9องค์กรยาง เสนอ12ข้อ แก้ราคายางด่วน ค้านซื้อแทรกแซงราคา เป็นภาระเก็บสต๊อก เตรียมยื่นรมว.เกษตรฯพรุ่งนี้

อุทัย สอนหลักทรัพย์

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายฯและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้มีการประชุมหารือเพื่อถกปัญหาราคายางตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยมีเครือข่ายยางพารา 9 องค์กรทั่วประเทศ รวมตัวกันในนามสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) เข้าร่วมประชุม ที่ห้องประชุมสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ตึก 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และได้เข้าพบ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อขอขอบพระคุณที่ได้ที่นำพ.ร.บ.ควบคุมยางออกมาใช้ในการแก้ปัญหายาง และทบทวนมาตรการปัญหาราคายางตกต่ำของกนย. 4 มาตราการเข้าแก้ปัญหาใน ครม.

อย่างไรก็ตามในฐานะประธาน สยยท. ยังคงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการซื้อยางแทรกแซงยางเพื่อเก็บไว้ในสต๊อกดังที่เคยทำมาดังกรณี 3.1 แสนตัน ซึ่งยังก่อให้เกิดปัญหามาจนทุกวันนี้ สำหรับการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทาง สยยท. ได้จัดประชุมเครือข่ายยางร่วมกัน 9 องค์กร ซึ่งได้มีแนวทางเป็นมติร่วมกันเพื่อเตรียมเสนอแนะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการด่วน 12 ข้อ ดังนี้

1. ประเทศไทยมียางเป็นอันดับหนึ่งของโลก ที่ผ่านมาเราเดินตามหลังตลาดโลก และการขายยางล่วงหน้าเป็นอุปสรรคที่ราคายางไม่มีเสถียรภาพ (เพราะซื้อขายกระดาษเหมือนหุ้น ปั่นราคาได้) ประเทศเราควรจัดตลาดซื้อจริง ขายจริง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรมากกว่า

2. ตาม พ.ร.บ. กยท. มาตรา 8 วัตถุประสงค์ดำเนินการให้ระดับราคายางมีเสถียรภาพ โดย มาตรา 9 ให้ กยท. มีอำนาจทำกิจการต่างๆ (2) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราโดยการจัดตั้งบริษัทเพื่อชี้นำราคาในตลาดประมูลยางทุกแห่งเพื่อปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ซื้อที่กดราคา

Advertisement

3. พ.ร.บ. ควบคุมยาง 2542 มาตรา 6 ในการส่งออกยาง (8) (9) (10) ต้องควบคุมผู้ส่งออกโดยไม่ให้ขายยางต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรที่ตกลงร่วมกันในไตรภาคี ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกปรับตามราคายางที่ต่ำกว่าต้นทุนที่กำหนดไว้ และควรยึดใบอนุญาตใน มาตรา 10 วางหลักเกณฑ์การค้ายางภายในประเทศ และ มาตรา 48 ผู้ส่งออกยางจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 กำจัดพวกปล่อยข่าวทำลายราคายางซึ่งเข้าข่ายทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

4. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มมูลค่ายางเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาง โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อให้ความรู้ สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และให้หน่วยราชการรับซื้อ (ด้านอุตสาหกรรม ควรให้แต้มต่อเหมือน BOI) ซึ่งเป็นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นการลดปริมาณยาง

5. ทาง สยยท. มีมติไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงยาง เพราะเก็บยางไว้จะเป็นภาระรัฐบาล ตามข้อ (2) กยท. ตั้งบริษัท และใช้เงินแทรกแซงมาสนับสนุนเกษตรกร รวมกลุ่มเกษตรกรให้ซื้อขายยางเป็นอาชีพเสริมเพื่อนำส่งบริษัท กยท. ที่จัดตั้งขึ้นและในสภาวะราคายางตกต่ำให้ทุกกลุ่มเก็บยางไว้ และทางรัฐบาลจะงดเก็บดอกเบี้ยจนกว่าราคายางจะปกติ

Advertisement

6. ในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ควรแก้อย่างถาวร และวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาจะต้องกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจน

7. ควรจะต้องมีกฎเกณฑ์ตามข้อตกลง บาหลีเร็กกูเลชั่น โดยมีตลาดร่วมทุน 3 ประเทศ เป็นตัวร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกประเทศ

8. ควรกำหนดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรทั้ง 3 ประเทศ ร่วมกันเพื่อไม่ให้พ่อค้าและต่างประเทศส่งออกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ถ้าไม่เป็นไปตามข้อตกลง จะต้องมีมาตรการป้องกันที่ชัดเจน

9. ยางที่ค้างอยู่ในสต๊อก 1.1 แสนตัน ควรนำออกมาขายให้ อบท. ใช้ผสมแอสฟร้านลาดถนน โดยการตั้งงบประมาณปี 2561 รองรับ

10. สวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และ กยท. ให้ขึ้นทะเบียนไว้เกือบ 2 ปีแล้วควรที่จะดำเนินการให้ถูกต้องเพราะแกษตรกรชาวสวนยางทุกคนได้เสียเงิน cess แต่เข้าไม่ถึง พ.ร.บ. กยท. มาตรา 49

11. ปัญหา กยท.ซื้อปุ๋ยให้เกษตรกรได้รับเป็นปุ๋ยไม่ได้มาตรฐาน กยท. ควรจ่ายเป็นเงินสดให้เกษตรกรจัดหาเองเพราะอาจจะนำเงินไปทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองตามนโยบายของรัฐบาลในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง

12. สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง แห่งประเทศไทย (สยยท) ขอเป็นผู้รวบรวมปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยาง และติดตามปัญหาภาพรวมของยางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจรเพื่อนำเสนอ กระทรวงเกษตรฯโดยตรง

หลังที่ประชุมได้มีการแถลงการณ์สรุปว่านอกจากแนวทางดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทางประธานสยยท.จะเสนอให้ปฏิรูปยางไทย และให้มีการติดตามงานของการยางพาราแห่งประทศไทย โดยจะได้เข้าพบเพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในเวลา 8.30 น. วันอังคารที่ 20 มิ.ย.2560 พร้อมแถลงข่าว ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนต่อไป นายอุทัยกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) ประกอบ ด้วย 9 องค์กร ได้แก่

1.สภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย(สยยท.) 2.สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย 3.ภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย 4.สมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย 5.สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง16จังหวัดภาคใต้ 6.ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย 7.ชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางแห่งประเทศไทย จำกัด 8.แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง 9.สมาคมผู้ค้ายางภาคเหนือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image