ศูนย์วิจัยกสิกรปรับเพิ่มจีดีพีโต 3.4% ชี้พรก.แรงงานต่างด้าวส่งผลกระทบเลวร้ายสุดคิดเป็น 4.6 หมื่นล้าน

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้ปรับประมาณการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ปี 2560 ขึ้นเป็น 3.4% จากเดิมประมาณการณ์ที่ 3.3% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกสามารถขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ ทั้งจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในการซื้อรถยนต์ รายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากอานิสงส์ของเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ตลอดจนราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้น จึงน่าจะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากเดิมที่คาดไว้ 2.2 % อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งจากการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวดี แนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงเฉลี่ย 48 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากครึ่งปีแรก 51 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สาเหตุจากปริมาณการผลิตน้ำมันส่วนเกินที่ยังมีอยู่ จะส่งผลกระทบไปยังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร

น.ส.ณัฐพร กล่าวว่า นอกจากนี้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีแนวโน้มมากกว่าปีที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่อราคา ซึ่งเป็นผลกดดันโดยตรงต่อรายได้ของเกษตรกรที่ชะลอตัว รวมทั้งกระบวนการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว จากการประกาศใช้พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 อาจส่งผลกระทบต่อจีดีพี ประมาณ 0.03% ขณะที่ภาคส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่แนวโน้มของราคาสินค้ามีทิศทางที่ปรับตัวลดลงจากช่วงครึ่งปีแรกจากราคาน้ำมันที่ลดลง ส่วนปริมาณการส่งออกยังมีแนวโน้วสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐฯและยุโรป ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังมากนัก ส่วนเงินเฟ้อ มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากราคาพลังงานที่ลดลง และราคาอาหารสดที่ลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อน จึงปรับประมาณการณ์เหลือเพียง 0.8% จากเดิม 1.5%

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย เศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวถึงการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทย ทั้งปี 2560 ว่า จะยังคงอยู่ที่ 4% จากแรงขับเคลื่อนของฝั่งสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะรายใหญ่ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากเดิม 3% จากการส่งออกที่ขยายตัว ขณะที่สินเเชื่อรายย่อยยังหดตัวกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 4.5% จากเดิมที่ 5.5% จากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหดตัว เพราะกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และธนาคารยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น และสูงที่สุดในไตรมาสที่ 3/2560 ที่ระดับ 3.07% และจากนั้นจะค่อยๆลดลง โดยลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อย ยังคงมีความอ่อนไหว

“คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรอบที่ 0.25% ไปที่กรอบ 1.25 – 1.5% ภายในปีนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายว้ที่ 1.5% ตลอดทั้งครึ่งปีหลังของปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของกิจการทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยง”

Advertisement

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการประกาศใช้พ.ร.ก. การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว 2560 สามารถประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจไทย ตามสมมติฐานจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกกฎหมายและค่าใช้จ่ายต่อหัวในการขอ อนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง ได้ 3 แนวทาง คือ 1.กรณีผลกระทบน้อย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 12,400 ล้านบาท หรือ 0.08% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ (จีดีพี) 2.กรณีผลกระทบปานกลาง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 28,400 ล้านบาท หรือ 0.2% ของจีดีพี 3.กรณีผลกระทบค่อนข้างมาก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 46,500 ล้านบาท หรือ 0.3% ของจีดีพี โดยกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวรวมกัน 65% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด ประกอบด้วย 1.เกษตรกรรมและกิจกรรมที่ต่อเนื่อง ซึ่งมีสัดส่วน 8% ของจีดีพี 2.โรงแรม ภัตตาคาร และค้าขาย มีสัดส่วน 6% ของจีดีพี 3.ก่อสร้างมีสัดส่วน 3% ของจีดีพี

น.ส.เกวลิน กล่าวว่า หากเจาะลึกที่ภาคการเกษตรที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าว เป็นอันดับต้นมีจำนวนกว่า 3.2 แสน จะพบว่า ภาวะตึงตัวของแรงงานต่างด้าวจากกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ธุรกิจในห่วงโซ่ของภาคเกษตรมีต้นทุนสูงขึ้น และอาจทำให้เกิดการขาดรายได้ เนื่องจากประสบปัญหาขาดแรงงานมาเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงปลายปีที่จะมีผลผลิตทางการเกษตรออกมาจำนวนมาก อาทิ ข้าว คิดเป็นสัดส่วน 78% ของผลผลิตทั้งหมด ยางพารา 60% ของผลผลิตทั้งหมด มันสำปะหลัง 33% ของผลผลิตทั้งหมด อ้อย 11% ของผลผลิตทั้งหมด ตลอดจนอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการแปรรูปและขนถ่ายสินค้าได้ ทั้งนี้ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในแต่ละขั้นตอนการผลิตรวมทึกรวมทั้งความยืดหยุ่นในการรับมือของแต่ละราย

น.ส.เกวลิน กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรเป็นอีกปัจจัยที่ท้าทายต่อภาคเกษตร ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากขาดแรงกระตุ้น โดยเฉพาะราคายางพาราแผ่นดิบชั้น3 ที่แกว่งตัวผันผวนในกรอบ 49 – 54 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งอาจกระทบต่อรายได้ของชาวสวนยางโดยเฉพาะในช่วงปลายปี ดังนั้นรัฐบาลอาจจำเป็นต้องพิจารณาทางออกมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคเกษตรนอกเหนือไปจากการลดอุปสรรคสำหรับแรงงานต่างด้าวและนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฏหมาย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image