อลหม่านตีความ’กม.ส.ป.ก.’จากวินด์ฟาร์มถึงขุดเจาะสำรวจ สั่นคลอนความเชื่อมั่นลงทุน

ในขณะที่รัฐบาลพยายามทุกทางที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและดึงการลงทุนจากภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในประเทศให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการโรดโชว์ การพยายามแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนนั้น

๐7 บ.ปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก.หยุดผลิตชั่วคราว
ความพยายามดังกล่าวดูท่าจะมีอุปสรรคเกิดขึ้น และส่อว่าจะเป็นระเบิดเวลาในอนาคต นั่นคือ กรณีที่ 7 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจขุดเจาะปิโตรเลียม ต้องหยุดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เพราะดำเนินธุรกิจอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

โดยเรื่องนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจ้งต่อผู้ประกอบการถึงกรณีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น คำพิพากษาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก. รวม 7 บริษัท ดังนี้ 1.บ.ปตท.สผ.สยาม จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร 2.บ.ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย 3.บ.อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ 4.บ.พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี 5.บ.อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ 6.บ.ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ 7.บ.ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์

๐รัฐสูญรายได้กระทบมั่นคงพลังงานเอกชนขู่ฟ้อง
ผลจากเรื่องดังกล่าวกระทบโดยตรงต่อปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศ ประเมินความเสียหายเบื้องต้น คือ น้ำมันดิบลดลง 16,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติลดลง 110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลวลดลง 100 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 47 ล้านบาทต่อวัน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กว่า 26 ล้านบาทต่อวัน และค่าภาคหลวงที่จะกระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงไปกว่า 3.55 ล้านบาทต่อวัน

Advertisement

และหากประเมินความเสียหายในภาพรวมพบว่า กระทบต่อการจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ขนส่งน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน เลวร้ายที่สุดคือ กระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเพราะแม้ว่าการผลิตจะไม่มาก แต่เมื่อหยุดทำการผลิตก็ทำให้ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ภายในประเทศลดลงส่วนหนึ่ง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ขณะที่ภาคเอกชนที่รู้สึกว่าทำธุรกิจตามขั้นตอนกฎหมายทุกอย่าง เมื่อเจอเหตุการณ์นี้ มีเสียงฮึ่มๆ ว่าจะฟ้องร้องรัฐ!!!

๐รมว.พลังงานเร่งหาทางออก
เรื่องนี้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รู้สึกกังวลไม่น้อย เพราะตามข้อกฎหมายแล้วเอกชนดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายกระทรวงพลังงานทุกขั้นตอน แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเกิดจากข้อกฎหมายของกระทรวงอื่น พร้อมบอกว่าจะเร่งหาทางออกภายใน 1-2 วัน โดยอยู่ระหว่างหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขโดยจะใช้กฎหมายปกติ ก่อนจะพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 หรือไม่

๐กรณีตัวอย่างวินด์ฟาร์ม
ปัญหานี้เคยสร้างความวุ่นวายกับโรงไฟฟ้าพลังงานลม (วินด์ฟาร์ม) มาแล้วเมื่อช่วงต้นปี โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 39 ไร่ เพราะเห็นว่า กิจการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าของ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ไม่เอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าราษฎรในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากกิจการดังกล่าวโดยตรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินกิจการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้ง 16 บริษัท 17 โครงการ ว่าจะถูกเพิกถอนการอนุญาตด้วยหรือไม่

ในครั้งนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้ ส.ป.ก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงของบริษัทวินด์ฟาร์มทั้งหมดจนได้ข้อสรุปว่าสามารถดำเนินการได้เพราะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งในรูปของค่าเช่าพื้นที่ การดูแลชุมชนโดยรอบ การให้ทุนการศึกษา การดูแลสาธารณประโยชน์อื่นๆ ทำให้ปัญหาจบลงด้วยดี แต่ล่าสุดก็สร้างปัญหาอีกครั้งกับธุรกิจปิโตรเลียม

แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่ก็สร้างความสับสนอลหม่าน และความเชื่อมั่นอย่างเลี่ยงไม่ได้

๐ส.ป.ก.เห็นต่าง 7 บริษัทไม่ต้องปิดชั่วคราว
ระหว่างที่เอกชนกุมขมับ เลขาธิการ ส.ป.ก.ออกมาระบุว่า ส.ป.ก.ไม่เคยมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการหยุดผลิตปิโตรเลียมแต่อย่างใด เพราะคำสั่งดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ครอบคลุมเฉพาะคำขอทำปิโตรเลียมที่เพิ่งยื่นเข้ามา หรือกำลังจะขอดำเนินการขุดเจาะเท่านั้น แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนจะให้ ส.ป.ก.จังหวัดลงพื้นที่สำรวจว่ามีการทำปิโตรเลียมที่ไหนบ้าง หรือยกเลิกไปแล้วและให้รายงานกลับมาภายในวันที่ 15 มิถุนายน

๐ประสานเสียงใช้ ม.44 แก้-หวั่นกระทบสัมปทานครั้งที่ 21
นอกจากนี้ ส.ป.ก. กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกฤษฎีกา อยู่ระหว่างหารือถึงแนวทางเเก้ไขปัญหาร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ 1.เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 44 หรือ 2.ให้มีการแก้ไขกฎหมายกรณีเร่งด่วน ตาม พ.ร.บ.ส.ป.ก. มาตรา 19 (12) ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) มีอำนาจแก้ไขกฎระเบียบเพิ่มเติมได้เป็นรายกรณี หากเห็นว่ากิจการที่ทำในพื้นที่ ส.ป.ก.นอกเหนือจากการเกษตรเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อาทิ แร่ธาตุ พลังงาน แต่ต้องมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่กรมเชื้อเพลิงก็ได้เสนอ 2 ทางออกให้ พล.อ.อนันตพรเลือก คือ 1.ให้เสนอรายงานปัญหากับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะดำเนินการอย่างไร 2.ให้คณะกรรมการบริหารแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (บยศ.) ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นผู้ตัดสิน

ส่วนคำสั่ง ม.44 นั้นกรมเชื้อเพลิงระบุว่า เป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะนำมาพิจารณา พร้อมยอมรับว่าคำสั่งศาลไม่ได้ระบุให้กรมสั่งให้ผู้ผลิตปิโตรเลียม 7 รายหยุดผลิตแต่ที่ต้องสั่งก็เพื่อไม่ให้มีปัญหาภายหลังเพราะไม่มีระเบียบอะไรมารองรับ

ส่วนทางออกจะเป็นเช่นไร สัปดาห์นี้คงมีความชัดเจน!!

แต่ผลกระทบหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ความเชื่อมั่น เพราะจากข้อปัญหาเรื่องการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. อาจกระทบต่อการเปิดสำรวจและประมูลปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 ที่ส่วนใหญ่การสำรวจจะอยู่ในพื้นที่บนบก

๐เอกชนผิดหวังกลายสภาพเป็นผู้ร้าย
ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า รัฐบาลควรใช้เครื่องมือเข้าแก้ปัญหา อาทิ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่ทับซ้อนกัน บางกรณีมีการตีความข้อกฎหมายต่างกัน จนเกิดผลกระทบต่อนักลงทุนภายหลัง ซึ่งเอกชนกำลังติดตามอยู่ แต่การใช้มาตรา 44 ก็ต้องพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน ดูว่ากระทบต่อสิทธิชุมชนหรือไม่

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท.ฝากถึงรัฐบาลว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการลงทุนด้านปิโตรเลียม โรงไฟฟ้า ทำให้ผู้ประกอบการทั้งอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอื่นเกิดความกังวล เพราะก่อนจะลงทุนทุกโครงการล้วนต้องขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เมื่อวานเป็นนักธุรกิจแต่วันนี้เป็นผู้ร้าย เพราะปัญหาลักษณะนี้อาจเกิดกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่อีอีซี ที่ตอนนี้เอกชนก็ยังติดตามการจัดทำผังเมืองอยู่ ดังนั้น อยากให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนรับความเสียหายเอง ไม่เช่นนั้นนักลงทุนจะไม่มีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย

เห็นปัญหาแล้ว คงต้องรอดูว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาให้จบแบบถาวร หรือจะปล่อยให้ปัญหาความลักลั่นทางกฎหมาย ตีความต่างกัน เกาะกินกระทบการลงทุนไปเรื่อยๆ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image