“ดิจิทัล เวนเจอร์ส” ชี้ จำนวนสตาร์ทอัพไทยต่อประชากรยังห่างชั้น อิสราเอล,สิงคโปร์,จีน

นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในระหว่างงานเสวนาหัวข้อ “ฟินเทค นวัตกรรมการเงิน เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้” ในงาน “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่า บริษัทเป็นหน่วยงานหนึ่งของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งออกมาเพื่อดูแลเรื่องฟินเทค โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 1.เวนเจอร์แคปปิตอล ที่ออกไปหาเทคโนโลยีใหม่ทั่วโลกซึ่งที่ผ่านมาได้ออกไปสำรวจติดต่อฟินเทคใน 27 ประเทศ 32 เมือง มีการติดต่อฟินเทคมากกว่า 500 แห่ง 2.หน่วยบ่มเพราะสตาร์ทอัพ นำความรู้ที่ได้มาจากต่างประเทศมาช่วยสร้างเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและฟินเทคไทยให้มีคุณภาพ 3.หน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เป็นหน่วยงานที่คัดเลือกว่าฟินเทคที่บริษัทได้พบเจอนั้นอะไรที่มีความจำเป็นต่อธนาคารไทยพาณิชย์ได้ในอนาคต นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่ดีแตกต่างจากคู่แข่งในอนาคต

“เราไม่ได้มองว่าจะนำเทคโนโลยีมาสวมให้ธนาคารอย่างไร แต่เรามองว่าธนาคารในรูปแบบใหม่เป็นอย่างไร โดยที่เราเองก็เป็นสตาร์ทอัพ มีหน้าที่หาเทคโนโลยีมาใช้ในธนาคารปัจจุบันเราอยู่ในยุคเริ่มต้นของยุคดิจิทัล เป็นยุคที่โลกเดิมกับโลกใหม่เจอกัน เช่น อูเบอร์ที่เอาข้อมูลความต้องการใช้รถ และข้อมูลคนขับรถมาเจอกันในโลกดิจิทัลสามารถสร้างรายได้ 1.5 หมื่นล้านเหรียญภายในสองปี เป็นตัวอย่างของจุดเปลี่ยนแปลงที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เราเริ่มเห็นรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งในอดีตไม่สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยี”นายอรพงศ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยจะเห็นว่ารายได้จากธุรกิจที่ไม่ได้อ้างอิงกับเทคโนโลยีลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น รายได้ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ในส่วนของรายได้จากการใช้บริการด้านเสียงลดลงแบบดิ่งเหว สวนทางกับรายได้ที่มาจากการใช้อินเตอร์เน็ตหรือดาต้า ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มปิดสาขาลงเพราะรายได้ต่อสาขาเดิมลดลงอย่างมาก แต่กลับมีรายได้จากการขายออกไลน์เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการโรงแรมพบว่ากำไรถึง 30% ไปตกอยู่กับผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นจองห้องพัก 5 รายใหญ่ของโลก ผู้ประกอบการสื่อแม้จะเห็นรายได้จากการโฆษณาออนไลน์เพิ่มขึ้นแต่เงินโฆษณานั้นไมได้ตกกับเจ้าของหรือผู้ผลิตเนื้อหาแต่ไปตกอยู่ที่สื่อตัวกลางอย่างเฟสบุ๊ค หรือกูเกิ้ล

Advertisement

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไป ทุกช่วงอายุสามารถเข้าถึงและใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อินเตอร์เน็ต และสื่อต่างๆ ในโลกออนไลน์ได้ แม้ปัจจุบันธุรกิจดั่งเดิมยังไม่ได้รับผลกระทบรายได้บางธุรกิจยังโตต่อเนื่อง แต่หากไม่ปรับตัวก็จะเหมือนกับโนเกียที่ก่อนที่จะล้มก็ยังมีรายได้ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และไม่ตระหนักถึงการเข้ามาของแบล็กเบอรี่ โดยที่ไม่ทราบว่ารายได้ของโนเกียสูงขึ้นนั้นก็เหมือนกับท้ายเรือที่กำลังจะจม จากการติดตามพบว่าที่ผ่านมาธุรกิจหลายอุตสาหกรรมปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

นายอรพงศ์กล่าวอีกว่า ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่คือ บล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโลโลยีที่มีความปลอดภัยสูงมาก สามารถเก็บข้อมูลทุกอย่างได้ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงจะมีข้อมูลใหม่ต่อเข้ามาจากข้อมูลเดิมจึงสามารถรตรวจสอบย้อนหลังได้หมด การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีนี้ต่อไปผู้บริโภคจะไม้ได้ต้องพึงพาบริการของธนาคารพาณิชย์อีกก็เป็นได้

Advertisement

“สิ่งที่ธนาคารแข่งกันตอนนี้ ในอนาคตอาจไม่มีความหมายเลย เพราะในอนาคตคนคือเจ้าของข้อมูลทั้งหมด จึงเป็นโจทย์ที่เราตั้งหน่วยงาน ไม่ได้เอาเทคโนมาต่อยอดหรือคิดว่าทำอย่างไรให้โมบายแบงก์กิ้งดี แต่ความเชื่อคือ ต่อให้ธนาคารทำให้ดีที่สุดแต่อนาคตอาจไม่มีความหมาย เพราะโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การที่เราภูมิใจว่าเราอยู่ในตำแหน่งตรงกลางอาเซียน จึงส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ซึ่งผมเริ่มมีคำถามว่าในอนาคตสิ่งที่เราดำเนินการอยู่นั้นจะสามารถเป็นแกนหลักที่ทำให้ประเทศสำเร็จหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเยอะ”นายอรพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีเจ้าใหญ่เริ่มลงมาเล่นเกมส์เปลี่ยนโลก คิดผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคไปในทุกจังหวะชีวิต กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตลูกค้า อย่างไรก็ตาม จากการเก็บรวบรวมข้อมูลพบว่าในโลกของเวนเจอร์แคปปิตอลหรือกิจการที่จะร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพนั้น พบว่าในปี 2559 เอเชียมีเม็ดเงินการลงทุนมากที่สุดแซงหน้ายุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่หากนำประเทศจีนออกจากเอเชีย มูลค่า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเหลือเพียง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นจึงสรุปได้ว่าจีนตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าวมากที่สุด และเมื่อพิจารณาถึงการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพพบว่า ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่มีสตาร์ทอัพมากที่สุดคือมีมี 1 สตาร์ทอัพต่อประชากร 1,500 คน รองลงมาคือสิงคโปร์คือมี 1สตาร์ทอัพต่อประชากร 2,800 คน และจีนมี 1 สตาร์ทอัพต่อ 9,500 คนไทยอยู่ที่ 1 สตาร์ทอัพต่อ 1.13 แสนคน สำหรับภาคธุรกิจการเงินและภาคธุรกิจ ส่วนตัวมองว่าการลงทุนในฟินเทคไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพราะมีความจำเป็น หากไม่เข้ามาทำฟินเทควันนี้ในอีก 3-4 ปีข้างหน้าท่านจะไม่มีพื้นที่ให้เล่นอีกแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image