กสทช. เร่งถกแบงค์ชาติ ดันมาตรการภาษีโอทีทีร่วมกัน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ หัวข้อกิจการแพร่ภาพและกระจายเสียงบนอินเตอร์เน็ต Over The Top (โอทีที) ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมจากประเทศสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย กัมพูชา บรูไน ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศอาเซียน และผู้ให้บริการโอทีทีเข้าร่วม ภายหลังจากการประชุมดังกล่าว ได้มีการหารือภายในสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน (ATRC)

ผลการประชุมได้ข้อสรุปเป็นหลักการในเบื้องต้นที่จะดำเนินการร่วมกันในการส่งเสริมและรองรับการให้บริการโอทีที ในภูมิภาคอาเซียน 3 ข้อ ได้แก่ 1.การส่งเสริมและกำกับดูแลระหว่างอุตสาหกรรมและระหว่างองค์กรกำกับดูแลเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศในด้านภาษี. 2. การสร้างสภาวะการแข่งขันที่เหมาะสมและเท่าเทียมกันในการให้บริการโอทีที ระหว่างผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมกับผู้ให้บริการโอทีที และระหว่างผู้ให้บริการโอทีที รายใหญ่กับรายเล็ก 3. การส่งเสริมเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้ากันได้ของระบบต่างๆ จะเน้นเรื่องเนื้อหาที่นำมาให้บริการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย โดยหลังจากนี้จะนำหลักการดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม ATRC เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป ในระหว่างนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถจะดำเนินการภายใต้หลักการดังกล่าว และกฎหมายของประเทศตัวเองได้

นายฐากร กล่าวว่า ทั้งนี้ กสทช. จะนำหลักการดังกล่าวมาดำเนินการส่งเสริมและรองรับการให้บริการ ของประเทศไทยใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1. นโยบายด้านภาษี โดยกสทช. พร้อมเป็นหน่วยงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อให้สินค้าและบริการโอทีที ที่มีรายได้จากการให้บริการในประเทศไทยดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ หรือแนวปฏิบัติด้านภาษีอากรของประเทศไทย 2. การคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ในส่วนของการเผยแพร่ผ่านบริการโอทีที ประเภทการสื่อสารผ่านโซเชียล มีเดีย และการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมตามกฎหมายของประเทศไทย โดยจะใช้วิธีการขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการโอทีที ออกแนวปฏิบัติ (Code of Conduct) ในเรื่องดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทย และ 3. การส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน อย่างกรณีผู้ให้บริการโอทีที ที่มาลงทะเบียนกับผู้ให้บริการที่ไม่มาลงทะเบียน และกรณีของผู้ให้บริการโทรคมนาคมซึ่งถูกกำกับดูแลด้วยกฎระเบียบต่างๆ ในขณะที่ผู้ให้บริการ โอทีที ยังไม่ถูกกำกับดูแล โดยสำนักงาน กสทช. สนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการแข่งขันสำหรับการประกอบกิจการของผู้ให้บริการ โอทีที ในปัจจุบัน รวมถึงบริการโอทีที ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสามารถร่วมมือกับผู้ให้บริการ โอทีที หรือสามารถแข่งขันในการประกอบกิจการกับผู้ให้บริการโอทีที บนกฎ กติกา เดียวกัน และให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการที่หลากหลาย จะไม่มีการปิดกั้นบริการโอทีที ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“สำหรับหลักการดังกล่าวนี้ กสทช. จะนำส่งให้คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top ที่มีพ.อ.นที ศุกลรัตน์รองประธาน กสทช. เป็นประธาน เพื่อนำไปประกอบการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไปในเดือนตุลาคม รวมทั้งกสทช. เตรียมเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งถือเป็นผู้ควบคุมเนชั่นเนล เพย์เม้นท์ เกตเวย์ หรือควบคุมเงินไหลเข้าออก เพื่อร่วมกันออกมาตรการในการเก็บภาษีโอทีทีต่อไป”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image