“สมคิด” พร้อมดันไทยเป็นฮับฟินเทค-อุตสาหกรรม ชี้รัฐบาลที่ดีไม่ใช่ตามใจปชช. แต่ทำสิ่งดีกับประเทศ

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างกล่าวปาฐกถาเปิดงานงาน “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” โดยมีเสวนาหัวข้อ “ฟินเทค นวัตกรรมการเงิน เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่า ประเด็นเรื่อง 4.0 เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้ประเทศญี่ปุ่นได้นำร่อง 4.0 และกำลังก้าวเข้าสู่ 5.0 ไปแล้ว นอกจากนี้ ประเทศสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็เริ่มขยับแล้ว ซึ่งประเทศไทยเพิ่งเริ่มขยับเมื่อปีเศษที่ผ่านมาขณะที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยพูดถึง การเข้าสู่ 4.0 ได้นั้นจะต้องเพิ่มมูลค่าให้สินค้า เพิ่มนวัตกรรมใหม่ สร้างองค์ความรู้จากจุดนั้นก็จึงเกิดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่หรือนิวเอสเคิร์ฟต้องการผู้เล่นใหม่ในตลาดหรือสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาร่วมพัฒนานวัตกรรมใหม่ สร้างแรงหนุนใหม่ให้ระบบเศรษฐกิจให้มีมูลค่ามากขึ้น ผลักให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) โตได้แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นยากมาก เหมือนหูซ้ายทะลุหูขวาพอเดินหน้าจริงๆ แล้วกลับคิดไม่ออกทำไม่เป็น แต่สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นให้ได้

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการพัฒนาดังกล่าวต้องไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมจริง(เรียลเซคเตอร์)เท่านั้น การพัฒนาจะไม่สำเร็จได้หากภาคการเงินไม่พัฒนาคู่ขนานไปด้วย หากภาคการเงินพัฒนาได้ดี ได้รับการดูแลที่ดีจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเรียลเซคเตอร์โตไปด้วย แต่ถ้าภาคการเงินไม่เดินคู่กัน ไม่แมชกับภาคอุตสาหกรรมจริงก็จะเกิดหายนะแบบต้มยำกุ้ง ดังนั้น ยุคแห่งดิจิตอลกำลังแผ่เข้าไปทางการเงิน เพียงแต่ในอดีตการเปลี่ยนแปลงการเงินเกิดขึ้นช้า เพราะมีธนาคารพาณิชย์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้บริการทุกอย่างในเครือข่ายทางการเงิน ธปท.ดูแลเรื่องเสถียรภาพ การเงินที่เหมาะสม แต่สิ่งเหล่านี้มีจุดอ่อนหลายอย่าง แต่พอดิจิทัลเกิดขึ้นมาก็มีคนนำเทคโนโลยีบวกการเงิน กลายเป็นฟินเทค ที่เป็นนวัตกรรมทางความคิด คนรุ่นใหม่เห็นจุดอ่อนของภาคการเงินและบริการทางการเงิน จึงเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนในขณะนี้มีทั้งหมด 3 ช่องทางคือ

Advertisement

1.โทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่(โมบายโฟน) ทำให้เกิดบริการใหม่ เดความสะดวกสบาย ลดต้นทุน ความถี่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจนับไม่ถ้วน

2.การเชื่อมโยงข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า ทำให้ผู้ประกอบการทราบข้อมูลของลูกค้าแม้จะอยู่ในที่ห่างไกล หรือเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ผู้ประกอบกการสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาตัดสินใจเพื่อปล่อยสินเชื่อให้รายย่อยได้ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในธุรกิจของอะลีบาบา จุดแข็งของผู้ประกอบการที่ใช้บิ๊กดาต้าคือ มีข้อมูลที่ธนาคารไม่มีโดยเก็บข้อมูลจากการใช้โทรศัพท์มือถือ พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านอินเตอร์เน็ตตัวนี้จะแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีประโยชน์มหาศาล เพราะไม่มีธนาคารใดที่จะกล้าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ไม่มีข้อมูล เนื่องจากไม่มีพนักงานเพียงพอที่จะรู้จักผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กได้มากขนาดนั้น ซึ่งฟินเทคสามารถเก็บข้อมูล ทะลุข้อจำกัดต่างๆ ให้บริการในสิ่งที่ผู้ประกอบการด้านการเงินขนาดใหญ่ไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม

3.บล็อกเชน และเงินดิจิทัลเช่น บิทคอยน์ เป็นสิ่งที่มาแรงมากสำหรับคนรุ่นใหม่และมีเสียงเรียกร้องให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศทำบิทคอยน์ขึ้นมาเองด้วย ดังนั้น โดนสรุปคือ “ฟินเทค” เป็นสิ่งที่เร็ว แรง และเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอ่านคิดค้นขึ้นมา เหมือนกับสตาร์ทอัพในเรียลเซคเตอร์แต่เร็วกว่าเพราะอยู่บนพื้นฐานของอินเตอร์เน็ตหากไม่ดำเนินการก็ไม่สามารถแข่งกับประเทศอื่นได้ และต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินให้ทันต่อการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมจริง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าผู้ประกอบการธนาคารขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน บางรายเข้ามาโดยไม่มีทางเลือกเพราะนี่คืออนาคตใหม่ของภาคการเงินไทยหากไม่เข้ามาร่วมด้วยอนาคตก็ลำบากแน่นอน ขณะที่ระบบนิเวศอื่นทั้งด้านการเงินการคลัง ผู้กำกับดูแลก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก็เข้าไปร่วมว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ที่ดีที่สุด ทั้งการปกป้องความเสี่ยง การสนับสนุนการพัฒนา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็เป็นส่วนที่สำคัญมากเพราะเดิมเป็นผู้กำกับดูแล แต่อนาคตต้องคอยให้การสนับสนุนฟินเทคให้เข้ามาทดสอบ และต้องดูว่าการควบคุมดูแลอย่างไรให้เหมาะสม พอดี พอสมควรสำหรับการพัฒนาและการป้องกันความเสี่ยง หากจะมาบล็อกอะไรที่เป็นเสี่ยงทั้งหมดอนาคตก็เกิดขึ้นไม่ได้

ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนยังไม่รู้จักฟินเทคดีพอให้ทุกฝ่ายทั้งคลัง ธปท. ผู้ประกอบการภาคธนาคารเข้ามาร่วม ซึ่งในอนาคตอาจจะเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นผู้คิดค้นมาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยจะเป็นเรื่องที่ดี กำลังคนเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการพัฒนาฟินเทคเห็นได้จากธปท.มีทีมงานเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ งานวันนี้จึงเป็นเรื่องที่ดีมากที่จัดขึ้นมา เราต้องช่วยกันสื่อให้ก้าวทันโลก เพราะในอนาคตเราจะไม่ใช่แค่เป็นฟินเทคในประเทศแต่เราจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งด้านเรียลเซคเตอร์และภาคของฟินเทคของภูมิภาคซีแอลเอ็มวีที

“การสื่อข่าวที่ดีคือสื่อถึงอนาคตไม่ใช่สื่อแต่เรื่องว่าวันนี้มีใครตาย อยากให้มติชนเป็นหนึ่งในสื่อที่ทำให้ประเทศมีแต่เรื่องดีๆ อะไรที่เป็นข่าวที่ตามใจสังคมขอความกรุณาไม่ต้องนำไปลง รัฐบาลที่ดีไม่ใช่รัฐบาลที่มาตามใจประชาชน แต่เป็นรัฐบาลที่รู้ว่าอะไรดีกับประเทศอะไรที่ดีกับประชาชนแล้วทำสิ่งนั้นนี่คือหน้าที่ และสื่อก็เหมือนๆ กัน” นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ นายสมคิด กล่าวว่า สิ่งที่ตนจะมาพูดในวันนี้ คือ เรื่องที่ตนได้ไปเยือนญี่ปุ่น และเพิ่งกลับมาได้ไม่กี่วันนี้ โดยการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทางญี่ปุ่น ซึ่งแบ่งได้ 3 เรื่องหลัก คือ

1.ไทยได้ตอกย้ำถึงความต้องการที่จะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค หรือ ซีเอลเอ็มวีที โดยถ้าหากไทยต้องการเป็นศูนย์กลาง ก็ต้องให้แต่ละประเทศร่วมสนับสนุนกับไทยด้วย รัฐบาลจึงมีแผนที่จะจัดทำแผนแม่บทระยะยาวกับประเทศในภูมิภาค อาทิ แผนแม่บทไทย – พม่า แผนแม่บทไทย – กัมพูชา และแผนแม่บทไทย – ลาว รวมทั้งให้ยักษ์ใหญ่อย่างญี่ปุ่นเข้ามาสนับสนุนแผนดังกล่าว จะสร้างความได้เปรียบของประเทศไทยในระยะยาวอีกทาง

2.การเดินทางไปครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) ได้ลงนามร่วมกับประเทศไทย ในเรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญมากของประเทศไทย และเป็นการชี้นำให้ธุรกิจแลผู้ประกอบการของญี่ปุ่น เห็นว่าประเทศไทยจะมีโครงการอะไร และเมติจะเข้ามาร่วมช่วยเหลืออะไร รวมทั้งเมติเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเอสเอ็มอีไทย

“รัฐบาลใช้เวลาครึ่งปี ในการออกนโยบายอีอีซี ซึ่ง ปกติแล้ว การจะทำโครงการใหญ่ขนาดนี้ ไม่ใช่ของง่าย การที่รัฐบาลได้ร่วมลงนามกับเมติ จึงเท่ากับการประทับตราว่าเป็น โครงการดังกล่าวเป็นของจริง ไม่ใช่โครงการที่ลอยอยู่บนฟ้า” นายสมคิดกล่าว

3.ท่ามกลางความแข่งขันที่รุนแรงของภูมิภาค ทำให้ขณะนี้ยังมีนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมาก กำลังชั่งใจอยู่ จะเลือกลงทุนที่ไทย อินโดนีเซีย หรือ เวียดนาม เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองธุรกิจไทย – ญี่ปุ่น ในโอกาสที่ครบรอบความสัมพันธ์ 130 ปี เพื่อต้องการสื่อภาพความยิ่งใหญ่และความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศไปยังผู้ประกอบญี่ปุ่น ให้หันมายังไทย ซึ่งทางเมติ ยืนยันแล้วว่าในวันที่ 11 กันยายน 2560 เตรียมที่จะนำคณะมายังประเทศไทย

นายสมคิด กล่าวว่า ในวันนี้ ญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าสู่การเป็นสังคม 5.0 โดยจะใช้เทคโนโลยีของอินเตอร์เน็ต หรือ อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ การใช้บิ๊กดาต้ามาเปลี่ยนสังคม ซึ่งต่อไปจากนี้ทั้งสังคมจะถูกเชื่อมโยงด้วยข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำไปวิเคราะห์แก้ไขปัญหาต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด อาทิ การวิเคราะห์กระบวนรักษาทางแพทย์ เพื่อรักษาคนไข้ได้ตรงจุด การวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ถนน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน เมื่อเป็นเช่นนี้ ตนจึงเชื่อว่า อนาคตข้างหน้า บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย จะถูกเปลี่ยนเป็น 4.0 อย่างแน่นอน

“การเข้าสู่สังคม 5.0 ของญี่ปุ่น มีหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ คือ การจูงใจให้คนหนุ่มสาวจากทั่วโลกไปทำงานที่ญี่ปุ่น เรียนภาษาญี่ปุ่น โดยสามารถออกเป็นกรีนการ์ดได้เมื่อทำงานครบ 1 ปี สวนทางกับประเทศไทยที่ต้องการคน สังคมเปิด แต่หัวปิด อะไรที่คิดว่าจะแย่งงานวิชาชีพไม่ทำ ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่มากที่ต้องแก้ไข” นายสมคิด กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image