“รถไฟไทย-จีน”คืบอีกก้าว หลังปลดล็อกดอกเบี้ยกู้เหลือ2% ลุ้นกล่อมเพิ่มสัดส่วนลงทุน

“อาคม”เผยจีนยอมลดดอกเบี้ยกู้เหลือ 2% รอคลังเร่งศึกษารูปแบบลงทุน ดันจีนเพิ่มสัดส่วนลงทุนมากกว่าไทย สรุปก่อนประชุมครั้ง 10 ที่ปักกิ่งหลังตรุษจีน “อาคม”ให้มั่นใจ พ.ค.นี้เริ่มก่อสร้างแน่ ด้านรางไทย-ญี่ปุ่น 27 ม.ค.ทดลองขนส่งสินค้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ทางการจีนยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด เหลือ 2% จากเดิมที่กำหนดไว้ 2.5% ตามที่ไทยได้เสนอไปแล้ว โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการลงทุน เพื่อให้จีนมีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าไทย เบื้องต้นพิจารณาสัดส่วน 60 ต่อ 40 หรือ 70 ต่อ 30 ส่วนจะใช้รูปแบบไหนขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงการคลัง

“การหารือล่าสุดระหว่างนายสมคิดและนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน ได้รับปากไทยแล้วว่าจะให้ดอกเบี้ยตามที่ไทยเสนอคือ 2% ดังนั้นเรื่องดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ปัญหา เรื่องที่ต้องหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปจะเป็นสัดส่วนการลงทุนมากกว่า ซึ่งก่อนที่จะสรุปสัดส่วนต้องหาข้อสรุปเรื่องต้นทุนการก่อสร้างให้ได้ก่อน โดยรองนายกรัฐมนตรีได้ให้เวลากระทรวงการคลังพิจารณา 1 เดือน ก่อนที่กระทรวงคมนาคมจะเดินทางไปประชุมครั้งที่ 10 กับจีน ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์นี้” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า การที่จีนมีสัดส่วนลงทุนมากกว่าไทยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโครงการรถไฟไทย-จีน แต่จีนต้องรองรับความเสี่ยงมากกว่าไทย ทั้งในเรื่องของปริมาณการขนส่งสินค้าและปริมาณผู้โดยสาร โดยสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวจะอยู่ภายใต้บริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นมาร่วมกัน ซึ่งตามแผนงานก็จะต้องใช้เทคโนโลยีของจีนอยู่แล้ว ส่วนแผนการเดินรถยังคงเหมือนเดิม คือให้จีนดำเนินการใน 3 ปีแรก เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทย ก่อนที่ไทยจะเดินรถเอง

Advertisement

นายอาคมกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ได้ยื่นไปแล้ว เนื่องจากจะต้องนำสถานีบ้านภาชีมาก่อสร้างในโครงการรถไฟไทย-จีนด้วย จากเดิมที่จะต้องก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งจะดำเนินการได้ช้ากว่า ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบต่อกำหนดการก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2559

“ระยะแรกจะสร้างจากกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมาก่อน จากนั้นจะเป็นช่วงนครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ตามแผนงานที่กำหนดแน่นอน” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า วันที่ 27 มกราคมนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมมือกับญี่ปุ่น ภายใต้โครงการความร่วมมือระบบรางไทย-ญี่ปุ่น เปิดทดลองเดินรถไฟขนส่งสินค้า เส้นทางหนองปลาดุก-บางซื่อ ก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ต่อไป ภายหลังญี่ปุ่นได้ศึกษาแล้วพบว่ารถไฟเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง สามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ทั้งขนส่งสินค้าและขนผู้โดยสารได้ เบื้องต้นจะเปิดบริการขนส่งสินค้าโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ จากนั้นจะปรับปรุงให้เป็นรถไฟทางคู่และเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาเดินทางได้มาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image