เอสเอ็มอีร้อง “สมคิด” ทบทวนเงื่อนไขเวนเจอร์แคปปิตอล ทำธุรกิจไม่กำไรต้องจ่ายผลตอบแทน ซ้ำเติมธุรกิจ

นายอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูมิซอฟต์ จำกัด พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มบริษัทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในธุรกิจไอที รวม 7 ราย ร่วมกันแถลงข่าวที่ห้องประชุม บริษัท อินสเต็ป ว่า ก่อนหน้านี้ได้รวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและขอให้พิจารณาเรื่องสัญญาร่วมลงทุนของกองทุนรวมเพื่อร่วมลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเวนเจอร์แคปปิตอลของรัฐบาลกองแรกของไทย ในสมัยที่นายสมคิด ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในปี 2548 เนื่องจากเงื่อนไขของสัญญาคล้ายสัญญาเงินกู้ แตกต่างจากเงื่อนไขเวนเจอร์แคปปิตอลของภาคเอกชน หรือตามเงื่อนไขสากล

นายอาภรณ์เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีที่รวมตัวกัน 7 รายนี้ แต่ละรายร่วมลงทุนในกองทุนฯ รายละประมาณ 1-25 ล้านบาท สำหรับรายละเอียดของเวนเจอร์แคปปิตอลกองนี้เริ่มในปี 2548 และหมดอายุสัญญาในปี 2553 มีมูลค่ากองทุน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนจริงในเอสเอ็มอีประมาณ 50 บริษัท รวมเงินประมาณ 200 กว่าล้านบาท และนำส่วนที่เหลือไปลงทุนในตราสารหนี้

“ในสัญญาระบุว่าหากเอสเอ็มอีไม่มีกำไร จะต้องจ่ายคืนกองทุนในราคาลงทุนบวกผลตอบแทน 6-15% ต่อปี เงื่อนไขดังกล่าวมีลักษณะคล้ายสัญญาเงินกู้ เป็นการซ้ำเติมเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัว ไม่เข้าเกณฑ์เวนเจอร์แคปปิตอลสากล และผิดวัตถุประสงค์การตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทางกลุ่มเอสเอ็มอีจึงยื่นหนังสือต่อรองนายกรัฐมนตรี และเตรียมที่จะยื่นหนังสือต่ออนุกรรมการดำเนินการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเร็วๆ นี้ ภายหลังที่ได้มีการเจรจากับทางการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนแล้ว โดยบลจ.วรรณให้คำตอบว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคำสั่งรัฐบาล บลจ.ไม่มีอำนาจ” นายอาภรณ์กล่าว

นายอาภรณ์กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่อยากเสนอให้รัฐบาลทบทวนคือควรให้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบซื้อหุ้นคืนในราคาตามมูลค่าทางบัญชี ณ ปัจจุบัน และให้เวลาซื้อคืนภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นราคาที่เป็นธรรมกว่า เนื่องจากมองว่าประเด็นปัญหาหรือเรื่องสอดไส้ภายในเงื่อนไขของเวนเจอร์แคปปิตอลเป็นเรื่องสำคัญ สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ส่วนความคืบหน้าในขณะนี้ อยู่ระหว่างการโดนไล่ซื้อหุ้นคืน และบางรายมีการฟ้องร้องคดีจบไปแล้ว

Advertisement

นายสร้างบุญ แสงมณี ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อุ๊คบี จำกัด หรือธุรกิจให้บริการสื่อสิ่งพิมพ์รูปแบบดิจิทัล เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีการลงทุนผ่านเวนเจอร์แคปปิตอลควรจะศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขสัญญาให้รอบคอบ ทั้งนี้มองว่าสตาร์ทอัพยังคงให้ความสนใจกับเวนเจอร์แคปปิตอลของภาครัฐมากกว่าเอกชน เพราะเข้าถึงง่ายกว่า และมีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในเชิงกลยุทธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image