ที่ดินทิ้งร้าง !!! ที่มาของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง…… หลงทาง รึป่าว ?

เมื่อพูดถึง ที่ดินทิ้งร้าง หรือ ที่ดินว่างเปล่า ในความรู้สึกของคนชั้นกลางทั่วไปที่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง จะนึกถึงที่ดินว่างเปล่า ขนาด 20-100 ตารางวา ในเขตเมืองที่คนชั้นกลางกู้ธนาคารผ่อนซื้อไว้ก่อน ก็จำเป็นต้องทิ้งร้างไว้ราว 10-20 ปีกว่าจะผ่อนหมด แล้วค่อยเก็บเงินสร้างบ้านเล็กๆ สักหลัง แต่จู่ๆ ภาครัฐก็ประกาศว่า ที่ดินว่างเปล่าทุกแปลงคือความเสียหายของประเทศ ต้องกระตุ้น (บีบ) ให้ใช้ประโยชน์ด้วยการเก็บภาษีรายปีที่แพงมาก จะมีการออกกฎหมายใหม่แน่นอน สร้างความตกใจ เหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจคนชั้นกลาง เขาผิดอะไรที่ซื้อที่ดินว่างเปล่าแค่ไม่กี่ตารางวา เพื่อรอมีเงินแล้วค่อยปลูกบ้านในบั้นปลายชีวิต ภาครัฐไปเอาข้อมูลที่ไหนมา จึงกล่าวหาว่า ที่ดินว่างเปล่า คือ ตัวถ่วงความเจริญของประเทศ ต้องออกกฎหมายภาษีที่ดินฯ มาแก้ปัญหา ทำไมการซื้อที่ดินว่างเปล่าทิ้งไว้นิดหน่อยเพื่อรอสร้างบ้าน ถึงกลายเป็นตัวถ่วงความเจริญประเทศไทยไปได้? กินยาผิดหรือเปล่า? ทำไมคิดแบบนี้? หลายคนสงสัย เราจึงต้องค้นข้อมูลมาศึกษากันว่า กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีที่มายังไงกันแน่……..

1. ข้อมูลจากประมวลรายงาน วาระปฏิรูปที่ 11 ปฏิรูปที่ดินและการจัดการที่ดิน ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สิงหาคม 2558)

สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ให้ข้อเสนอแนะในรายงานนี้ว่า มาตรการระยะยาวเพื่อแก้ไขการไม่ทำประโยชน์ในที่ดินหรือการใช้ที่ดินไม่เต็มศักยภาพ คือ การเร่งรัดให้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นมาตรการทางภาษี ซึ่งมีข้อกำหนดว่าเจ้าของที่ดินรายใดได้ทำประโยชน์ที่ดินของตนแล้วจะเสียภาษีให้รัฐน้อยกว่าเจ้าของที่ดินซึ่งปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยอ้างเหตุผลไว้สั้นๆ คือ

– “ มีการซื้อที่ดินไว้แล้วปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ ปัญหาการครอบครองที่ดินโดยไม่ทำประโยชน์นั้น อาจจะมาจากการเก็งกำไรหรือมีปัญหาจากการให้เช่าที่ดิน ซึ่งพบว่า ปี พ.ศ. 2549 – 2550 มีพื้นที่นาร้าง จำนวน 1.19 ล้านไร่ เนื่องจากเจ้าของที่ดินไม่ยอมให้เช่าที่ดิน เกิดจากบทบัญญัติของกฎหมายควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องระยะเวลาการเช่า และกฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อผู้เช่ามากเกินไป”

– “ประชาชนจำนวนเพียงร้อยละ 10 ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ต่อคน ที่ดินถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ หรือใช้ประโยชน์ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ มีจำนวนมากถึงร้อยละ 70 ประเมินเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 127,000 ล้าน บาทต่อปี (มูลนิธิสถาบันที่ดินฯ, 2544)”

Advertisement

สาเหตุของการเร่งรัดให้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เป็นเพราะมีที่ดินทิ้งร้างจำนวนมากสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติมหาศาลเป็นแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าความสูญเสียที่ใหญ่โตนี้คืออะไรกัน? ตามรายงานฉบับนี้ คนที่ทิ้งร้างที่ดิน คือ “คนที่มีที่ดิน 100 ไร่ขึ้นไป ราวร้อยละ 70 จะทิ้งที่ดินให้รกร้าง หรือใช้ประโยชน์ไม่ถึงครึ่งของพื้นที่ โดยมีพื้นที่นาร้าง จำนวน 1.19  ล้านไร่ ประเมินเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 127,000 ล้าน บาทต่อปี จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันที่ดินฯ, 2544 ”

อ่านเสร็จก็เกิดคำถามแรกเกิดขึ้นในใจทันทีว่าคนมีที่ดิน 100 ไร่ขึ้นไปทำให้เสียหาย แล้วเกี่ยวอะไรกับคนมีที่ดินว่างเปล่าในเมืองแค่ 100 ตารางวาต้องตกเป็นแพะรับบาปร่วมด้วย ? กลายเป็นความผิดของคนทั้งประเทศไปได้? ปัญหานาร้างเป็นล้านไร่ แล้วเกี่ยวอะไรกับที่ดินว่างเปล่าในเมืองใหญ่ที่มีไม่มากและคนแย่งกันซื้อ?

Advertisement

เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือ แม่น้ำสายแรก ของแม่น้ำห้าสาย คาดว่ารายงานนี้ ก็คือ แม่น้ำสายแรกจึงไหลไปแม่น้ำสายที่สอง ทำให้มีการยกร่าง พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขึ้น แต่พอกลับไปดูที่มาต้นตอว่า แม่น้ำไหลมาจากไหน ก็พบว่า เพราะต้องการแก้ไขเรื่องการไม่ใช้ที่ดินปล่อยให้ร้างหรือใช้ไม่คุ้มของประชาชนร้อยละ 10 ที่ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ต่อคน จึงจะร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พอมีผลบังคับทั้งประเทศกลับกลายเป็นกระทบถึงคนส่วนใหญ่อีกร้อยละ 90 เลยต้องหาข้ออ้างอื่น เหตุผลอื่นมาผสมเพื่อหาความชอบธรรมในการคุมทั้งประเทศ เพื่อจะผลักดันกฎหมายนี้ออกไปให้ได้ ทำให้เกิดปัญหาลูกโซ่พันกันยุ่งเหยิงเพราะหลงทางแต่แรก ถ้าจะแก้ปัญหาลูกโซ่พันกันยุ่งเหยิง ก็ต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นใหม่ พิจารณาว่า เป็นแค่ วิธีแก้ปัญหาของเรื่องที่ดินทิ้งร้างจากสาเหตุเดียวเท่านั้น ไม่แก้ปัญหาสาเหตุที่ดินทิ้งร้างอีก 4 สาเหตุใหญ่ ไม่ต้องถามว่า จะไป แก้ หรือ เพิ่ม ปัญหาให้กับคนทั้งประเทศ เอาแค่แก้ปัญหาที่ดินทิ้งร้างปัญหาเดียวก็ทำได้แค่ 1 ใน 5 ของสาเหตุทั้งหมด (ราว 20%) เท่านั้น

2. ข้อมูลจาก บทวิเคราะห์ปัญหาที่เกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจไทย และแนวทางปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหา: ปัญหาการถือครองที่ดินโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่ดินของประเทศไทย โดย นายมนินธ์ สุทธิวัฒนานิติ

ที่มา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 68 ง หน้า 57 วันที่ 31 พฤษภาคม 2553

“ ผู้ถือครองที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ มีสัดส่วนถึง ร้อยละ 50.64 และผู้ถือครองที่ดินระหว่าง 1-4 ไร่ มีสัดส่วน ร้อยละ 29.55 นั่นคือ ผู้ถือครองที่ดิน ร้อยละ 80.19 เป็นผู้ที่มีที่ดินน้อยกว่า 5 ไร่ ในขณะที่ผู้ถือครองที่ดิน ตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป มีสัดส่วน เพียงร้อยละ 0.2517
การถือครองที่ดินของครัวเรือนที่ทำการเกษตรในประเทศไทย พบว่า ในปี 2549 มีครัวเรือนที่ถือครองที่ดินระหว่าง 10-19 ไร่ มากที่สุด (1,013,918 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 24.91) และมีครัวเรือนที่ทำการเกษตรที่มีที่ดินมากกว่า 40 ไร่ 402,145 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 9.88 ในขณะที่มีครัวเรือนที่ทำการเกษตรที่ไม่มีที่ดินเลย 789,599 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 18.42”

“ทั้งนี้ จะเห็นว่า ที่ดินในประเทศไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 53.51) เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และรองลงมา (ร้อยละ 35.29) เป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยมีพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง ร้อยละ 4.71 และมีพื้นที่ทิ้งร้าง ร้อยละ 2.86”

อ่านถึงตอนนี้ก็เกิดความสงสัยว่า รายงานสภาปฏิรูปแห่งชาติอ้างว่า ประชาชนร้อยละ 10 ที่ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ต่อคน เป็นผู้ทำให้ปัญหาที่ดินทิ้งร้าง แต่ไม่ได้บอกจำนวนพื้นที่ทิ้งร้างว่ามีเท่าไร แต่ในรายงานนี้ระบุว่า พื้นที่ทิ้งร้างมีเพียง ร้อยละ 2.86 ของประเทศเท่านั้น ทำไมความเสียหายมันตั้งแสนกว่าล้านบาท ถ้าความเสียหายเกิดกับพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เหลือ ก็น่าจะมีมูลค่ามากกว่ามหาศาล เป็นหลายล้านล้านบาท

“พื้นที่ทิ้งร้างในประเทศไทย

พื้นที่ร้าง หมายถึง พื้นที่ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้เข้าทำประโยชน์ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป พื้นที่ร้างดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เคยทำการเกษตรกรรมมาก่อนและปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้าทำประโยชน์ด้วยสาเหตุต่างๆ กัน นอกจากพื้นที่ร้างที่เคยทำการเกษตรกรรมมาก่อนแล้ว ยังมีพื้นที่ร้างที่เคยทำเหมืองแร่มาก่อน และที่ลุ่มต่างๆ รวมอยู่ด้วย

สำนักป้องกันภัยธรรมชาติและความเสี่ยงทางการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลพื้นที่ทิ้งร้างในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2549 พบว่า มีพื้นที่ทิ้งร้างรวมทั้งสิ้น 7,455,725 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.3248 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้”

“ทั้งนี้ สำนักป้องกันภัยธรรมชาติและความเสี่ยงทางการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ได้สรุปสาเหตุการทิ้งร้างที่ดินไว้ ดังนี้
1. เป็นที่ดินของนายทุน หรือเป็นปัญหาการกระจุกตัวของกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน
2. น้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ที่พบเป็นพื้นที่นาร้าง มีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนยาวนาน
3. ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินตื้น มีหินมากหรือมีหินโผล่
4. ขาดแรงงานในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
5. ขาดน้ำในการประกอบอาชีพ”

ในที่สุด เราก็ได้คำตอบว่า ที่ดินทิ้งร้าง ที่แท้ก็คือ ป่าละเมาะ 6,138,743 ไร่ ที่ลุ่ม 1,025,236 ไร่ นาร้าง 198,858 ไร่ ทุ่งหญ้า 51,118 ไร่ ไร่ร้าง 18,002ไร่ เหมืองแร่ร้าง 23,768 ไร่ รวมทั้งสิ้น 7,455,725 ไร่

ลองคิดดูว่า ที่ดินทิ้งร้างเพราะน้ำท่วม นาร้าง มีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนยาวนาน / ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินตื้น มีหินมากหรือมีหินโผล่ / ขาดแรงงานในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม /. ขาดน้ำในการประกอบอาชีพ สาเหตุเหล่านี้ จะแก้ด้วยการเก็บภาษีได้ยังไง ?

มีข้อเดียวที่เก็บภาษีเพื่อแก้ปัญหาน่าจะได้ผล คือ ที่ดินของนายทุน / การกระจุกตัวของกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน แต่ก็แก้ได้ข้อเดียว ทำไมเหมาไปทั้งประเทศ ? เคยคำนวณไหมว่า ความเสียหายอันมหาศาลที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีมูลค่าเท่าไร ?

3. ข้อมูลจาก รายงาน: การเปรียบเทียบพื้นที่ว่างเปล่า ในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่าง พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2558 โดย กองนโยบายและแผนงาน สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร (พฤษภาคม 2559)

ความจริงที่ดินทิ้งร้างเกือบทั้งประเทศอยู่ในที่ห่างไกลทั้งนั้น ไม่มีใครอยากได้ ไม่รู้จะเอามาทำอะไร ไม่มีราคา พัฒนายาก ลงทุนสูง อีกทั้งไม่มีแรงงานจะเข้าไปอยู่ แต่ที่ดินว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร ในปีพ.ศ. 2558 นั้น เหลืออยู่แค่ 75,318.75 ไร่ เท่านั้น นี่แหละน่าเป็นเป้าหมายตัวจริงเลย เพราะสามารถนำมาใช้ทำให้เกิดผลประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ใครๆก็อยากได้ ที่ดินมีน้อยแต่คนอยู่รวมกันอัดแน่นเป็นปลากระป๋อง จึงนึกสงสัยว่า ใครกันแน่ที่ต้องการกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง? นายทุน หรือ ประชาชน ?

กลุ่มงานวิจัย 2 กองนโยบายและแผนงาน สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำรายงานวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบพื้นที่ว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่าง พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2558 ฉบับล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2559 (ล่าสุด) เปรียบเทียบพื้นที่ว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่าง พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2558 ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นใด มีการเพิ่มขึ้น หรือลดลงเช่นใด และเพื่อทราบตำแหน่งการกระจายตัวของพื้นที่ว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปวิเคราะห์ กำหนดนโยบาย และการวางผังเมือง

ผลการศึกษา พบว่ากรุงเทพมหานครมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม มีการขยายตัวของเมือง อย่างรวดเร็ว จึงเป็นผลให้พื้นที่ว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานครลดลง (ระยะเวลา 9 ปี)

ดังนั้นคำถามที่ว่าที่ดินว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่? จึงมีคำตอบจากการวิจัยคือ ปัญหาลดลง ร้อยละ 27.44 ในรอบ 9 ปี สาเหตุเพราะความเจริญของบ้านเมืองเพิ่มขึ้น ตามรายงาน

“ในอดีต พ.ศ. 2549 กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ว่างเปล่าทั้งหมด 166,098,921.04 ตารางเมตร (166.10 ตารางกิโลเมตร หรือ 103,812.5 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 11 ต่อพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร แต่ในปัจจุบันมีจำนวน 120,511,643.05 (120.51 ตารางกิโลเมตร หรือ 75,318.75 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 7.7 ต่อพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร นั้นแสดงว่ามีพื้นที่ว่างเปล่าลดลง 45,587,277.99 ตารางเมตร (45.59 ตารางกิโลเมตร หรือ 28,493.75 ไร่)” คิดเป็นร้อยละ 27.44 เมื่อเทียบกับของเดิม

“จะเห็นได้ว่าในแต่ละกลุ่มเขตการวางผังมีพื้นที่ว่างเปล่าลดลง ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม เกิดอาคารบ้านเรือน หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อาคารชุด อาคารพาณิชย์ สถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน สนามฟุตบอล สนามไดร์ฟกอล์ฟ รวมถึงการขยายตัวของโกดังสินค้า หรือสถานประกอบการต่างๆ และในบางพื้นที่ยังมีการใช้พื้นที่ทำเป็นเกษตรกรรมมากขึ้น จึงเป็นผลทำให้พื้นที่ว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานครลดลง แต่อาจจะมีบางเขตอย่างเช่น เขตลาดกระบัง เขตทุ่งครุ เขตปทุมวัน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่มีพื้นที่ว่างเปล่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัย เช่น เกิดการรื้อถอน สิ่งปลูกสร้างออก บางพื้นที่ที่เคยทำเกษตรกรรมแต่ก็ปล่อยให้ รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นต้น”

4. ข้อมูลจากรายงาน การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยชุมชนท้องถิ่นในโครงการสนับสนุนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบท ปี 2558 โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เรื่องที่ดินนั้น คิดจะดูเฉพาะตัวเลขจำนวนที่ดินหรือตัวเลขจำนวนเงินเพียงมุมเดียวไม่ได้ เพราะในที่ดินนั้นมีคนอาศัยอยู่ ถ้าไม่มีคนอยู่จะเรียกว่าป่า ไม่ใช่ที่ดิน พอมีคนอยู่ ก็ต้องคิดเยอะมาก เพราะการปกครองประเทศไม่ใช่การบริหารจัดการบริษัทจำกัด ผู้ปกครองประเทศจะต้องคำนึง ความเป็นธรรม การปกครอง คุณภาพชีวิต ความสงบสุขของราษฎร ถ้าคนที่อยู่ในที่ดินไม่มีความสุข ก็จะกระทบกับความมั่นคงของชาติบ้านเมือง

มีการศึกษาวิจัยของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ออกมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 (หลังจากรายงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ สิงหาคม พ.ศ. 2558) มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวที่ดินและคน ทางเกษตรกรรมในชนบททั้งประเทศดังนี้

“ในจำนวนพื้นที่การถือครองเพื่อทำการเกษตรจำนวน 149,246,428 ไร่ มีเกษตรกรที่มีที่ดินเป็นของตนเอง 71,581,682 ไร่ และไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง 77,664,746 ไร่ ดังตาราง

ลักษณะการถือครองที่ดินแบบกระจุกตัว และการนำที่ดินไปใช้แบบผิดประเภท ได้นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำในการใช้ที่ดิน ดังนี้

1) เกิดกรณีพิพาทในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่ในเขตป่าสงวนกับชุมชนที่อาศัยกันมาเนิ่นนาน ทำให้คนที่อยู่อาศัยมาก่อนกลายเป็นผู้บุกรุก คนจนในเขตป่าถูกบังคับให้อพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่ ถูกจากัดสิทธิในการพัฒนา ถูกฟ้องร้องดาเนินคดี ถูกจับกุมคุมขัง และถูกปลูกป่าทับที่ทำกิน

2) เกิดการสูญเสียพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรม เนื่องจากมีการใช้ที่ดินผิดประเภท เช่น พื้นที่อยู่ในเขตชลประทานและเหมาะสมสาหรับการทำนาปลูกข้าว ถูกนำไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรม รีสอร์ท บ้านจัดสรร สถานที่ราชการ และสถานศึกษา เพิ่มมากขึ้น

3) เกิดปัญหาที่ดินหลุดมือและกำลังจะหลุดมือ อันเนื่องมาจากความล้มเหลวทางด้านการเกษตรเป็นเหตุให้เกิดปัญหาหนี้สินและได้ผลผลิตน้อย รวมถึงการกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มทุน โดยเฉพาะในระยะที่กำลังมีการเปิดการค้าเสรีอาเซียน

4) ที่ดินจำนวนมากถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าโดยไม่ได้นามาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า เนื่องจากพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 – 54 ระบุให้เจ้าของที่ดินเมื่อจะขายที่ดินที่มีผู้เช่าอยู่ ต้องให้สิทธิ์แก่ผู้เช่าก่อน เมื่อผู้เช่าไม่ซื้อจึงจะขายให้แก่ผู้อื่นได้ ซึ่งราคาที่ดินที่ผู้เช่าต้องการซื้อมักต่ำกว่าราคาตลาด เจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งจึงไม่ยอมให้เช่าที่ดิน และปล่อยที่ดินทิ้งไว้โดยไม่ได้ทำประโยชน์”

บทวิเคราะห์

รัฐบาลปัจจุบันมีความตั้งใจในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบตามแนวทางของสภาปฏิรูปแห่งชาติที่จัดทำเป็นรายงานสรุปตามวาระปฏิรูปต่างๆ ออกมา ซึ่งวาระปฏิรูปที่ 11 มีการเสนอมาตรการแก้ไขระยะยาวเรื่องการไม่ทำประโยชน์ในที่ดินหรือการใช้ที่ดินไม่เต็มศักยภาพ ด้วยการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยยึดหลักการสำคัญคือ “กฎหมายดังกล่าวเป็นมาตรการทางภาษี ซึ่งมีข้อกำหนดว่าเจ้าของที่ดินรายใดได้ทำประโยชน์ที่ดินของตนแล้วจะเสียภาษีให้รัฐน้อยกว่าเจ้าของที่ดินซึ่งปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่หลงทางตั้งแต่แรก เพราะเป็นเสนอมาตรการแก้ปัญหาเกินข้อเท็จจริงวิชาการ ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ เพราะเหตุว่า ข้อกำหนดที่ว่าเจ้าของที่ดินรายใดได้ทำประโยชน์ที่ดินของตนแล้วจะเสียภาษีให้รัฐน้อยกว่าเจ้าของที่ดินซึ่งปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า มาจากข้อเท็จจริงวิชาการเพื่อใช้แก้ปัญหาจากสาเหตุเดียว คือ สาเหตุจากที่ดินของนายทุน หรือ เป็นปัญหาการกระจุกตัวของกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน (มีขนาดพื้นที่ที่นายทุนรายใหญ่10 ราย ถือครองรวมไม่เกิน 1 ล้านไร่)

ส่วนอีก 4 สาเหตุของที่ดินทิ้งร้างกลับแก้ไม่ได้เลย คือ ที่ดินทิ้งร้างเพราะน้ำท่วม นาร้าง มีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนยาวนาน / ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินตื้น มีหินมากหรือมีหินโผล่ / ขาดแรงงานในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม /. ขาดน้ำในการประกอบอาชีพ ทั้งที่มีขนาดพื้นที่เกษตรกรรมทิ้งร้างรวมกว่า 7 ล้านไร่ และถ้าหากออกกฎหมายภาษีด้วยหลักการที่ว่า จะกระทบเกษตรกรที่ถือครอง เช่า จำนอง ที่ดินเกษตรกรรม ทั่วประเทศ มีขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 149 ล้านไร่ เฉพาะเกษตรกรอย่างเดียวมีผู้ได้รับผลกระทบหลายล้านคน ยังไม่นับคนชั้นกลางตามเมืองต่างๆอีกนับล้านคน เพียงเพื่อการออกกฎหมายภาษีจัดการกับผู้ถือครองที่ดินทุกประเภทเกิน 1 พันไร่ รวมบุคคลและนิติบุคคลทั่วประเทศมีเพียง 212 ราย (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 68 ง หน้า 57 วันที่ 31 พฤษภาคม 2553) ( พ.ศ. 2555 มี 837 ราย) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการหลงทางแก้ปัญหาในตอนแรก ทำให้เกิดปัญหาลูกโซ่แบบไม่รู้จบ พันกันยุ่งเหยิง กระทบคนนับล้านคนๆ สะท้อนไปถึงความอ่อนไหวทางการเมือง สังคม และความมั่นคงของประเทศ มากกว่ากฎหมายทุกฉบับโดยไม่เจตนา

ข้อวิเคราะห์ต่างๆ มีดังนี้

1. ตัวเลขความเสียหาย 127,000 ล้านบาทต่อปี *ล้าสมัย* (16 ปีก่อน)
การอ้างที่ดินทิ้งร้างทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมีมูลค่าถึง 127,000 ล้านบาทต่อปี โดยนำตัวเลขมาจากการศึกษาของมูลนิธิสถาบันที่ดินฯ เมื่อ พ.ศ. 2544 นั้น เป็นตัวเลขความเสียหายจากการศึกษาที่เก่าเกินไป ไม่ควรนำมาอ้างอิง เนื่องจากข้อเท็จจริงต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ลองดูผลการวิจัยของสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ที่ศึกษาระหว่าง พ.ศ. 2549-2558 ในช่วงระยะเวลาเพียง 9 ปี มีพื้นที่ว่างเปล่าลดลงถึง ร้อยละ 27.44 เมื่อเทียบกับของเดิม ดังนั้นถ้านับย้อนกลับถึง พ.ศ. 2544 ย่อมดีขึ้นมากกว่านี้อีก เพราะใช้ระยะยาวนานถึง 16 ปี

2. กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว *เกินข้อเท็จจริงวิชาการ*
การตั้งสมมุติฐานมาตรการแก้ปัญหาว่า “จะใช้มาตรการทางภาษีซึ่งมีข้อกำหนดว่าเจ้าของที่ดินรายใดได้ทำประโยชน์ที่ดินของตนแล้วจะเสียภาษีให้รัฐน้อยกว่าเจ้าของที่ดินซึ่งปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่ากฎหมายภาษีและสิ่งปลูกสร้างจะสามารถแก้ประเทศที่ดินรกร้างทั่วประเทศ” นั้น เป็นการตั้งสมมุติฐานมาตรการแก้ปัญหาเกินข้อเท็จจริงแน่นอน เพราะเป็นวิธีแก้ปัญหาของข้อเท็จจริงเดียว จากเรื่องที่ดินของนายทุน หรือ การกระจุกตัวของกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน ในขณะที่ข้อเท็จจริงอื่นๆอีก 4 ข้อ ที่เป็นสาเหตุของที่ดินทิ้งร้างทั่วประเทศเช่นกัน ถูกละเลย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้างว่า สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

3. กทม.วิจัยพบ คำตอบสำคัญ ที่ทำให้ ปัญหาที่ดินว่างเปล่าลดลง *แต่ไม่ใช้*
รายงานวิจัยของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัญหาที่ดินว่างเปล่า(ทิ้งร้าง) ในเขตเมืองลดลงด้วยความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีอัตราเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับความเร็วของความเจริญที่เข้าไปในพื้นที่

สิ่งที่สำนักผังเมือง กทม. ค้นพบเป็นเรื่องสำคัญและแสดงให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินทิ้งร้างในเขตเมือง คือ ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่ที่ดินทิ้งร้างในชนบทที่ห่างไกลอาจต้องใช้การเก็บภาษีคนรวยที่ถือครองที่ดิน หากย้อนกลับไปดูแนวคิดกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เห็นได้ชัดว่า ที่ดินรกร้างซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ที่ดินรกร้างในชนบทห่างไกล ไม่ใช่ที่ดินว่างเปล่าในเขตเมือง ตามข้อเท็จจริงแล้ว ที่ดินว่างเปล่าในเขตเมือง กับ ที่ดินทิ้งร้างในชนบทห่างไกล ไม่ใช่เรื่องเดียวกันแน่นอน การแก้ปัญหาจะต้องแตกต่างกัน แต่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมองว่าเหมือนกันทุกประการซึ่งไม่ถูกต้องแน่ และสาเหตุที่กฎหมายนี้ มองปัญหาที่ดินประเภทต่างๆไม่ถูกต้อง เพราะหลงทางแต่แรกเริ่ม

4. พัฒนาที่ดินทิ้งร้างต้องใช้เงินทุน *มีขาดทุน มีล่มจม*
การนำที่ดินแต่ละประเภทมาพัฒนานั้น เจ้าของที่ดินจะต้องใช้เงินลงทุน โดยที่ดินแต่ละประเภทใช้จำนวนเงินลงทุนแตกต่างกัน ที่ดินในเขตเมืองต้องจะใช้เงินลงทุนต่อหน่วยพื้นที่สูงกว่าพื้นที่เกษตรกรรมแน่นอน และที่สำคัญคือการลงทุนมีความเสี่ยงขาดทุนที่อาจตามมา ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับอาจไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน และการอยู่รอดของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญกว่าการเก็บภาษีของรัฐ ประชาชนต้องอยู่รอดให้ได้ก่อน รัฐจึงเก็บภาษีได้ เรื่องนี้สำคัญต่อความมั่นคงประเทศชาติมาก หากประชาชนไม่มีเงินลงทุนพัฒนาที่ดิน ก็ต้องถูกบีบให้ขายที่ดินออกไป หรือ เสี่ยงกู้เงินมาลงทุนในที่ดิน ถ้าขาดทุน ก็พังพินาศทั้งครอบครัว กลายเป็นปัญหาสังคม ประเทศไทยจะเกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

5. *เกาไม่ถูกที่คัน*
รายงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติระบุว่า มีพื้นที่นาร้าง ระหว่างปี พ.ศ. 2549 – 2550 จำนวน 1.19 ล้านไร่ เนื่องจากเจ้าของที่ดินไม่ยอมให้เช่าที่ดิน เกิดจากบทบัญญัติของกฎหมายควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตรงกับรายงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ระบุว่าพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53-54 ระบุให้เจ้าของที่ดินเมื่อจะขายที่ดินที่มีผู้เช่าอยู่ ต้องให้สิทธิ์แก่ผู้เช่าก่อน เมื่อผู้เช่าไม่ซื้อจึงจะขายให้แก่ผู้อื่นได้ ซึ่งราคาที่ดินที่ผู้เช่าต้องการซื้อมักต่ำกว่าราคาตลาด เจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งจึงไม่ยอมให้เช่าที่ดิน และปล่อยที่ดินทิ้งไว้โดยไม่ได้ทำประโยชน์ ดังนั้นการแก้ไขพื้นที่นาร้างจำนวน 1.19 ล้านไร่ คือ การแก้กฎหมายการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53-54 ไม่ใช่มาผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่ง เป็นคนละเรื่องกัน

6. กระทบคนหลายล้านคน *สะเทือนความมั่นคง*
มาตรา 34 ของ ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับ สนช.วาระ 1) “ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ให้จัดเก็บตามอัตราภาษี ดังต่อไปนี้ (1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละศูนย์จุดสองของฐานภาษี …….” ทำให้ชาวนา ชวนสวน เกษตรกรน้อยใหญ่ ต้องจ่ายภาษีร้อยละ 0.2 ตามราคาประเมินที่ดิน จะกระทบต่อเกษตรกร ดังต่อไปนี้
1) เกษตรกรที่ถือครองพื้นที่ดินทำการเกษตรจำนวน 149,246,428 ไร่ จะต้องจ่ายภาษี
(มีเกษตรกรที่มีที่ดินเป็นของตนเอง 71,581,682 ไร่ และไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง 77,664,746 ไร่)
2) เกษตรที่เสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินถาวรคือ เกษตรกรติดจำนองที่ดินจำนวน 29,718,796 ไร่
3) เกษตรกรที่ไม่มีที่ดิน แต่เช่าที่ดิน จำนวน 29,273,314 ไร่ จะต้องจ่ายค่าเช่าที่นาแพงขึ้น

บทสรุป

คาดว่าในระยะยาว หากมีการใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจริง จะเกิดผลกลับตาลปัตร ทำให้ปัญหาที่ดินรกร้าง รุนแรงขึ้นกว่าเดิมมาก นอกจากฐานปัญหาที่ดินทิ้งร้างในเขตชนบทจะมีเพิ่มขึ้นแล้ว จะเพิ่ม ปัญหาที่ดินรกร้างแปลงเล็กๆที่อยู่กลางใจเมืองด้วย เช่น ที่ดินสร้างตึกแถวขนาด 20 -30 ตารางวา เพราะ คนจนก็ไม่เอาเพราะไม่มีเงินสร้างบ้าน คนชั้นกลางไม่เอาเพราะที่ดินเล็กไป ไม่อยากซื้อเก็บแล้วต้องเสียภาษี และคนรวยก็ไม่เอาเลยเพราะเอาไปลงทุนไม่มีประโยชน์ต่อการลงทุน กลายเป็นที่รกร้าง แหล่งก่ออาชญากรรมในเมือง

การแก้ไขปัญหาที่ดินรกร้างที่ถูกต้อง จะต้องทำให้มีเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเข้าถึงพื้นที่รกร้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามสภาพเศรษฐกิจของประชาชน ไม่ใช่การใช้กฎหมายภาษีบีบบังคับ เพราะหากคำนึงถึงความเป็นจริงแล้วลองคิดดูว่า รัฐบาลจะบังคับให้ประชาชนที่ไม่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินว่างเปล่าได้อย่างไร? การใช้ประโยชน์ที่ดินคือการลงทุนด้วยเงินจำนวนมากเมื่อประชาชนไม่มีเงินเพียงพอ หรือลงทุนไปแล้วขาดทุนยับเยินก็จำเป็นต้องทิ้งที่ดินเพื่อไม่ต้องการรับภาระจ่ายภาษี แม้ว่าการผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจมีผลกระตุ้นการใช้ประโยชน์ที่ดินว่างเปล่าของคนรวยแค่ไม่ถึง 1 พันคน ในทางกลับกันจะซ้ำเติมเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมากให้กับคนจนและคนชั้นกลางจำนวนนับล้านๆคน ที่ต้องเผชิญความยากลำบากขึ้น จำเป็นต้องทิ้งที่ดินปล่อยให้รัฐยึดไป ทำให้ที่ดินรกร้างในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

หากมีรัฐบาลในอนาคต คิดแก้ไขกฎหมายให้สามารถขายที่ดินให้ชาวต่างชาติได้ โดยอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะปัญหาที่ดินรกร้างทวีความรุนแรงจากการที่คนไทยนับล้านๆ คนไม่ยอมถือครองที่ดินอีกแล้วเพราะกลัวภาษี ประชาชนคิดว่าใครจะเอาก็เอาไปเลย ไม่สนใจแล้ว รัฐบาลในอนาคตจึงเห็นว่า ในเมื่อคนไทยทั้งประเทศไม่ต้องการ นายทุนก็ไม่ต้องการเพราะมีมากเกินกว่าจะจัดการได้ใช้เกิดประโยชน์ได้แล้ว ก็ขายที่ดินว่างเปล่าให้ชาวต่างชาติไป ชาวต่างชาติจำนวนมากจะเข้าซื้อที่ดินในประเทศไทย และพัฒนาให้เจริญอย่างรวดเร็ว สามารถพัฒนาความเจริญในที่ดินเป็นกลุ่มๆ เป็นนิคมชาวต่างชาติ ซื้อขายเฉพาะในกลุ่มชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อ รัฐบาลพอใจ เศรษฐกิจดีรุ่งเรือง แต่สิ่งที่สูญเสียไปคือที่ดินของประเทศไทย ที่ค่อยๆ แหว่งเพราะการกัดกร่อนจากภายใน เหมือนไม้ถูกปลวกแทะ ในที่สุดประเทศไทยจะเหลือแต่เปลือกภายนอก ภายในจะเต็มไปด้วยชาวต่างชาติ คนไทยก็ค่อยกลายเป็นคนเช่าที่ดินแทน เพราะคนไทยจะขายที่ดินให้ชาวต่างชาติเพราะได้ราคาดี หากมองไปในอนาคตอีกร้อยปีข้างหน้า

ประเทศไทยที่อยู่ในสภาพภายในกลวง เพราะคนไทยถือครองที่ดินของประเทศลดลงกลายเป็นชาวต่างชาติถือครองแทน แบบนี้แล้วจะคงความเป็นชาติไทยอยู่อีกได้อย่างไร เชื่อว่าคนไทยทุกคนเข้าใจดี !

รายงานอ้างอิง
1. http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/parcy/028.pdf
2. aihr.info/ThaiHRSS2012/บทวิเคราะห์ปัญหาที่ดิน_final%2027102011.doc
3. http://cpd.bangkok.go.th:90/web2/ SAT/พื้นที่ว่าง.pdf
4. http://www.codi.or.th/attachments/article/33/report_landfix2558_131158.pdf

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image