คลังชี้รัฐบาลเร่งวางรากฐานไทยแลนด์ 4.0 พร้อมดูแลคนจนให้ก้าวไปด้วยกัน ลั่นไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ การกำกับดูแลการเงินการคลังในยุค 4.0 ในงาน ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0 ว่า รู้สึกยินดีที่มติชนจัดงานนี้ขึ้นมา เรื่องนี้ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ซึ่งในยุค 4.0 คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับการกำกับดูแล 4.0 มีคำถามว่าจะเปลี่ยนจากปกติไหม คำตอบคือพื้นฐานยังเหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนคือวิธีการข้างในจะใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในการกำกับดูแลในยุค 4.0 แบ่งเป็น 5 เรื่องสำคัญ คือ 1.เรื่องความมั่นคงด้านการเงินการคลัง 2. การเจริญเติบโต ทุกคนมองว่าช่วยแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เช่น ประชาชนยากจน เศรษฐกิจไม่โต ต้องมีการกระจายรายได้ ถ้าไม่เจริญเติบโตมีปัญหาแน่ 3. ประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้ประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น 4 .การลดความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรเพื่อให้ลดความเหลื่อมล้ำลงได้ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่รัฐบาลต้องทำ 5. ในเรื่องรายได้รัฐบาล เรื่องภาษีจะเก็บเท่าไหร่ เก็บอย่างไร ถือเป็นหัวใจว่าต้องทำให้ได้

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ขอเริ่มจาก เรื่องความมั่นคง สิ่งที่รัฐบาลทำ พยายามมีกฎหมายวินัยทางการเงินการคลังออกมา ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญด้วย กฎหมายอันนี้มีขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยใช้จ่ายเกินไป ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ตัวกฎหมาย มีข้อกำหนดว่าการกู้เงินต้องกู้แค่ไหน กู้ได้เท่าไหร่ ตรงนี้จะช่วยทำให้เราก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ยกตัวอย่างเงินกู้ของประเทศต้องทำให้หนี้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี จาก ตอนนี้ 42% ของจีดีพี โดยส่ิงที่รัฐบาลกำลังทำขณะนี้คาดว่าทำให้สัดส่วนหนี้สูงสุดไม่เกิน 48-49% ต่อจีดีพี ในอีก 4-5 ปี ข้างหน้า โดยการขาดดุลงบประมาณจะไม่เกินปีละ 3% ของจีดีพี และในการจัดทำงบประมาณต้องมีเงินลงทุนเพื่อให้ประเทศพัฒนา 20-25% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งกำหนดมาเป็นตัวเลขอย่างน้อยเพื่อเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศจะมั่นคงไทยเคยเจอปัญหาต้มยำกุ้งทำให้มีบทเรียนต้องระมัดระวังมากขึ้น

“ทุกวันนี้ไทยยังมีความมั่นคงดี มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ การกู้ยังทำได้อีกมาก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งมั่นคงทำมาได้ตั้งแต่ไทยแลนด์ 1.0 ดังนั้นไทยแลนด์ 4.0 ยังให้ความสำคัญมั่นคงเป็นอันดับแรก” นายอภิศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องที่ 2 การเจริญเติบโต ถามว่าทำอย่างไร โดยขอเทียบกับวันที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ ช่วงน้ันไทยอยู่ในช่วงขาลง หลายอุตสาหกรรมสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จึงทำให้รัฐบาลมีแนวคิดเอสเคิร์ฟ ตอนที่เข้ามาอยู่ในช่วงปลายเอสเคิร์ฟ ซึ่งบางทฤษฎีบอกว่าอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้นต้องสร้างเอสเคิร์ฟตัวใหม่ขึ้นมา โดยในเรื่องฟินเทคเป็นเอสเคิร์ฟ ตัวใหม่ที่ภาคการเงินต้องทำ เพราะในอดีตไม่มีใครทำอาจเพราะไม่มีใครคิดถึง อาจเป็นเพราะสถานการณ์ภายในประเทศมัวแต่ทะเลาะกันจึงทำไม่ได้ เมื่อมาถึงจุดของรัฐบาลชุดนี้เข้ามา จึงคิดว่าต้องพยายามพลักดันเอสเคิร์ฟ ตัวใหม่ เพื่อให้ประเทศโตต่อไปได้

“รัฐบาลจึงมีข้อสรุปอุตสาหกรรม 10 เอสเคิร์ฟ คือ 5 เก่า 5 ใหม่ โดยของเก่ามาจากอะไรที่เราเก่ง ต้องผลักดันให้ก้าวข้ามไปอีก เช่นรถยนต์ ไทยต้องก้าวข้ามจากโรงประกอบไปสู่สิ่งที่ต้องพัฒนา เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถสมัยใหม่ รัฐจึงมีนโยบายส่งเสริมรถไฟฟ้า ส่วนอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟใหม่ 5 อันดูตามเทรนด์ของโลกเอาสิ่งที่โลกต้องการ พอรัฐบาลกำหนดขึ้นมา มีการตอบรับพอสมควร” นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า

นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กำลังทำนั้นบริษัทในไทยทำได้ แต่อยู่ในวงจำกัด เพราะไทยไม่ได้เน้นการวิจัยพัฒนา ทำให้ขาดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างสูง มีความเชื่อว่าถ้าจะก้าวข้ามไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วความสามารถการวิจัย และพัฒนาต้องสูงมาก ต้องคิดอะไรใหม่ๆ เป็นของตัวเอง

นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าไทยจะก้าวข้ามประเทศมีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ต้องเข้าไปสู่การพัฒนาการวิจัย เอสเคิร์ฟใหม่ การตอบรับยังไม่มาก จึงเกิดโครงการเขตเศรษฐกิจตะวันออก(อีอีซี)ขึ้นมา เพื่อดึงดูดคนที่เก่งทั่วโลกมาอยู่ด้วยกัน อีอีซีจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษดึงคนเก่งมาพัฒนา เพราะดูตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่เจริญขึ้นมาเพราะมีคนเก่งท่ัวโลกมาอยู่และสร้างอเมริกา ขณะที่ถ้าแพทย์ต้องเป็นคนไทย วิศวะต้องเป็นไทย หรือต้องสอบใบประกอบวิชาชีพภาษาไทย ดังนั้นถือเป็นเรื่องที่ติดขัด แต่จะแก้ด้วย อีอีซี เพราะนำสิ่งที่เป็นปัญหาติดขัดในขณะนี้มาแก้ไข โดยล่าสุดดึงมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น มหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และไอทีระดับโลก มาเป็นวิทยาเขตมหาวิทยาลัยในพื้นที่ อีอีซี

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้การลงทุนเอกชนยังไม่โตมาก ทำให้เศรษฐกิจยังไม่โตเต็มที่ รัฐบาลจำเป็นต้องเติมเงินการใช้จ่ายภาครัฐลงไปเพื่อเสริมเตรียมการให้เอกชนลงทุน เช่นในการผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เอกชนลงทุนตาม และเป็นการสร้างพื้นฐานให้ประเทศ เพื่อให้ไยโตเต็มศักยภาพ

นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ทำมาในข้อ 2 จะเข้าสู่ข้อ 3 ประสิทธิภาพและการแข่งขันของประเทศ สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทำให้การขนส่ง รถไฟ ดีขึ้น กระทรวงการคลังทำเรื่องอีเพย์เมนต์ผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพในประเทศ ถ้าอีเพย์เมนต์สำเร็จช่วยประเทศประหยัด ไม่ต้องไปบริหารเงินสด ทำให้เกิดการใช้จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ ลดปัญหาทุจริตจากการจ่ายรับเงินสด ในเรื่องประสิทธิภาพรัฐบาลพยายามเน้นส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับเอกชนที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะตอนนี้สมัยนี้การลงทุนต้องคิดถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใช่ไปคิดถึงการเพิ่มจำนวนสินค้า ดังนั้นหากต้องการแข่งขันกับคนอื่น และอยากอยู่ในโลกต่อไป ต้องเพิ่มปประสิทธิภาพสูงสุดให้ได้

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังให้ความสำคัย โดยมีการใช้เงิน ใช้งบช่วย มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยให้มีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีวิต ตรงนี้จะไม่ใช่แจกเงินฟรีให้รวย แต่รัฐต้องดูแลคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือมีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี แนวคิดคือเติมอะไรให้ได้บ้าง และช่วยอย่างไร โดยโครงการที่ทำมาจะช่วยยกระดับให้คนเหล่านี้พ้นเส้นความยากจน จะได้รับเงินช่วยเหลือ แต่ต้องพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีรายได้มากขึ้นด้วย

“งบประมาณนำมาใช้ ผมถือว่าคุ้มค่าทำให้คนในประเทศสามารถไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ผมพูดไปหลายครั้งว่าด้วยโอกาสที่เท่ากัน แต่ความสามารถเราไม่เท่าใด เหมือนการเรียนที่ครูสอนเหมือนกัน บางคนได้ที่ 1 บางคนได้ที่โหล่ รัฐจะส่งเสริมคนได้ที่ 1 เพื่อให้มาช่วยคนได้ที่โหล่ กระทรวงการคลัง ออกมาตรการพี่ช่วยน้อง นำสิ่งที่ช่วยมาหักภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งไทยเป็นประเทศคนมีน้ำใจ ทำไมไม่คิดถึงสิ่งเหล่านี้ ในการช่วยกันผลักดันคนที่ต่ำกว่าให้ขึ้นมาเท่ากัน เพื่อให้สังคมไปด้วยกัน” นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อ 2 เดือนก่อน กระทรวงการคลังทำเรื่องหนี้นอกระบบ เป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ คนไม่มีเงินไปกู้เงินนอกระบบเสียดอกเบี้ยหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมาก ดังนั้นอยากให้คนที่ยังเป็นหนี้นอกระบบไปแจ้งยังหน่วยงานในแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ยังมีฟิโคไฟแนนซ์ให้เจ้าหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบ ทั้งออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)เข้ามาช่วย เพื่อให้เงินหยิบยืมช่วยพิเศษ คนเหล่านี้สามารถไปกู้ได้ตามวามจำเป็น

นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า สุดท้ายในเรื่องการจัดเก็บรายได้ โดยการจัดเก็บรายได้ขณะนี้อยู่ที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) มีสัดส่วนถึง 58% ของภาษีที่เก็บได้ ภาษีเงินได้ 48% แต่ภาษีทรัพยสิน 1% ถือว่าไม่สมดุล รับฐาลจึงออกภาษีทรัพย์สินขึ้นมา และพยายามนำภาษีอิเล็กทรอนิกส์(อีแทค)มาใช้ ซึ่ง อีแทค เกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งในอดีตการยื่นเสียแวตต้องแบกแฟ้มไปสรรพากร แต่ต่อไปการเสียภาษีทำเป็นรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์ ทำบัญชีภาษีให้เป็นบัญชีเดียว รวมถึงผลักดันให้เเอสเอ็มอีกำลังผลักดันมีบัญชีที่ถูกต้อง เพื่อความสะดวกในการไปขอเงินกู้แบงก์ สิ่งที่ทำมาถือเป็นการวางรากฐานเรื่องรายได้รัฐให้สามารถเก็บภาษีด้วยฐานของความเป็นจริงมากขึ้น

“ผมอยากเห็นการแข่งขันด้านเทคโนโลยี กระทรวงการคลังทำอีเพย์เมนต์เพื่อเป็นถนนหลัก(ไฮเวย์)คือให้ทุกคนไปไหนมาไหนได้ ถ้าเราไม่ดูแลให้อยู่ในไฮเวย์เดียวกันจะ ดูแลได้ยาก ส่ิงที่พยายามผลักดันขณะนี้ เพื่อสร้างพื้นฐานของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยโตเต็มศักยภาพ 4-5% อยากให้เหมือนรัฐบาลป๋าเปรม ที่มีการลงทุนมาก และพอถึงรัฐบาลชาติชาย ยุคโชติช่วง” นายอภิศักดิ์ กล่าว

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image