“วงใน” เสนอรัฐบาลทบทวนกม.ธุรกิจ เร่งสร้างระบบนิเวศให้สตาร์ทอัพเติบโตต่อเนื่อง

นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด หรือวงใน เปิดเผยในงานสัมมนาผู้ลงทุนในตลาดทุนระดับนานาชาติ “Thailand’s Big Strategic Move” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ว่า การสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพของวงในได้เริ่มต้นก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ในระยะ 3 ปีแรกบริษัทไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะตลาดยังไม่เปิดกว้างเท่ากับในปัจจุบัน ทั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Yelp.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์รีวิวร้านอาหารของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามธุรกิจของวงในมีทิศทางที่ดีขึ้นในปี 2555 เป็นต้นมา จากการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน

“อยากเสนอว่าไทยควรทบทวนกฎหมายทางด้านธุรกิจ หากต้องการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากในปัจจุบันทรัพยาการมนุษย์ที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยีมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับบุคคลากรในภาคเกษตรกรรม และในด้านอื่นๆ ข้อจำกัดนี้ทำให้ประเทศไทยต้องอาศัยเทคโนโลยีจากต่างชาติอยู่มาก และเป็นสิ่งจำเป็นที่ธุรกิจใหญ่ๆ จะต้องลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อพัฒนาระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สร้างสรรค์มากขึ้น” นายยอดกล่าว

นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด บริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า โอกาสของธุรกิจสตาร์ทอัพเริ่มต้นในไทยนั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ 1.โอกาสด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ที่ยังมีพื้นที่ให้ลงทุนอยู่มากและเป็นเครื่องมือที่จะให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ ดำเนินงานได้ง่ายขึ้น 2.ธุรกิจที่ให้ผู้บริโภคเป็นผู้สร้างเนื้อหา (User Generate Content: UGC) ที่เทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งที่ยึดโยงผู้บริโภคเข้ากับธุรกิจ ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากการลงทุนในสื่อโฆษณาออนไลน์เพิ่มมากกว่าสื่อโฆษณาออฟไลน์ ซึ่งหากธุรกิจสตาร์ทอัพไม่สามารถตีโจทย์นี้ให้แตกได้ จะส่งผลร้ายกับธุรกิจในระยะยาว และ3.ปัญญาประดิษฐ์และแชทบ็อต ที่ทำให้สมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นแชทเป็นช่องทางในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ

นายพอล ศรีวรกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอคอมเมิร์ซ จำกัด กล่าวว่า ไทยเป็นตลาดที่ผู้ซื้อมีกำลังในการซื้ออย่างมหาศาล แต่สินค้าภายในประเทศยังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ไม่ดีพอ และมองว่าศักยภาพในการค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไทยและเอเชียยังถือว่ามีช่องว่างให้พัฒนาได้อีกมาก ความต้องการของเอคอมเมิร์ซคือการเชื่อมผู้ผลิตภายในประเทศให้สามารถพัฒนาตนเองจนสามารถเป็นคู่ค้ากับอาลีบาบาในจีน เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image