กสิกรไทย บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล เดินหน้าลงทุนฟินเทค – ตั้งสตาร์ตอัพ

ธนพงษ์​ ณ ระนอง

นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” หัวข้อ “ฟินเทค…นวัตกรรมการเงิน เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้” ว่า ฟินเทค ถือเป็นนวัตกรรมที่มาช่วยปรับปรุงระบบการเงินให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยังเป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวและใกล้ตัวเราอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานดิจิทัลแบงกิ้งที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยธนาคารกสิกรไทย มีจำนวนผู้ใช้สูงถึง 5 ล้านบาท จนทำให้ปี 2560 ธนาคารมีการปิดสาขามากกว่าเปิดสาขา ซึ่งนอกเหนือจากอุตสาหกรรมทางการเงินแล้ว ฟินเทคยังปรากฏให้เห็นในสตาร์ตอัพอื่นๆ อาทิ อูบอร์ ซึ่งปัจจุบัน ถือเป็นผู้ให้บริการรถแท็กซี่รายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่มีรถแม้สักคันเดียว เฟซบุ๊ก ถือเป็นผู้สร้างคอนเทนต์รายใหญ่ของโลก แต่ไม่มีคอนเทนต์ที่เป็นของตนเองเลย แอร์บีเอ็นบี มีมูลค่าสูงสุดในอุตสาหกรรมห้องพัก แต่ไม่มีห้องพักเลย ในอนาคตอาจมีธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่มีธนาคารสักสาขา อย่างที่เริ่มปรากฏให้เห็นแล้วในชื่อ N26 โบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นที่ไม่มีค่าธรรมเนียม ในชื่อ Robinhood ที่สร้างปรากฏการณ์มีคนรอใช้บริการจำนวนมาก Transfer wise บริการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ โดยดึงผู้ซื้อและผู้ขายในประเทศมาเจอกัน ทำให้ได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกกว่าในตลาดทั่วไปถึง 8 เท่า

“ฟินเทค ถือเป็นกระแสที่มาแรงและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นที่สนใจและได้รับการตอบรับจากนักลงทุน ซึ่งได้มีการสำรวจธนาคารต่างประเทศต่อมุมมองฟินเทค พบว่า กว่า 80% มองว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดการเงิน นอกเหนือจากสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร 56% มองว่า นโยบายฟินเทค ถือเป็นสิ่งที่ธนาคารต้องเริ่มมีการดำเนินการ 77% ธนาคารจะต้องมีการนำบล็อกเชนนำมาใช้ภายในปี 2563 ทำให้ในปี 2559 มีการทุ่มเม็ดเงินลงทุนในฟินเทค สูงถึง 24.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ” นายธนพงษ์กล่าว

นายธนพงษ์กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทย ก็ตระหนักดีถึงสถานการณ์ดังกล่าว ที่จะส่งผลให้เปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น จึงได้เดินหน้าในลงทุนในสตาร์ตอัพ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้จัดงานแถลงข่าวตั้งบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด หรือ Beacon VC ในรูปแบบการจัดตั้งกองทุนร่วมทุน (เวนเจอร์ แคปิทัล) โดยธนาคารจะถือหุ้น 100% มีวงเงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท หลังจากที่มีการตั้งบริษัทขึ้นมาในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา โดยการตั้งเวนเจอร์แคปิทัลนี้จะทำหน้าที่ระดมทุนให้กับสตาร์ตอัพที่ไปร่วมอยู่ด้วย โดยในขณะนี้ได้ประกาศความร่มมือร่วมลงทุนไปแล้ว 1 รายการคือ การลงทุนในสตาร์ตอัพฟินเทค หรือบริษัทโฟลว์แอคเคาท์ ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนในสตาร์ตอัพฟินเทคโครงการแรกที่ธนาคารพาณิชย์เข้าไปร่วมทุน นอกจากนี้แล้วทางธนาคารกสิกรไทยยังทำรายการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป เพื่อให้เข้าใจในสตาร์ตอัพและฟินเทคมากขึ้น ผ่านรายการเกมโชว์ เดอะยูนิคอร์น สตาร์ตอัพพันล้าน ทางช่องเวิร์คพอยท์

นายธนพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ได้ปรับปรุงแอพพลิเคชั่นเคพลัส ในส่วนการให้บริการต่างๆ ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้แล้วยังได้ร่วมมือกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ผลักดันสตาร์ตอัพโฟลว์แอคเคาท์และฟู้ดสตอรี่ เพื่อให้การบริการจัดการร้านค้าออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ การบริการต้นทุน ยอดขายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมองว่าความร่วมมือการผลักดันสตาร์ตอัพทั้ง 2 รายนี้เป็นผลดีมาก ทำให้ลูกค้ามีความเข้มแข็งด้านการเงินดีขึ้น

Advertisement

“ยุคการเงินใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ยุคดิจิทัลแบงกิ้งได้เกิดขึ้นแล้ว มองว่าทิศทางหลังจากนี้กระแสฟินเทคจะเข้ามาช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจให้เชื่อมถึงกันมากขึ้น ทั้งการลงทุนในรูปแบบสถาบันธนาคารและไม่ใช่สถาบันธนาคาร และนอกจากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแรกที่ทำการทดสอบการทำแซนด์บ็อก โดยได้รับอนุญาตจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว และมั่นใจว่าความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ธนาคารพาณิชย์จะทันกับกระแสฟินเทคที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นได้” นายธนพงษ์กล่าว

 

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image