นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากการที่ยอดส่งออกในเดือนตุลาคมลดลง 8.11% ซึ่งเป็นการติดลบสูงสุดในรอบปี ทำให้คาดว่าอีก 2 เดือนสุดท้ายจะมีมูลค่าการส่งออกเดือนละประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยอดส่งออกลดลงเดือนละ 3% ส่งผลให้ ทั้งปี 2558 ลดลง 5% เป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 6 ปี และติดลบต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 3
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ และสถานการณ์เศรษฐกิจขาลงของโลก ประกอบกับปัจจัยภายใน ได้แก่ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ได้รับการพัฒนาและปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ซึ่งต้องอาศัยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติและมอบหมายให้มีหน่วยงานรับผิดชอบ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จ
สำหรับในปี 2559 คาดว่าจะเติบโตไม่ถึง 2% ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำมาก คือติดลบต่อเนื่อง 3 ปี เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก ประเทศ 3 ประการ ได้แก่ 1.ปัญหาเศรษฐกิจและ การเงินโลก ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ยังอ่อนแอ ต้องเพิ่มมาตรการและใช้เวลาอีกพอสมควร ในการฟื้นตัว ความผันผวนของตลาดเงินจากการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) การอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมของอียูและญี่ปุ่น และอัตราแลกเปลี่ยน เงินหยวน
2.สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และ การก่อการร้าย เช่น เหตุการณ์ในกรุงปารีสส่งผลให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในยุโรปตกต่ำ ความตึงเครียดในซีเรีย ตุรกี ยูเครน ทะเลจีนใต้และอื่นๆ ที่มีแนวโน้มรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการทั่วโลก และ
3.ภัยธรรมชาติ ซึ่งยาก จะคาดการณ์และนับวันจะทวีความรุนแรง ทำให้โซ่อุปทาน หยุดชะงัก ธุรกิจเสียหาย ผลผลิตลดลง เศรษฐกิจชะลอตัว
นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศดังนี้ 1.การกำหนดและดำเนินแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการค้า โดยทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ เกษตรกร ผู้ประกอบการรายเล็ก-รายกลาง-รายใหญ่ ในอุตสาหกรรม ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ต้องเชื่อมโยงกันจนถึง ลูกค้าและผู้บริโภคในตลาดโลกอย่างมีเป้าหมายและทิศทางชัดเจน
2.การดำเนินนโยบายการค้าและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับทุกหุ้นส่วนการค้าและทุกประเทศอย่างสมดุลเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยโดยรวมไม่เน้นประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดย ชูเอกลักษณ์ความเป็นไทย ทำให้สินค้าไทย วิถีไทย คนไทย และชาติไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ไทยต้องเข้าร่วม ทั้งทีพีพีหรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้น แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) อาเซียนบวก 6 อียู และอื่นๆ
3.การยกระดับมาตรฐานของประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการทำธุรกิจให้ได้มาตรฐานสากล 4.การพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคม โดยเฉพาะด้านสังคมซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 5.การปฏิรูปกฎหมาย ระบบราชการ และรัฐวิสาหกิจ ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 6.การรักษาความมั่นคงสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
“ความสำเร็จของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ในระยะสั้นและปฏิรูปประเทศในระยะยาวจึงเป็นความหวังสำคัญของภาคการส่งออกไทยในปี 2559 ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลชุดนี้ได้พยายามทำอย่างจริงจัง คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นผลในปีหน้าขณะที่เศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นตามคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ทำให้เอกชนมีโอกาสที่จะแข่งขันในตลาดสำคัญเช่นสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี รวมไปถึงตลาดเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย รัสเซีย และแข่งขันได้ในกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมเกษตร ผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวซึ่งช่วยส่งเสริมการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม” นายนพพรกล่าว
อย่างไรก็ตาม สรท. เป็นห่วงการเข้ามาตรวจสอบ มาตรฐานท่าเรือไทยของ US GUARD ในเร็วๆ นี้ ว่ามี มาตรฐานตรงตามที่กำหนดหรือไม่ เพื่อป้องกันการก่อการร้าย การลักขอบขนส่งสินค้าหนีภาษี หรือสินค้าผิดกฎหมายเข้าไปยังประเทศสหรัฐฯ หากไทยไม่ผ่านมาตรฐานและถูกขึ้นบัญชีประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง อาจทำ ให้เรือขนส่งสินค้าที่ผ่านท่าเรือของไทยจะถูกตรวจสอบเข้มงวด 100% จากเดิมที่เป็นการสุ่มตรวจ ทำให้เรือไทย ใช้เวลาอยู่ในท่านานขึ้น ส่งผลให้มีต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น หากประเทศอื่นมีความเป็นห่วงก็อาจจะตรวจสอบเรือจากไทยเข้มงวดแบบที่สหรัฐฯตรวจสอบ ก็จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยเดือดร้อนมากขึ้น เป็นการซ้ำเติมภาพพจน์ของประเทศไทยหลังจากถูกลดอันดับความ น่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยทางการบินจาก ไอเคโอ และถูกขึ้นบัญชีเทียร์ 3 ของประเทศที่มีการค้ามนุษย์
“รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ หากพลาดถูก ลดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือถูกใบเหลือง ก็จะส่งผลกระทบ ต่อการส่งออกในวงกว้างซ้ำเติมทำให้ต่างชาติขาดความมั่นใจไทย หลังจากที่ไม่ผ่านมาตรฐานของ ไอเคโอ ไม่ผ่าน มาตรฐานของ ไอยูยู ในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย และ มาตรฐานการค้ามนุษย์จากสหรัฐฯมาแล้ว” นายนพพรกล่าว