กรมชลฯทุ่มกว่า 80,000ล้านพัฒนาระบบน้ำรับโครงการอีอีซี

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้วางแผนในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) ที่ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออกคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆปี คาดว่าภายในปี 2580 หรืออีก 20ปี จะมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)ต่อปี จึงต้องวางแผนจัดหาน้ำให้เพียงพอกับความต้องการในทุกภาคส่วน โดยมีการตั้งงบจัดหาแหล่งน้ำระยะ 20 ปีไว้ที่ 80,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 แผนงานประกอบด้วย 1.ระยะ 5 ปีแรก จะเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ 6 แห่ง เพื่อให้งานให้เต็มศักยภาพ คือ อ่างฯคลองใหญ่ อ่างฯหนองปลาไหล อ่างฯคลองสียัด อ่างฯหนองค้อ อ่างฯบ้านบึง และ อ่างฯมาบประชัน เพื่อให้กักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 84 ล้าน ลบ.ม. ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,190 ล้านบาท นอกจากนี้จะสร้างอ่างฯแห่งใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนด 4 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองพะวาใหญ่ อ่างฯคลองหางแมว อ่างฯคลองประแกด และอ่างฯคลองวังโตนด มีความจุรวมกัน 308.5 ล้าน ลบ.ม.พร้อมทั้งจะมีการสร้างท่อผันน้ำจากคลองวังโตนดมายังอ่างฯประแสร์ จ.ระยอง โดยจะผันน้ำส่วนเกินในฤดูฝนมาไว้ที่อ่างฯประแสร์ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม 60 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และสามารถเพิ่มเป็น 100 ล้านลบ.ม.ต่อปีได้ในอนาคต คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 2,493 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมอ่างฯคลองประแกดที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง

2.ในระยะ10 ข้างหน้า กรมฯยังมีแผนการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านที่ดำเนินการร่วมกับการพัฒนาด้านพลังงาน โดยผันจากเขื่อนสตึงนัม ประเทศกัมพูชา มายังอ่างฯประแสร์ เพื่อนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC จำนวน 300 ล้านลบ.ม.ต่อปี คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนจากการประเมินเบื้องต้นรวมทั้งหมดประมาณ 74,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับความต้องการในอีก 20 ปีข้างหน้าได้ 3.ในระยะเร่งด่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ในบางพื้นที่ กรมฯ ได้นำระบบสูบน้ำกลับมาใช้ โดยได้ทำการการปรับปรุงระบบสูบน้ำท้ายอ่างฯหนองปลาไหลกลับไปเก็บไว้ในอ่างฯ ได้ปีละ 5 ล้าน ลบ.ม. และการสูบน้ำจากคลองสะพานไปเก็บไว้ในอ่างฯ ประแสร์ปีละ 10 ล้านลบ.ม. ใช้วงเงิน 710 ล้านบาท คาดว่าสามารถดำเนินการได้ในปี 2561 และ 4.การแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กรมฯ ได้ดำเนินการป้องกันแก้ไขควบคู่กับการวางแผนจัดหาแหล่งน้ำ เพราะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่าจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมือง จ.ระยอง และที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรีที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม สามารถแก้ปัญหาได้โดย การสร้างประตูระบายน้ำ สร้างระบบสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพ ท่อระบายน้ำหลาก เป็นต้น ใช้เงินลงทุน 2,225 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปี 2561

“ปัจจุบันภาคตะวันออกทั้งภูมิภาค มีแหล่งกักเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่ กลางและเล็ก กักเก็บน้ำได้รวมกัน ประมาณ 2,337 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นเพียง 9.5% ของปริมาณน้ำท่าในธรรมชาติเท่านั้น ขณะที่มีความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนประมาณ 19,585 ล้านลบ.ม. ต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC คือ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และจ.ระยอง ซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ”นายสมเกียรติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image