กนอ.เตรียมพื้นที่รองรับอีอีซี 5 หมื่นไร่ ใน 3 ปี พร้อมถมทะเลดันท่าเรือมาบตาพุด สร้างนิคมสมาร์ทพาร์ค

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หนังสือพิมพ์มติชนจัดสัมมนา ในหัวข้อ “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” ซึ่งถือเป็นการจัดสัมมนาครั้งที่ 3 ในรอบปีที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวสู่ปีที่ 40

ช่วงการเสวนาเชิงนโยบาย “6เดือนกับความร่วมมือของภาครัฐ” ดำเนินรายการโดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการฯอีอีซี และร่วมเสวนาโดย นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ การถไฟแห่งประเทศไทย พลเรือตรีวรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และผู้ช่วยเลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า ภารกิจของกนอ.คือการดูแล เตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับอีอีซี 50,000 ไร่ ภายในช่วง 3 ปีนับจากนี้ ปัจจุบันมีประมาณ 34,000 ไร่ที่พัฒนาแล้ว เหลือพัฒนาอีกประมาณ 16,000 ไร่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่ ขณะนี้มีเอกชนสนใจแล้ว 6,000 ไร่ ระยะต่อไปคาดว่าจะมีเอกชนซึ่งมีที่ดินในมือแสดงความสนใจลงทุนใน 10,000 ไร่ที่เหลือแน่นอน ซึ่งการพัฒนาพื้นที่จะไม่มีการเวนคืนที่ดินจากประชาชน ไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ประชาชนแน่นอน

สำหรับโครงการลงทุนที่กนอ.รับผิดชอบจะมี 2 เรื่อง คือการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดส่วนขยาย วงเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท โครงการนี้จะมีการถมทะเลด้วย เพื่อทำให้ท่าเรือมาบตาพุดตอบโจทย์การขยายตัวของอุตสาหกรรมในอีอีซี โดยโครงการจะเข้าสู่กระบวนการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน(พีพีพี) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2561 และเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการปลายปี 2561

Advertisement

นอกจากนี้ กนอ. ยังอยู่ระหว่างพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค จำนวน 1,400 ไร่ โดยจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบรองรับอุตสาหกรรม 4.0 เพราะจะเน้น 4 อุตสาหกรรรมสำคัญ คือ โลจิสติกส์ อากาศยาน การแพทย์ และหุ่นยนต์ นอกจากนี้ระบบสาธารณูปโภคในนิคมฯจะเน้นอุตสาหกรรมสีเขียว ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

“นอกจากอุตสาหกรรมสำคัญแล้ว นิคมฯสมาร์ทพาร์ค จะเน้นอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรของพื้นที่อีอีซี อาทิ ผลไม้ที่โด่งดังและส่งออกจำนวนมาก รวมทั้งอาหารทะเล โดยจะมีการจัดตั้งตลาดกลาง มีระบบการจัดเก็บใช้ความเย็นคุณภาพสูงเพื่อเก็บรักษาก่อนส่งออกทางทะเล โดยได้หารือกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ในการใช้พลังงานความเย็นจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปตท. คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆนี้” นายวีรพงศ์กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image