“วสท.”ชง”สกลฯโมเดล”ติดจีพีเอสบ้านในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศเพื่อเตือนปชช.ล่วงหน้า

นายธเนศ วีระศิริ นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวในงานแถลงข่าวโครงการวิศวกรอาสา วสท. ตรวจอาคารหนักน้ำท่วม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า จากอิทธิพลพายุร้อนเซินกา ส่งผลให้เกิดอุทกภัยร้ายแรงพื้นที่จังหวัดสกลนครนั้น วสท. พร้อมวิศวกรจิตอาสาจะลงพื้นที่ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ เพื่อสำรวจอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ว่ามีความเสียหายมากน้อยเพียงใด จะได้ประเมินสถานการณ์ ก่อนเร่งทำการซ่อมแซม รองรับกับพายุฝนที่อาจจะเข้ามาอีกระลอกในช่วง 20 วันนับจากนี้ อย่างไรก็ตาม จากรายงานข่าวเบื้องต้นทราบมาว่า มีความเสียหายบางจุดที่อ่างควาทกว้าง 20 เมตร รวมถึงบางสำนักข่าว รายงานว่ามีอีกจุดความกว้าง 50 เมตร ตรงนี้ต้องเร่งสำรวจ ประเด็นสำคัญจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าสามารถเข้าถึงจุดเสียหาย และตรวจสอบได้เร็วเพียงใด รวมถึงพื้นที่ที่จะให้มีอุปสรรคมากขนาดไหน ถ้าไม่ทุกอย่าวก็น่าจะทันฝนอีกระลอก

นายธเนศ กล่าวว่า สามเด้งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ถึงกรณีอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นแท้ที่จริงแตกหรือไม่แตก วสท. ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนในตอนนี้ แต่ตามหลักวิศวกรรมแล้วเห็นว่า คำว่าแตกในความหมายของรัฐบาล คือ ระดับน้ำทะลักอย่างรวดเร็วจากฐานอ่าง หรือเขื่อน แต่หากเป็นการกัน ยังมีพื้นที่ บางส่วนที่สามารถกักเก็บได้อยู่ เปรียบเสมือนโอ่ง ที่มีรอยรั่ว รอยซึมบางส่วน น้ำยังไม่ได้ไหลหมดโอ่งทั้งหมด ซึ่งถ้ามีการกัดเซาะนานๆ ไม่มีการซ่อมแซม สุดท้ายก็พังได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้รัฐบาลติดตั้งจีพีเอสตามบ้านเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประชาชนกำลังหวั่นวิตกบริเวณใกล้เขื่อน อ่างเก็บน้ำต่างๆ นอกจากรัฐบาลจะทราบจุดเสี่ยง แก้ไขได้ทันท่วงทีแล้ว ประชาชนยังสามารถอพยพไปพื้นที่ปลอดภัยได้ทัน และยังเข้ากับยุคไทยแลนด์ 4.0

“วสท. อยากเสนอสกลนครโมเดล คือ เอาแผนที่แบบละเอียดของจังหวัดสกลนครมาเทียบดูแต่ละพื้นที่ว่า มีพื้นที่ใดมีความชันสูงเท่าใด พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ลุ่ม พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ โดยติดระบบติดตามจีพีเอสในบ้านแต่ละหลัง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง แล้วนำมาบันทึกลงในระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์ เพื่อจะได้รู้ว่าเวลาฝนตกน้ำไหลไปทางไหนได้บ้าง แล้วเอาระบบเอ็นจิเนียริ่ง 4.0 มาจับว่าน้ำจะไหลไปเร็วแค่ไหน จะไหลไปถึงตัวเองในอีกกี่นาที กี่ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุ พื้นที่ใดจะเป็นพื้นที่เสี่ยงที่รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบแจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงที พร้อมกำหนดจุดพื้นที่อพยพที่มีความปลอดภัยไว้เลย เพื่อเวลาเกิดเหตุจะได้เป็นที่รู้กันของชาวบ้าน และไม่เกิดความตื่นตระหนก สบสน วุ่นวาย อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรจะนำข้อเสนอสกลนคร โมเดล ใช้กับทุกจังหวัดในประเทศไทย เพื่อป้องกันอันตรายจากภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครรู้ได้ และไม่รู้จะเกิดขึ้นแบบไหน จะได้ไม่เสียหายเหมือนครั้งนี้ หรือหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา” นายธเนศกล่าว

นายเอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติ วสท. กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สกลนคร พบว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกต่อเนื่อง 3 วัน ที่อำเภอเมืองสกลนคร มีปริมาณ 340 มิลลิเมตร(มม.) เป็นปริมาณน้ำฝนในคาบการเกิดซ้ำ (Return Period) 200 ปี หรือโอกาส การเกิดปริมาณน้ำแบบนี้ 200 ปีมีครั้ง วสท. เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้โดยพัฒนาจากผิวดินเดิมมาเป็นลานคอนกรีต และอาคารต่างๆ จะทำให้ปริมาณน้ำเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดการใช้พื้นที่ผ่านงานผังเมืองอย่างจริงจัง ศึกษาสภาพการใช้พื้นที่ ที่ไปกีดขวางทางน้ำในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่มีสภาพน้ำท่วมบ่อยครั้ง นอกจากนั้น ปริมาณน้ำที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ รัฐบาลควรจูงใจเจ้าของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพิ่มอัตราส่วนพื้นที่ก่อสร้างต้องขนาดใหญ่ หรือจูงใจแบบภาษีโรงเรือน จัดสร้างบ่อหน่วงน้ำท่า และสระหน่วงน้ำหลาก ช่วยแก้ป้องกันปัญหาอุทกภัยได้อีกทางหนึ่ง

Advertisement

ผศ.ศิริลักษณ์ ชุ่มชื่น ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า สาเหตุน้ำท่วมในจังหวัดสกลนคร นอกจากปริมาณน้ำฝนมหาศาล ยังมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำที่มาจากการพัฒนาเมืองไปกีดขวางเส้นทางระบายเดิม ตามข้อมูลของประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. ฝนที่ตกหนักบนเทือกเขาภูพานปกติแล้ว ส่วนหนึ่งจะต้องไหลลงมารวมกันที่หนองหาร ในอดีตจะเป็นพื้นที่ว่าง ห้วยหนองคลองบึงเล็กๆ ไว้คอยรองรับและระบายน้ำจากส่วนนี้ แต่ปรากฏ จุดที่จะสามารถระบายน้ำลงหนองหานปัจจุบันกลายเป็นสนามบิน ห้างสรรพสินค้า และสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนมากมาย ทำให้น้ำในส่วนนี้ไม่มีทางระบาย ประกอบกับปริมาณน้ำในหนองหารที่มากอยู่ ก็ยิ่งทำให้เป็นอุปสรรคในการระบายจนกลายเป็นสาเหตุประการหนึ่งของวิกฤตครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image