11 มี.ค.ทรู ประเดิมจ่ายค่าประมูล 4จี คลื่น 900 งวดแรกกว่า 8,000 ล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมาได้รับหนังสือแจ้งจาก บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ว่า จะนำเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 4 จี งวดแรก จำนวน 8,040 ล้านบาทพร้อมอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% และ หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน(แบงก์การันตี) ในวงเงินประมูลที่เหลือทั้งหมด หรือราว 68,258 ล้านบาท มามอบให้แก่ กสทช. ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ โดยยึดเวลาส่งมอบตามฤกษ์ทางธุรกิจ ในเวลา 13.39 น.

นายฐากร กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์มอบเงินค่าประมูลงวดแรก และแบงก์การันตีให้แก่ กสทช. แล้ว บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส ในฐานะผู้ใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ตามสัญญาสัมปทานเดิม ที่ปัจจุบันยังคงได้สิทธิ์ใช้งานอย่างต่อเนื่องตามมาตรการเยียวยานั้น จะต้องยุติการให้บริการทั้งหมดบนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ หรือ ซิมดับ ซึ่งล่าสุดทาง ทรู จึงได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม พร้อมอ้างมาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ที่ว่าด้วยการป้องกันประโยชน์สาธารณะในกรณีฉุกเฉิน โดยขอให้ เอไอเอส และบริษัทลูก คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด สามารถใช้งานคลื่นความถี่ในส่วนของ ทรู ต่อไปได้อีก 3 เดือน โดย ทรู ให้เหตุผลว่าไม่ต้องการเป็นผู้ร้ายให้ลูกค้าเอไอเอสซิมดับ และเพื่อให้เอไอเอส สามารถใช้เวลาที่เหลืออยู่อีก 3 เดือนเพื่อโอนย้ายลูกค้า 2จีออกจากระบบ โดยปัจจุบัน เอไอเอส เหลือลูกค้าใช้ซิมการ์ดที่ค้างการใช้งานอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ราว 800,000 ราย และลูกค้าที่ใช้ซิมการ์ดบนคลื่นความถี่อื่นแต่ใช้บริการเชื่อมโยงข้ามโครงข่าย(โรมมิ่ง) เพื่อใช้งานบนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ราว 7 ล้านคน

นายฐากรกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การที่ทรูขอให้เอไอเอสใช้งานคลื่นความถี่ 900 ต่อไปอีก 3 เดือนนั้น ทางทรูได้ยื่นเงื่อนไขว่า เอไอเอส จะต้องจ่ายค่าเช่าใช้งานคลื่นความถี่ให้แก่ ทรู ในอัตรา 450 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นมูลค่าที่เฉลี่ยมาจากราคาคลื่นความถี่ที่ทรูประมูลมาได้และหารด้วยจำนวนเดือนที่ทรูมีสิทธิ์ใช้งาน โดยราคาดังกล่าวยังไม่นับรวมรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย หรือกำไรที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการที่ เอไอเอส จะต้องส่งมอบให้ทรู และค่าเช่าใช้งานโครงข่ายคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เอไอเอส ต้องจ่ายให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) โดยการกำกับดูแลในเรื่องของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทางทรู ขอมอบให้ กสทช. เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของทรู ทาง กสทช. ยังไม่สามารถให้การตอบรับหรือปฏิเสธ เนื่องจากต้องมีการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) พิจารณา ในวันที่ 8 มีนาคมก่อนว่าสามารถทำได้ตามที่ทรู เสนอหรือไม่ รวมถึงต้องสอบถามความเห็นจากทางเอไอเอสด้วยว่าจะยินยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ด กทค. ในวันที่ 8 มีนาคมนี้ นอกเหนือจากเรื่องเงื่อนไขของทรูแล้ว บอร์ด กทค. จะพิจารณา ข้อร้องเรียนของ บริษัท เรียลมูฟ จำกัด ในเครือ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ร้องเรียน กสทช. ว่า เอไอเอส และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ขัดขวางการโอนย้ายลูกค้าแบบคงสิทธิเลขหมาย(ย้ายค่ายเบอร์เดิม)มายัง ทรู โดยอ้างการดำเนินงานของลูกค้าใช้เอกสารไม่ครบ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image