เปิดใจ ‘พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ’ เคลียร์ชัดปมสหกรณ์ เกาเหลาคลังจริงหรือ?

กระแสข่าวการล้มของสหกรณ์เคหสถานนพเก้า ร่วมใจ จำกัด ที่สร้างความเสียหายต่อระบบสหกรณ์มูลค่ารวมกว่าพันล้านบาท คงไม่ใช่กรณีแรกที่เพิ่งเกิดขึ้นกับการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบสหกรณ์

หากแต่กรณีลักษณะใกล้เคียงกันนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมระดับประเทศในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยครั้งนั้นมีผู้เสียหายรวมกันมากกว่า 5 หมื่นราย มูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท และบางส่วนยังอยู่ระหว่างฟ้องร้องคดีจนถึงปัจจุบัน

จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า เพราะเหตุใดกรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบสหกรณ์ทั่วประเทศ จึงทำปล่อยให้กรณีนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติไม่รู้เท่าไหร่ หรืออาจเพราะกระแสข่าวเกาเหลาชามโตระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับกระทรวงคลัง จนทำให้งานสหกรณ์ไม่เดินจริงหรือไม่

“มติชน” จึงถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เคลียร์ชัดทุกประเด็นต่อคำถามที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเดินหน้าต่อไปนับจากนี้

Advertisement

 

พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ

๐กระทรวงเกษตรฯกรมส่งเสริมสหกรณ์ขัดแย้งกับกระทรวงการคลัง จนทำให้งานด้านสหกรณ์เดินหน้าไม่ได้จริงหรือไม่

ผมขอเรียนว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น กระทรวงเกษตรฯ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และอาจรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น แทบจะพูดคุยหารือร่วมกันทุกสัปดาห์ด้วยซ้ำ ในแต่ละครั้งก็พูดคุยด้วยดี

Advertisement

ประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าขัดแย้งกัน อาจมาจากการที่กระทรวงการคลัง ไปแย่งงานของกระทรวงเกษตรฯ ทำในเรื่องการออกเกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนั้น ผมก็ขอเรียนว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด การที่กระทรวงการคลังเข้ามาช่วยครั้งนี้ก็เกิดจากข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ต้องการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เข้ามาช่วยศึกษาดูว่าจะปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนอย่างไร กระทรวงการคลัง และกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ร่วมกันร่างกฎหมายขึ้นมา 1 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การตั้งหน่วยงานขึ้นมากำกับกิจการทางด้านทางการเงิน ที่จะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และธุรกิจการเงินที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank)รวมเข้าไว้ด้วยกันโดยเฉพาะ

ในเดือนสิงหาคม หลังจากร่างเสร็จก็มีเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสหกรณ์ทั่วประเทศก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ปรากฏว่า สหกรณ์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเห็นตรงกันว่า สหกรณ์ไม่ควรมีกฎหมายในการกำกับดูแลถึง 2 ฉบับ สหกรณ์อาจไม่มีเอกภาพ อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเข้าไปกำกับดูแลสหกรณ์ กระทรวงการคลัง ธปท.จะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร สหกรณ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ติดขัดอะไร แต่มองว่า ควรจะไปปรับแก้ไว้ใน พ.ร.บ.สหกรณ์ 2542 ที่มีอยู่แล้วมากกว่า

จากนั้นได้มีการรายงานเรื่องดังกล่าวไปยัง ครม. เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ก็เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพื่อลดความขัดแย้ง จึงให้กระทรวงการคลังไปศึกษาเกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์ยูเนี่ยน รวมกับ ธปท. และกรม ซึ่งก็ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นกับสหกรณ์ไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเตรียมทยอยประกาศใช้เกณฑ์กำกับในวันที่ 1 มิถุนายน ที่จะถึงนี้

๐สาระสำคัญของเกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์ยูเนี่ยน มีอะไรบ้าง

เกณฑ์กำกับจะครอบคลุมความเสี่ยงใน 4 ด้าน คือ ด้านธรรมาภิบาล ด้านเครดิต ด้านสภาพคล่อง และด้านปฏิบัติการ ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทไม่เกิน 3.5% ต่อปี สามารถทบทวนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยอิงอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากประจำ 12 เดือนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง เฉลี่ยแล้วบวกเพิ่มได้ไม่เกิน 2% การกำหนดอัตราเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วของสมาชิกไม่เกิน 6% ต่อปี และจ่ายเงินปันผลไม่เกิน 80% ของกำไรสุทธิ เพื่อป้องกันการระดมเงินจำนวนมากเข้ามาภายในสหกรณ์

การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่น้อยกว่า 6% ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของสหกรณ์ และกำหนดอัตราส่วนหนี้สินต่อหุ้นบวกทุนสำรองไม่เกิน 1.5 เท่า เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เกินตัว และเป็นการคุ้มครองสมาชิก หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถให้ความคุ้มครองหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ รวมทั้งการกำกับลูกหนี้รายใหญ่ กำหนดสหกรณ์ให้กู้กับสหกรณ์หนึ่งได้ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง และไม่เกิน 15 ล้านบาท ในกรณีที่ไม่มีหลักประกัน เพื่อไม่ให้สินเชื่อกระจุกตัวที่ลูกหนี้รายใดรายหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา อาจมีบางประเด็นที่ต้องนำไปปรับแก้เพิ่มเติม ก่อนการประกาศใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน โดยเฉพาะประเด็นเงินปันผล ที่สหกรณ์เห็นว่าไม่ควรจะจำกัดที่ 6% ต่อปี แต่ควรปล่อยให้เป็นไปตามรายได้ และผลประกอบการของสหกรณ์ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่น้อยกว่า 6% ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม สหกรณ์มองว่าเยอะเกินไป ควรเหลือ 3% ตลอดจนการกำหนดอัตราส่วนหนี้สินต่อหุ้นบวกทุนสำรองไม่เกิน 1.5 เท่า สหกรณ์มองว่า ไม่ควรนำมาเงินฝากมาคิดร่วมกับหนี้สินได้หรือไม่

๐แล้วมาตรการอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยเสริมในการกำกับดูแลและตรวจสอบสหกรณ์มีอะไรบ้าง

ต้องยอมรับว่า การตรวจสอบที่ทำในอดีต อาจจะยังไม่ได้ผลเต็มที่ เพราะยังติดปัญหาที่บุคลากรยังไม่เพียงพอ กรมจึงได้จัดทำระบบรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินทางออนไลน์ โดยรวมกับ ธปท. ซึ่งช่วงแรกอาจจะยังไม่มีระบบรายงานโดยตรง เป็นแบบโปรแกรมเอ็กเซลไปก่อน โดยกรมเตรียมเรียกสหกรณ์ทุกแห่งมาชี้แจงเรื่องการกรอกข้อมูลในวันที่ 24 มิถุนายน จากนั้นในวันที่ 30 มิถุนายน สหกรณ์ทุกแห่งจะต้องรายงานการทำธุรกรรมเป็นล็อตแรก และจะต้องรายงานในทุกๆ เดือน เพื่อส่งข้อมูลไปยังศูนย์วิเคราะห์ทางการเงินของกรม เพื่อติดตามสถานภาพทางการเงินของสหกรณ์ทั้งประเทศ หากพบว่าสหกรณ์ใดมีความผิดปกติก็จะส่งสัญญาณไปที่จังหวัดนั้น และเข้าไปตรวจสอบทันที ซึ่งผมเชื่อว่า หากระบบนี้ทำได้สำเร็จ จะทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้ทันการณ์ทันเวลาอย่างแน่นอน

รวมทั้งจะตั้งคณะกรรมการกำกับ และตรวจสอบการประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ เพื่อมาดูแลการใช้เกณฑ์กำกับในช่วงแรก โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯนั่งเป็นประธาน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รับหน้าที่เป็นเลขานุการ รวมทั้งมีผู้แทนกระทรวงคลัง ธปท. ผู้ทรงคุณทางการเงินเป็นกรรมการ เมื่อเกณฑ์กำกับที่ออกมาติดขัดปัญหาอะไร คณะกรรมการชุดนี้ก็จะทำหน้าที่ปรับแก้ไขเกณฑ์กำกับ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ก็จะเป็นกลไกในการส่งเสริมให้สหกรณ์ปฏิบัติตามเกณฑ์กำกับ

หลังจากนั้น เมื่อคณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่ไปได้ประมาณ 1 ปี ตามมติ ครม.ได้กำหนดให้จัดตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมากำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นหน่วยรูปแบบพิเศษ สังกัดภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ลักษณะคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมาย คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 45 วัน จากนั้น จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ภายใน 6 เดือน และคาดว่าจะออกเป็นกฎหมายได้ภายในปี 2561 หลังจากนั้น เมื่อจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ก็จะเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการเงินแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั้งหมด งานในการกำกับทางการเงินของกรม ก็จะโอนมายังหน่วยงานใหม่นี้ด้วย โดยกรมจะปรับบทบาทมาทำหน้าที่ส่งเสริมเพียงอย่างเดียว ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ไม่มีความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น และกรมก็ยินดีที่จะให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาช่วย เนื่องจากกรมก็ยอมรับในข้อบกพร่องที่อาจจะไม่มีความชำนาญในเรื่องทางการเงินพอ

นอกจากนี้ ในอนาคตจะประกาศใช้ พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกาและเตรียมเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่ง (สนช.) ภายในเดือนมิถุนายน โดย พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ จะเพิ่มอำนาจให้แก่นายทะเบียนสหกรณ์ ให้สามารถออกระเบียบต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์ ได้นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เพื่อให้นายทะเบียนสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และยังเพิ่มบทลงโทษ ในส่วนของคณะกรรมการสหกรณ์ที่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท จากเดิมที่กำหนดโทษปรับไว้เพียง 10,000 บาท

ซึ่งกลไกทั้งหมดที่ออกมามีหัวใจหลักเพื่อสร้างองค์กรสหกรณ์ให้ปลอดภัย ระบบภายในให้เข้มแข็ง แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องสมาชิกสหกรณ์ทุกคนที่จะคอยช่วยกันสอดส่องดูแลการทำงาน หน้าที่ของคณะกรรมการสหกรณ์ที่ท่านอยู่ ซึ่งจะเป็นการกำกับดูแลที่ตรงจุดที่สุด

และนี้คือ คำตอบทั้งหมดของนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image