ส่องโฉม “รถไฟฟ้าสายสีทอง” ผ่านหอชมเมือง-ไอคอนสยาม

หลังจากที่ ครม.อนุมัติโครงการ “หอชมเมือง” กรุงเทพมหานคร เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จนสังคมต่างลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ส่วนหนึ่งคาดว่าพื้นที่ดังกล่าว ที่อยู่ใกล้เคียงกับโครงการยักษ์อย่าง “ดิ ไอคอน สยาม” จะยิ่งทำให้บริเวณคลองสาน เจริญนคร เจริญเติบโตสมชื่อกว่าเดิม ซึ่งหนึ่งสิ่งที่จะตามมาหลังจากการสร้างโครงการบิ๊กๆเหล่านี้ คงไม่พ้น รถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งใกล้จะเป็นจริงในไม่ช้า

ซึ่งเว็บไซต์ ประชาชาติออนไลน์ ได้เคยเผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 21 เมษายน ไว้ว่า

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กล่าวว่า ขณะนี้เคทีได้เปิดประมูลก่อสร้างงานโยธาและวางรางโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง เฟสแรก (กรุงธนบุรี-คลองสาน) ระยะทาง 1.7 กม. ค่าก่อสร้าง 2,080 ล้านบาท โดยได้เชิญผู้รับเหมา 4 รายมาเสนอราคา ได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น ปรากฏว่ามีผู้เสนอราคา 2 รายมาเสนอราคา คือ อิตาเลียนไทยกับซิโน-ไทยฯ อยู่ระหว่างต่อรองราคา ส่วนงานติดตั้งระบบได้เจรจากับทาง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) เพื่อจะมาลงทุนให้ วงเงินกว่า 400 ล้านบาท ยังไม่รวมการจัดหาขบวนรถ จำนวน 2 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ รวม 6 ตู้ ที่บีทีเอสอยู่ระหว่างการคัดเลือกระบบ ระหว่างของวูจินจากประเทศเกาหลี กับบอมบาร์ดิเอร์จากประเทศแคนาดา และการรับสัมปทานเดินรถและซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 30 ปี

Advertisement

“บีทีเอสจะซัพพลายเออร์เครดิต เงินลงทุนให้ก่อนด้านงานระบบและรถ แล้วเคทีจะชำระคืนภายหลัง ส่วนค่าก่อสร้าง 2,080 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยกลุ่มไอคอนสยาม ซื้อพื้นที่โฆษณาสถานีและขบวนรถล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 30 ปี จะทำให้การเดินหน้าโครงการรวดเร็วขึ้น” นายมานิตกล่าว และว่า

การดำเนินการโครงการเดินหน้าคู่ขนานไปกับการรอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 7 มี.ค. 2560 มีมติยกเว้นมติ ครม.วันที่ 17 พ.ค. 2537 ให้สามารถสร้างเป็นทางยกระดับได้ จากเดิมต้องสร้างเป็นระบบใต้ดิน เนื่องจากแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ 25 ตร.กม.

Advertisement

“โครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วน เมื่อเคลียร์ทุกอย่างเสร็จแล้ว จะเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาได้ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเริ่มต้นการก่อสร้างโครงการ และพร้อมเปิดบริการปลายปี′61 เก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย”

โดยแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกรุงธนบุรี วิ่งไปตามถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวเข้าถนนเจริญนคร ผ่านวัดสุวรรณาราม แนวเส้นทางเกาะไปตามถนนเจริญนคร ถนนเจริญรัถ จนถึงแยกคลองสาน และมาสิ้นสุดบริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน มี 3 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี (G1) สถานีไอคอนสยาม (G2) อยู่บริเวณเจริญนคร 6 และสถานีคลองสาน (G3) คาดว่ามีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 47,300 เที่ยวคนต่อวัน

ส่วนระยะที่ 2 จากโรงพยาบาลตากสิน-วัดอนงคารามวรวิหาร ระยะทาง 1 กม. มี 2 สถานี ได้แก่ สถานี G4 อยู่ก่อนถึงโรงเรียนจันทรวิทยา และสถานี G5 อยู่ก่อนถึงวัดอนงคารามวรวิหาร ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (เดโป้) จะสร้างอยู่ในสถานีกรุงธนบุรี จะดำเนินการในระยะถัดไป

สำหรับระบบรถไฟฟ้าที่ใช้ในรถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นระบบ AGT ระบบล้อยาง ไร้คนขับ ซึ่งรถ 1 ตู้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 80-100 คน และต่อพ่วงได้ถึง 6 ตู้ วิ่งด้วยความเร็ว 3 นาทีต่อขบวน หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบจะทำการหยุดรถอัตโนมัติ และมีรถมารับผู้โดยสารทันที

รายงานข่าวแจ้งว่า ระบบรถไฟฟ้าที่บีทีเอสจะนำมาใช้เดินรถ คาดว่าจะเป็นระบบบอมบาร์ดิเอร์ รุ่นอินโนวา 300 เนื่องจากเป็นระบบมีความพร้อมทุกด้านทั้งราคาและประสิทธิภาพ ล่าสุดบอมบาร์ดิเอร์กำลังผลิตรถโมโนเรลให้เซี่ยงไฮ้อยู่ คล้ายกับระบบ APM ที่ใช้ในสนามบิน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันพื้นที่แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง จากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกรุงธนบุรี ไปถึงสถานีปลายทางที่คลองสาน นอกจากโครงการมิกซ์ยูสของกลุ่มไอคอนสยาม มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image