‘แบงก์ชาติ’ปิดช่องซ้ำรอยต้มยำกุ้ง งัดมาตรการสกัดเงินร้อนเก็งกำไรบาท

เมื่อ 20 ปีก่อน ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 คงเป็นวันที่ทั้งนายธนาคารและนักธุรกิจทั้งหลายจดจำไม่ลืม เพราะเป็นวันที่ได้ลิ้มรสเมนูอาหารแบบไทยไทยอย่าง “ต้มยำกุ้ง” ที่เผ็ดร้อนตราตรึงความทรงจำ และยังเป็นวันที่พลิกผันชีวิตจากเศรษฐีกลายเป็นคนล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัว ด้วยการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทหลังจากที่ใช้ทุนสำรองเข้าไปดูแลจนร่อยหรอ ทำให้ค่าเงินบาทที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พุ่งกระฉูดไปถึงระดับ 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าใครคือคนผิด คนที่ต้องรับผิดชอบความเสียหาย ทั้งทรัพย์สินรวมทั้งชีวิตที่ต้องสูญเสียไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น

เชื่อว่าเรื่องราวครั้งนั้นยังแจ่มชัด และยังเป็นบทเรียนสอนใจคนทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี

ธปท.เข้าเนื้อ1.4แสนล้านสกัดเงินร้อน

มาถึงวันนี้ค่าเงินบาทก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ดี โดยเฉพาะเข้าสู่ปี 2560 ค่าเงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกระแสเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3 ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย กนง. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 16 ของการประชุม หลังการประชุมค่าเงินบาทยิ่งแข็งค่าไปอย่างรวดเร็ว แตะระดับแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 2 ปีที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

หากพิจารณาตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินทุนเหล่านี้ควรจะไหลกลับไปลงทุนในสหรัฐ แต่เหตุที่เงินเหล่านี้ยังไหลเข้ามาลงทุนในไทยรวมทั้งประเทศในภูมิภาคนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ดำเนินนโยบายและผู้ดูแลเสถียรภาพการเงิน ระบุว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว จากผลการตีความว่า กนง.คลายกังวลเรื่องค่าเงินบาท รวมทั้งผลจากปัจจัยในประเทศซึ่งเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวได้ดี นักลงทุนจึงยังให้ความสนใจลงทุนในบาท

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมา ธปท. พบว่าบางช่วงมีเงินร้อน หรือเงินที่หวังมาเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งเงินเหล่านี้ ธปท.ไม่ชอบและไม่ Welcome เพราะเกรงว่าจะเป็นการนำเงินมาพักไว้ ก่อนหน้านี้จึงได้ออกมาตรการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้น 3-6 เดือน ของ ธปท.ลงสัปดาห์ละ 10,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนเมษายนและยังคงดำเนินมาตรการนี้ต่อเนื่อง พร้อมไปกับการเข้าไปดูดซับสภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐออกจากระบบในบางช่วงเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป ซึ่งการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทก็สะท้อนออกมาในงบการเงินของ ธปท. โดยปี 2559 ที่ผ่านมา ธปท.ขาดทุนกว่า 139,000 ล้านบาท ที่เป็นผลมาจากการตีมูลค่าทางบัญชีของเงินสำรองมาอยู่ในรูปเงินบาท รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยตราสารหนี้ แต่ยืนยันว่าเป็นการขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น และการขาดทุนนี้เป็นการทำหน้าที่ของธนาคารกลางเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออกหรือนำเข้า

5 มิ.ย.แถลงปฏิรูปเกณฑ์ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ ในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ ธปท.จะมีการแถลงข่าวเรื่องการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (Foreign Exchange Regulation Reform) ที่คาดว่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือการดูแลค่าเงินบาทในระยะต่อไป ต้องติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะมีการผ่อนคลายคือเข้มงวดในจุดใดบ้าง ทั้งนักลงทุนในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ

การที่ ธปท.เข้ามาดูแลค่าเงินบาทอย่างเข้มงวดทำให้เกิดความฉงนสงสัยว่า ธปท.เห็นการเข้ามาโจมตีหรือเก็งกำไรค่าเงินบาทหรือไม่ โดยแผนการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นแผนงานที่ ธปท.มีการดำเนินอยู่แล้ว แต่อาจจะมีการเร่งรัดเพื่อดูแลค่าเงินบาทช่วงนี้ก็มีความเป็นไปได้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าประวัติศาสตร์จากปี 2540 จะมาปรากฏซ้ำรอยในรอบ 20 ปีหรือไม่

ต่อความกังวลดังกล่าว นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบัน มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรไทยสุทธิ 137,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับปี 2559 ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า เพราะทั้งปี 2559 มีเงินทุนไหลเข้ามากว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวล เพราะเห็นการเข้ามาซื้อทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวในสัดส่วนเท่าๆ กัน ทั้งนี้ การที่มีเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวเป็นผลดี เพราะภาครัฐยังมีความต้องการที่จะใช้เงินทุนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการลงทุนต่างๆ ซึ่งเมื่อออกพันธบัตรแล้วมีความต้องการซื้อ ดีกว่าที่ออกมาแล้วไม่มีคนซื้อ

หากเทียบปริมาณเงินไหลเข้าของไทยกับประเทศในภูมิภาค ช่วงเวลาเดียวกัน จะพบว่ามีเงินทุนไหลเข้าในอินโดนีเซียถึง 200,000 ล้านบาท เกาหลีใต้เข้ามากว่า 600,000 ล้านบาท

‘กรุงไทย’ไม่กังวลเงินไหลออกไม่มาก

ส่วนกรณีที่อาจจะมีความกังวลว่าเป็นเงินร้อนที่ไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไรหรือไม่นั้น มองว่าในภาวะที่สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ยังมีการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (มาตรการคิวอี) ซึ่งปริมาณเงินมาตรการคิวอีของทั้งอียูและญี่ปุ่นรวมกันใกล้เคียงกับช่วงที่สหรัฐมีการทำมาตรการคิวอี ระหว่างปี 2554-2556

ช่วงเวลานั้นส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรไทยกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 890,000 ล้านบาท ซึ่งเงินทุนที่ไหลเข้ามาเหล่านั้นได้ทยอยไหลออกไปแล้ว แต่ยังคงเหลือบางส่วนและมีเงินทุนที่ไหลเข้าช่วงนี้มาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าหากเงินทุนเหล่านี้จะไหลออกรวดเร็ว ปัจจัยจะมาจากการที่มีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนอย่างรุนแรงทางด้านการเมือง หรือในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว รวมทั้งอยู่ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับสูง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้น การเข้ามาซื้อพันธบัตรมีโอกาสที่จะขาดทุน จึงจะมีการเทขาย แต่จากการประเมินทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าว ณ ปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นน้อยมาก จึงยังไม่เชื่อว่าจะมีเงินไหลออกจำนวนมากในช่วงเวลานี้

“เงินทุนที่ไหลเข้ามาในช่วงนี้ ประเมินว่ามีทั้งเก็งกำไรค่าเงินและเข้ามาลงทุนยาว เพราะมองว่าไทยมีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งเศรษฐกิจฟื้นตัวและส่งออกรีบาวน์ ขณะนี้นักลงทุนมองหาการลงทุนที่ปลอดภัยและดูผลตอบแทน” นายจิติพลระบุ

นายจิติพลกล่าวถึงมาตรการดูแลค่าเงินบาทและการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท.เพื่อลดนำเงินร้อนเข้ามาเก็งกำไรนั้น มองว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าไม่ชอบเงินร้อนที่ไหลเข้ามา เป็นอีกเครื่องมือการสื่อสารหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมา กนง. ไม่ได้ใช้การสื่อสารโดยดอกเบี้ย เพราะไม่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมานาน ด้านเงินทุนที่ไหลเข้าตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปี มีเงินทุนเข้ามาสุทธิ 12,000 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับเงินทุนที่ไหลเข้าไปยังจีนกว่า 600,000 ล้านบาท ไต้หวัน 290,000 ล้านบาท และเกาหลีใต้ 250,000 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจว่า การส่งออกจีนฟื้นตัวดี และคาดว่าจะไม่เห็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ส่งผลดีต่อจีนและยังมีอานิสงส์ต่อประเทศคู่ค้าของจีนด้วย

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ทิศทางค่าเงินบาท ผลกระทบมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ต้องติดตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งปัจจัยการเมืองโลก โดยประเมินกรอบค่าเงินบาทไว้ที่สิ้นปี 2560 ไว้ที่ 34.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ห่วงผู้ประกอบการเมินป้องกันความเสี่ยง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ต้องติดตามมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายของ ธปท.ที่จะออกมาว่าจะเข้ามาควบคุมดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อสร้างสมดุลทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงหลังการประชุม กนง. ค่าเงินบาทจะแข็งค่าไปเกือบต่ำกว่าระดับ 34 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ มองว่าดอลลาร์สหรัฐยังมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นได้โดยต้องติดตามการประชุมของเฟดในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งนอกจากการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดแล้วยังต้องติดตามการแถลงแนวทางการลดการถือครองสินทรัพย์ของเฟด หลังจากที่หยุดมาตรการคิวอีว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลกได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ธปท. และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.ย้ำอยู่เสมอคือ การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญ และควรทำเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ประกอบการที่มีการทำธุรกรรมกับต่างประเทศทั้งผู้นำเข้าและส่งออก เพราะความผันผวนมีแนวโน้มที่จะผันผวนรุนแรง และปัจจัยที่จะมีผลกระทบมาจากปัจจัยภายนอก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการเมืองและนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งขณะนี้ยังน่ากังวลใจที่ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกกว่า 60% ไม่ป้องกันความเสี่ยง

“การทำประกันความเสี่ยงก็เหมือนการทำประกันรถยนต์ กรณีที่ขับอยู่บนถนนคันเดียว ความจำเป็นที่จะต้องทำประกันอาจจะน้อย แต่หากขับรถบนถนนที่มีรถจำนวนมาก ขับแซงกันไปแซงกันมาก็ทำให้ความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นจึงเกิดเป็นต้นทุนที่จำเป็นต้องมีการทำประกัน เช่นเดียวกับการค้าขายกับตลาดต่างประเทศพฤติกรรมการป้องกันความเสี่ยงเป็นทักษะสำคัญของธุรกิจ” นายวิรไทกล่าว

ด้วยสภาพคล่องที่ล้นในตลาดการเงินโลก เงินร้อนเหล่านี้ก็ยังมีโอกาสที่จะไหลทะลักเข้าสู่ตลาดเงินไทยและรอจังหวะที่ได้ผลตอบแทนที่พึงใจก่อนจะไหลออกไป ต้องติดตามว่ามาตรการที่ ธปท. ออกมาจะรับมือและต้านกระแสคลื่นลูกนี้ได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image