำสถิติสูงสุดในช่วงเวลาหนึ่งของภาคการซื้อขายระหว่างวันที่ 145.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมปีเดียวกัน การเทขายเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐอเมริกา กล่าวเมื่อ 1 วันก่อนหน้าว่าจะยกเลิกคำสั่งห้ามขุดเจาะน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงรวดเดียว 8 ดอลลาร์ ซึ่งนับว่ามากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามอิรักเป็นต้นมา

ช่วงสัปดาห์นั้นราคาน้ำมันร่วงลง 11% มาอยู่ที่ 128 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปัจจัยความตึงเครียดที่ผ่อนคลายลงระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน หลังจากนั้นช่วงกลางเดือนกันยายน ราคาน้ำมันร่วงลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 6 เดือน โดยอยู่ที่ 92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นผลมาจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่

ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคมปีเดียวกันนั้น ราคาน้ำมันร่วงลงมาอยู่ที่ 64.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และอุปทานน้ำมันจากฝั่งยุโรปที่ลดลง ในเดือนธันวาคมปีนั้น ราคาน้ำมันร่วงลงต่ำสุดมาอยู่ที่ 32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันกลับมาไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 จากความกังวลด้านปัญหาความไร้เสถียรภาพในลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญ

หลังจากนั้นราคาน้ำมันไม่เคยต่ำกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงกลางปี 2557 ที่ระดับการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานในสหรัฐเพิ่มขึ้น และอุปสงค์ที่อ่อนแอในฝั่งยุโรปกับจีน

หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน ซาอุดีอาระเบีย ชาติสมาชิกรายใหญ่ที่สุดในองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) ประกาศไม่ลดกำลังการผลิตน้ำมัน โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนและกำจัดคู่แข่งซึ่งก็คือผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานของสหรัฐที่ใช้ต้นทุนในการผลิตสูงกว่า ซึ่งซาอุฯและยูเออียังคงย้ำจุดยืนเดิมมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ “โอเปก” ยังคาดการณ์ไว้ในรายงานของกลุ่มเมื่อสิ้นปีที่แล้วว่า ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับต่ำไปเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 4 ปี

จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลโดยตรงต่อการลงทุนของบริษัทน้ำมันอันดับหนึ่งของไทย นั่นคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ออกมายอมรับเมื่อเร็วๆ นี้ว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปีนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ทาง ปตท.จึงทบทวนชะลอแผนลงทุนใหม่ในต่างประเทศปีนี้ออกไปก่อน โดยเฉพาะการลงทุนธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นในต่างประเทศและธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ทำให้แผนการลงทุนปีนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 50,839 ล้านบาท ลดลงจากเดิม ที่ตั้งเป้าลงทุนไว้กว่า 52,000 ล้านบาท

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็เสนอแนวทางให้รัฐใช้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง ด้วยการนำส่วนต่างราคาน้ำมันที่ควรลดลงมาตั้งเป็นกองทุนดูแลสินค้าเกษตรแทน หากราคาตลาดโลกลดจะทำให้ราคาขายปลีกควรลดลงลิตรละ 1 บาท รัฐบาลก็ไม่ต้องปรับราคาลง แต่ให้นำเงินมาใส่ในกองทุนแทน เพราะการลดราคาน้ำมันในปัจจุบันไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ประชาชนหันมาบริโภคน้ำมันเกินความจำเป็น

ผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่อง

ล่าสุดวันที่ 18 มกราคมนี้ บริษัท ปตท. และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) แจ้งปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิด 0.40 บาทต่อลิตร ยกเว้นแก๊สโซฮอล์ อี85 ปรับลด 0.20 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมเป็นต้นไป ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยที่ลดลงถือว่าต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี

ราคาขายปลีกน้ำมันใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ไม่รวมภาษีท้องที่ของแต่ละจังหวัด เป็นดังนี้ เบนซิน 95 อยู่ที่ 30.06 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 23.10 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 22.68 บาทต่อลิตร อี20 อยู่ที่ 20.74 บาทต่อลิตร อี85 อยู่ที่ 17.89 บาทต่อลิตร และดีเซลอยู่ที่ 19.29 บาทต่อลิตร

“มนูญ ศิริวรรณ” นักวิชาการด้านพลังงานและอดีตผู้บริหาร บริษัท บางจากปิโตรเลียม แสดงความเห็นต่อราคาน้ำมันที่ปรับลดว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีโอกาสลดลงมาระดับที่ 25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากอิหร่านถูกยกเลิกคว่ำบาตรจากสหประชาชาติ หากน้ำมันดิบลงมาอยู่ที่ระดับ 25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันของไทยก็จะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องได้อีกอย่างน้อย 1 บาทต่อลิตร

“ราคาดีเซลมีโอกาสเห็นหลุดระดับ 19 บาทต่อลิตร แต่จะลดได้มากน้อยเพียงใดต้องรอดูการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อส่งผ่านการคืนภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ส่วนกลุ่มเบนซินคาดว่ามีโอกาสจะลดลงได้มากกว่า” มนูญกล่าว

“มนูญ” แนะว่า ระดับราคาน้ำมันที่ต่ำ อยากให้ภาครัฐพิจารณาโครงสร้างต้นทุนพลังงานทดแทนทั้งเอทานอล และไบโอดีเซลที่มีราคาแพงกว่าน้ำมันถึง 50-60% ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่ เมื่อราคาน้ำมันต่ำ ทำให้กองทุนน้ำมันฯต้องเข้าไปชดเชยจำนวนมาก เพื่อกดให้ราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลสัดส่วนสูงต้องมีราคาลดลงตามด้วย

ราคาน้ำมันที่ลดลงมีทั้งผลดีที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงลดลง แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้ประชาชนใช้กันอย่างไม่ประหยัด

ผลดีที่ทำให้ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการขนส่งลดลง แต่มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของไทยก็ลดลงด้วย

ดังนั้น ไม่ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มหรือลด ย่อมมีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบทั้งต่อโลกและไทยด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image