‘วิรไท’เผยฟินเทคจะเปลี่ยนโลกการเงิน 5 มิติ แนะเอกชนปรับกระบวนการทำงาน-รัฐปรับกฎหมาย (คลิป)

‘วิรไท’เผยฟินเทคจะเปลี่ยนโลกการเงิน 5 มิติสำคัญ เร่งสร้างอีโคซิสเต็มหนุน แนะต้องปรับตัวให้ทันกระแส เอกชนปรับกระบวนการทำงาน-รัฐปรับกฎหมาย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0” หัวข้อ “บทบาทของภาคการเงินไทยสำหรับอนาคต” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า เทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) มีบทบาทความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มีบทบาทต่อสภาพแวดล้อมของระบบการเงินโลก และนำมาซึ่งความท้าทายของภาคการเงินและระบบเศรษฐกิจ โดยมองว่าฟินเทคจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคการเงินไทย สำหรับบทบาทของฟินเทคต่อภาคการเงินในอนาคต จะมีอยู่ทั้งหมด 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือนัยยะของฟินเทคต่อภาคการเงิน โดยในส่วนนี้จะมีทั้งหมด 5 มิติสำคัญ ดังนี้

มิติแรก การบริการคราวด์ฟันดิง เพียร์ทูเพียร์ แพลตฟอร์มจับคู่ คนที่มีเงินออมส่วนเกินนำเงินไปลงทุนในโครงการต่างๆ ที่อยู่บนเพียร์ทูเพียร์แพลตฟอร์ม รวมทั้งบริการการชำระเงินใหม่ๆ ที่ไม่ต้องมีบัญชีเงินฝาก การใช้เงินอิเลคทรอนิกส์หรืออีวอลลเล็ท ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นกลไกการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่จะลดความสำคัญของสถาบันการเงินรูปแบบเดิมลง

มิติที่ 2 ภาคการเงินจะถูกทดแทนระบบบัญชีกระจายตัว ไม่ต้องตรวจเช็คความถูกต้องจากทะเบียนกลาง ข้อมูลธุรกรรมหรือบิ๊กดาต้าจะกระจายตัวไป ทุกคนจะรับรู้ทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานที่มีหลายขั้นตอน เนื่องจากจะต้องตรวจสอบความถูกต้องจากศูนย์กลางข้อมูล

Advertisement

มิติที่ 3 สมาร์ทโฟนจะมีบทบาทสำคัญ เป็นอวัยวะสำคัญสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่มีความสามารถสำหรับทำธุรกรรมทางการเงิน การคำนวณ การรักษาความปลอดภัย การใช้เทคโนโลยีพิสูจน์ตัวตนทางชีวภาพ รวมถึงบริการทางการเงินที่เชื่อมกับบริการอื่นๆ อาทิ อีคอมเมิร์ซ ดังนั้นจะเห็นว่าการทำธุรกรรมทางการเงินเกือบทุกประเภทสามารถใช้ผ่านสมาร์ทโฟนได้ ยกเว้นการถอนเงินสดที่จะต้องไปยังสาขาธนาคารที่เปิดให้บริการ แต่มองว่าในอนาคตการให้บริการผ่านสาขาธนาคารพาณิชย์จะลดน้อยลง สมาร์ทโฟนจึงเป็นเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (อีโคโนมี่ แชร์ริ่ง) ภาคการเงินแต่ละแห่งจะให้บริการผ่านสมาร์ทโฟนได้ดียิ่งขึ้น ธนาคารเองก็ไม่ต้องลงทุนผ่านการตั้งสาขาธนาคาร

มิติที่ 4 พรมแดนภาคการเงินระหว่างประเทศจะถูกท้าทายมากขึ้น เทคโนโลยีฟินเทคจะเชื่อมต่อตลาดเงินและตลาดทุนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละซีกโลกจะเกิดผลกระทบต่อกันภายในเวลาเสี้ยววินาที ในขณะเดียวกันการระดมทุนผ่านพรมแดนระหว่างประเทศจะมีต้นทุนถูกลงเช่นกัน

และมิติที่5 ข้อมูลรายธุรกรรมหรือบิ๊กดาต้า จะเป็นฐานข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการวางแผนทางการเงิน หรือการบริหารความเสี่ยงความปลอดภัยในด้านอื่นๆ โดยข้อมูลบิ๊กดาต้านี้จะเปรียบเป็นรอยเท้าของดิจิทัล ฐานข้อมูลจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อโลกการเงินยุคใหม่

Advertisement

นายวิรไทกล่าวว่า และสำหรับบทบาทของฟินเทคต่อภาคการเงินในอนาคตส่วนที่ 2 คือ นัยยะของฟินเทคจะตอบโจทย์โลกอย่างไร เมื่อเศรษฐกิจและสังคมมีความผันผวนมากขึ้น มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตในสังคมด้วย ซึ่งภาคการเงินจะมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเปรียบเสมือนเส้นเลือดของเศรษฐกิจ โดยมองว่าในส่วนที่ 2 นี้ จะต้องมีปัจจัย 3 ประการที่จะตอบโจทย์ ได้แก่ 1.การเพิ่มผลิตภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ 2. การช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ระบบเศรษฐกิจ ลดการเกิดความเปราะบางที่อาจจะเกิดจากวิกฤตในอนาคต และ 3. การกระจายเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งฟินเทคจะเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคการเงิน

นายวิรไทกล่าวว่า สำหรับตัวอย่างในปัจจัยแรก มองว่าการเพิ่มผลิตภาพ จะช่วยลดต้นทุนสถาบันการเงินโดยรวม การเปลี่ยนแแลงด้านเทคโนโลยี(ดิจิไทเซชั่น) จะมาทดแทนธุรกรรมเงินสด ช่วยลดต้นทุนการซื้อสินทรัพย์ถาวร การบริการเงิดสดและการเปิดสาขาใหม่ของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าที่ผ่านมาภาคการเงินมีโครงสร้างต้นทุนด้านสินทรัพย์ถาวรและพนักงานในระดับสูง เนื่องจากรูปแบบการทำธุรกิจของธนาคารเป็นรูปแบบการขยายสาขา นอกจากนี้แล้วจะพบว่า การฝากถอนเงินแต่ละครั้งมีต้นทุนสูง จากข้อมูลของสมาคมธนาคารไทยมีการเก็บข้อมูลไว้ว่า การให้บริการฝากถอนที่ธนาคารมีต้นทุน 60-80 บาทต่อรายการ ต้นทุนการบริการเงินสดโดยรวมประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี

“การพัฒนาระบบการเงินอิเล็คทรอนิกส์จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ โดยถนนการชำระเงินเส้นใหม่ที่สำคัญที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้คือ ระบบพร้อมเพย์ หลังจากที่เปิดใช้บริการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนกว่า 28 ล้านราย มีการทำธุรกรรม 7 ล้านรายการ มีมูลค่าธุรกรรมประมาณ 50,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้พร้อมเพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้พร้อมเพย์จะช่วยให้การค้าอีคอมเมิร์ซและการกดเงินสดมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายวิรไทกล่าว

นายวิรไทกล่าวว่า นอกจากนี้มองว่าการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จะสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ยุทธศาสตร์การชำระเงินข้ามพรมแดนจะเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีต้นทุนทางการเงินถูกลง และช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุนตามแนวชายแดน นอกจากนี้ฟินเทคจะช่วยยกระดับการทพธุรกรรมการค้า การให้บริการและการปล่อยสินเชื่อให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ส่วนตัวอย่างในปัจจัยที่ 2 การช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกัน จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรม ช่วยกระจายความเสี่ยงและลดความเสี่ยงในมิติต่างๆ และทำให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดมากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ด้านประกันที่จะตอบสนองลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างเฉพาะเจาะจง

“ฟินเทคยังช่วยลดการทุจริตในภาคการเงินให้น้อยลง ช่วยหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น การพิสูจน์ตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการลดความผิดพลาดที่เกิดจากการทำธุรกรรมและการปฏิบัติการทั้งในภาคสถาบันการเงินและภาคธุรกิจ รวมถึงการนำบล็อคเชนมาใช้ในการกรอกเอกสาร ก็จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสถาบันธนาคาร” นายวิรไทกล่าว

นายวิรไทกล่าวว่า และตัวอย่างในปัจจัยที่ 3 การกระจายเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะเปิดสาขาครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและการให้บริการที่หลากหลาย แต่ยังมีประชาชนอีกประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน นอกจากนี้การมห้บริการสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังประสบปัญหาบางประการ อาทิ การแยกแยะความเสี่ยงของเอสเอ็มอี เมื่อฟินเทคมีบทบาทมากขึ้นคาดว่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้ อย่างในด้านการค้าก็คาดว่าจะทำให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ซึ่งแหล่งเงินทุนเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่สถาบันการเงินก็ได้ การเพิ่มประสิทธิภาพของซัพพลายเชน ไฟแนนชิ่งจะทำให้เอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักประกันเข้าถึงแห่งเงินทุนได้มากขึ้น

นอกจากนี้ นายวิรไท กล่าวด้วยว่า จะต้องสร้างสภาพแวดล้อม หรืออีโคซิสเต็ม เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่จากฟินเทค เรื่องแรกต้องมีการปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องการทำงานแบบดิจิทัลและการทำงานที่กระจายตัวมากขึ้น โดยภาครัฐต้องปรับตัวการจากที่เป็นผู้กำกับดูแลมาเป็นผู้ให้สนับสนุน ในส่วนของ ธปท. ได้เปิดให้มีศูนย์ทดสอบนวัตกรรมการเงิน หรือเรกูลาทอรี่ แซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดสอบก่อนให้บริการจริงแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้เพื่อต้องการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและดูแลความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งได้เริ่มทยอยอนุญาติโครงการไปแล้ว 1 โครงการ และภายในเดือนนี้จะมีอีก 2 โครงการ ที่จะอนุญาตออกมา

เรื่องที่ สอง คือ การปรับกระบวนการทำงานให้เร็วทันยุคจิดิทัล ที่ผ่านมา ธปท. ได้ทบทวนกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมานานและมีความล้าสมัย กฎบางข้อยังต้องใช้เงินสด ยังต้องมีการลงนามในเอกสาร ตั้งปั๊มตราองค์กร หรือให้เก็บเอกสารย้อยหลังหลายปีเผื่อการเรียกตรวจสอบ เป็นต้น จึงต้องมีการปรับให้สะดวกมากขึ้น รวมทั้ง การใช้บิ๊กดาต้าทำให้ เกิดแชร์ริ่งอีโคโนมี ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ที่จะแยกไม่ออกว่าเป็นธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นหลัก เช่น เป็นธุรกิจการเงินหรืออีคอมเมิร์ช เป็นต้น ดังนั้นต้องมีกฎหมายรองรับ และต้องมีกฎหมายเพื่อดูแลความปลอดภัยด้านข้อมูลประชาชนด้วย

นายวิรไท กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นก็มาคู่ความเสี่ยงใหม่ ๆ ซึ่ง เวิลด์อีโคโนมิค ฟอรั่ม ได้จัดอันดับให้ ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ เป็นหนึ่งใน 10 ความเสี่ยงแรกของโลก ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจของประชาชนทำให้ประชาชนถูกหลอกได้ง่ายโดยเฉพาะเมื่อสามารถทำธุรกรรมการเงินได้ง่ายผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่ง ธปท. ได้ร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางการเงินเพื่อให้ภาคการเงินไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลแบงก์กิ้งให้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญในโลกยุคใหม่ ช่วยเพิ่มโอกาสการเลือกใช้เทคโนโลยีการเงินสมัยใหม่และช่วยปกป้องตัวเองจากภัยทางไซเบอร์ได้

“เชื่อว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก และฟินเทคจะมีบทบาทสำคัญพลิกโฉมเปลี่ยนโลกการเงิน เปลี่ยนแนวคิดในการทำธุรกิจ รูปแบบบริการการเงิน เราไม่สามารถหยุดหรือชะลอกระแสได้ ที่สำคัญที่สุดต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น” นายวิรไท กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image