แจสหลังพิงฝา งัดทุกกระบวนท่าฝ่าวิกฤต ก่อนถึงเส้นตายจ่ายค่าประมูล4จี21มี.ค.นี้

หากนับถอยหลังไปจนถึงวันที่ 21 มีนาคมนั้น ในขณะนี้ก็เหลือระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ที่ถึงเวลาหรือเส้นตายที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้ผู้ชนะการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ทั้ง 2 ราย คือบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ชนะการประมูลไปในราคา 75,654 ล้านบาท และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ชนะการประมูลไปในราคา 76,298 ล้านบาท ต้องนำเงินค่าประมูลงวดที่ 1 จำนวน 8,040 ล้านบาท และหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน (แบงก์การันตี) เท่ากับจำนวนเงินประมูลที่เหลืออยู่ทั้งหมด มามอบให้แก่ กสทช.ก่อนวันที่ 21 มีนาคม 2559

แต่จนถึงวันนี้ ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ฝันใกล้เป็นจริง เพราะได้ดำเนินการครบตามเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตมากที่สุดก็คือ ทรู เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ประกาศความสำเร็จชนิดหืดจับ หลังจากได้จับมือกับผู้สนับสนุนทางการเงินทั้ง 6 แห่ง ที่จะเป็นผู้อออกแบงก์การันตีให้แก่ทรู เป็นอันครบเงื่อนไขในการรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์จาก กสทช. คงเหลือเพียงแต่ให้ซินแสเคาะวันและช่วงเวลาที่เป็นฤกษ์งามยามดีในการเข้ามาชำระเงินเท่านั้น เช่นเดียวกับเมื่อครั้งจ่ายเงินและมอบแบงก์การันตีเพื่อรับใบอนุญาต 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา

– แจส ขอผ่อนจ่ายใบอนุญาต 4จี

จะเหลือก็แต่แจสที่อาการน่าเป็นห่วง เพราะจนป่านนี้ยังคงเงียบฉี่ ไร้วี่แววของการดำเนินการตามเงื่อนไขในการรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์แต่อย่างใด อีกทั้งข่าวคราวที่ออกมาในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่สู้ดีนัก บอกได้เป็นอย่างดีว่า แจสยังไม่สามารถพิชิตเงื่อนไขเงินค่าประมูล 8,040 ล้านบาท และแบงก์การันตีงวดที่เหลือ โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า แจสได้มาหารือกับ กสทช. ใน 2 เรื่อง คือ 1.สอบถามว่า จะสามารถเลื่อนเวลาการจ่ายค่าใบอนุญาต 4จี บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดที่ 1 วงเงิน 8,040 ล้านบาท หรือจะขอจ่ายเงินงวดแรกบางส่วนและแบงก์การันตี รวมประมาณ 20,000 ล้านบาทได้หรือไม่ ซึ่งทาง กสทช.ยืนยันไปว่าไม่ได้ เพราะต้องดำเนินการไปตามข้อกำหนด

“การไม่ชำระเงินค่าประมูลตามกำหนดยังส่งผลกระทบว่า อาจเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในใบอนุญาตประกอบการอื่นๆ ที่ได้รับจาก กสทช. ที่ใช้ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบันด้วย และโดนฟ้องร้องค่าเสียหาย ทั้งในแง่ของมูลค่าความเสียหาย และผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากความล่าช้าในการได้ใช้สัญญาณ 4จี ยังไม่รวมถึงชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทที่จะต้องเสียไป หากไม่มาชำระเงินค่าประมูลงวดแรก”

Advertisement


– พิชญ์ รุกเจรจาสุดกำลัง

2. แจส จะให้ความชัดเจนแก่ กสทช. ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ว่าจะมาชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์งวดที่ 1 เต็มจำนวน พร้อมแบงก์การันตีหรือไม่ พร้อมแจ้งด้วยว่าขณะนี้ นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาอย่างสุดความสามารถกับสถาบันการเงินเพื่อขอวงเงินกู้ และออกแบงก์การันตีให้แก่แจส

สำหรับสถานการณ์ของแจสในเวลานี้ นายฐากรกล่าวว่า หากแจสต้องการดำเนินการตามประเด็นที่ปรึกษาเข้ามาจริง ทั้งการขอเลื่อนระยะเวลา หรือการดำเนินการชำระเงินและวางแบงก์การันตีแค่บางส่วนก่อน ก็ขอให้แจสมีหนังสือทำเรื่องเข้ามาอย่างเป็นทางการ พร้อมกับนำเงินและแบงก์การันตีที่แจ้งว่าจะชำระบางส่วนนั้นมามอบให้แก่ กสทช. จากนั้น สำนักงาน กสทช. จึงจะทำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อให้บอร์ด กทค.พิจารณาว่าทำได้หรือไม่ และหากทำแล้วจะถูกผู้แพ้ประมูล 2 รายฟ้องร้องหรือไม่

สาเหตุที่ทำให้แจสต้องเข้าตาจนเช่นนี้ แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมได้ให้ข้อมูลว่ามาจากการที่พันธมิตรทางธุรกิจที่ได้เจรจาร่วมมือกันมาก่อนเข้าประมูล คือกลุ่ม เอสเค เทเลคอม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในเกาหลีใต้ เกิดถอนตัวกะทันหัน หลังแจสชนะการประมูล 4จี ส่งผลให้แจสสูญเสียพันธมิตรทางธุรกิจที่จะเข้ามาช่วยเหลือด้านเงินทุนรายใหญ่ไป

Advertisement

และโดยลำพังแล้ว แจสไม่สามารถกู้เงินหรือขอใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ขอค้ำประกันจากสถาบันการเงินได้ สอดคล้องกับที่แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพออกมาให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาทางธนาคารกรุงเทพได้มีการเจรจาและตีกลับแผนการดำเนินธุรกิจและขอสินเชื่อของแจสไปแล้ว อีกทั้งยังได้แนะนำให้แจสเพิ่มทุนหรือหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีมาร่วมด้วย เพื่อทำให้แผนธุรกิจมีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากแผนดังกล่าวจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ขอสินเชื่อจะสามารถมีรายได้เพิ่มเติมจากแหล่งใด และจะมีศักยภาพมากเพียงพอในการชำระหนี้คืนหรือไม่

– เลยเส้นตายโดนฟ้อง-ริบใบอนุญาตอื่น

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จะไม่นำเงินค่าประมูลงวดแรกพร้อมแบงก์การันตี มาชำระให้แก่ กสทช. นั้น ทางสำนักงาน กสทช.ยังคงเชื่อมั่นว่าผู้ชนะการประมูลสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไข เพราะยังคงมีเวลาอีกหลายวันจนกว่าจะถึงวันที่ 21 มีนาคมนี้ แต่หากผู้ชนะการประมูลไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขได้ทันเวลาที่หลักเกณฑ์กำหนดไว้ ผู้ชนะการประมูลไม่เพียงแต่จะต้องถูกริบหลักประกันจำนวน 644 ล้านบาทเท่านั้น แต่จะต้องรับผิดชอบด้วยการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วย ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากจะต้องมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ใหม่เต็มจำนวน

“การไม่ชำระเงินค่าประมูลตามกำหนดยังส่งผลกระทบต่อการเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในใบอนุญาตประกอบการอื่นๆ ที่ได้รับจาก กสทช. ที่ใช้ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบันด้วย คือ 3บีบี หรือทรีบรอดแบนด์ โมโน 29 (ทีวีดิจิตอล) และจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ทั้งในแง่ของมูลค่าและผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากความล่าช้าในการได้ใช้สัญญาณ 4จี ยังไม่รวมถึงชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทที่จะต้องเสียไป หากไม่มาชำระเงินค่าประมูลงวดแรก” นายฐากรกล่าว

นายฐากรกล่าวด้วยว่า หากมีผู้ประกอบการไม่ทำตามเงื่อนไขจนต้องประมูลใบอนุญาตใหม่ กสทช. จะกำหนดให้มีราคาตั้งต้นการประมูลเท่ากับราคาเดิมที่ผู้ชนะการประมูลเดิมประมูลได้ก่อนทิ้งงานไป แต่หากไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าประมูล ทาง กสทช.ก็จะเก็บคลื่นไว้อย่างน้อย 1 ปี

– ทรูขอจ่ายก่อนไม่รอแจส

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของทรู จะชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกพร้อมส่งมอบแบงก์การันตีให้แก่ กสทช. ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ โดยจะไม่รอผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์อีกรายว่าจะสามารถชำระค่าใบอนุญาตได้หรือไม่ เนื่องจาก กสทช.ได้แจ้งว่า หากผู้ชนะการประมูลอีกรายไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดในวันที่ 21 มีนาคมนี้ จะมีการจัดประมูลใหม่ภายใน 2-3 เดือน โดยจะใช้ราคาตั้งต้นการประมูลที่ 75,000 ล้านบาท แต่หากไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลก็จะพักการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ไว้ 1 ปี

“หลังชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ยอมรับว่ามีเวลากระชั้นชิด ทางทรูจึงได้เร่งดำเนินการตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสปี 2558 จนมาถึงช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา กว่าจะได้ข้อสรุปต้องขอบคุณทุกสถาบันการเงินที่ทำให้ได้วงเงินของแบงก์การันตีครบถ้วน ทรูจะนำคลื่นความถี่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบสนองความต้องการ ทั้งบริการ 2จี , 3จี และ 4จี” นายศุภชัยกล่าว

แม้นายศุภชัยจะพูดชัดแล้วว่า ทางทรูเตรียมเข้าป้ายก่อนเส้นตาย แต่กรณีเลวร้าย หากแจสไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามเวลาจริง ความกดดันมหาศาลต้องตกไปที่ทรูอย่างแน่นอน เพราะราคาที่แจสชนะการประมูลนั้นเป็นราคาที่ผู้บริหารของผู้ตกรอบการประมูลอีก 2 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ประเมินมาแล้วราคาสูงเกินกว่าความคุ้มค่าในการประกอบธุรกิจ ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่า คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์จะถูกพักการประมูลไป 1 ปี รวมถึงหากมีการนำกลับมาประมูลใหม่ก็เป็นการยากที่ราคาประมูลจะสูงเท่าเดิม เนื่องจากในเวลาใกล้เคียงกันนั้นก็จะมีคลื่นความถี่อื่นๆ เปิดประมูลตามมาอีกมากมายหลังหมดสัญญาสัมปทาน อาทิ คลื่นความถี่ย่าน 2600, 1800 และ 850 เมกะเฮิรตซ์ ทรูจึงอาจเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตแพงสุดในตลาด แลกกับการมีคลื่นใช้งานก่อนคู่แข่ง

งานนี้จึงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า บทสรุปของการรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จะลงเอยอย่างไร!!

แต่ที่แน่ๆ แจสคงต้องงัดทุกกระบวนท่าเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ เพราะ กสทช.บอกชัดเจนแล้วว่า หากเบี้ยวก็จะโดนถอดสิทธิทุกใบอนุญาตที่มีกับ กสทช. นั่นคือ ใบอนุญาตผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตภายใต้แบรนด์ “3บีบี” และใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่อง “โมโน 29” ที่กำลังไปได้ดีทั้ง 2 ธุรกิจ

หากทำไม่ได้ หายนะมาเยือนแจสแน่นอน ฉะนั้นเมื่อยังมีโอกาสอยู่ก็คงต้องสู้ สู้ และสู้ อย่างเดียวเท่านั้น!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image