กอบศักดิ์ ชู ยุคประยุทธ์มีอีอีซี ประตูสู่เอเชีย เร่งทำพีพีพี ให้ลงเม็ดเงินกลางปีหน้า

“กอบศักดิ์” เปรย สมัยนายกฯประยุทธ์มีอีอีซี คือประตูสู่เอเชีย เร่งทำพีพีพีในอีอีซีให้ลงเม็ดเงินกลางปีหน้า

เมื่อวันที่ 21 กันยายน เวลา 08.00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานสัมมนา “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” จัดโดยมติชน ร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “การลงทุนรัฐ-เอกชน ในอีอีซี” ว่า คนจีนบอกว่าอยากให้พื้นที่ไหนรุ่งเรือง ให้เอาถนน โครงสร้างพื้นฐานไปให้ ความเจริญจะตามมาเอง ไทยก็เช่นกันต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ อากาศ บก ราง ทั้งหมดที่ต้องทำก็จะช่วยเชื่อมพื้นที่ให้เกิดความเจริญ และสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) รวมเป็นซีแอลเอ็มวีที ซึ่งกลางปีหน้าจะร่วมกันทำ CLMVT master plan มีประชากรรวมกัน 230 ล้านคน โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ

นายกอบศักดิ์ ระบุว่า ขณะนี้เรากำลังทำรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์สายต่างๆ รถไฟฟ้า ซึ่งจะทำครบ 10 เส้นทางใน 2 ปีข้างหน้า และขณะนี้โครงการพื้นฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่าจะมีมูลค่ารวมกันเกิน 2 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม งบประมาณกว่า 60% รัฐกู้ยืมมาลงทุน แต่มีโครงการจำนวนมาก แทนที่จะใช้เงินรัฐอย่างเดียว ก็สามารถให้เอกชนมาร่วมทุน ทำให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (พีพีพี)ในช่วงผ่านมา และนำมาทำในอีอีซี เกิดเป็นกระบวนการพีพีพีในพื้นที่อีอีซี

นายกอบศักดิ์ ระบุอีกว่า พีพีพีในพื้นที่อีอีซีตั้งใจทำโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ซึ่งจะเป็นประตูสู่อินโดจีน อาเซียน และเอเชีย หากสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ และอดีตนายกรัฐมนตรี มีคำว่าโชติช่วงชัชวาลย์ สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี มีคำว่าเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามค้า ดังนั้นสมัยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีอีอีซีเป็นประตูสู่เอเชีย ซึ่งโครงการนี้จะเป็นคลื่นลูกใหม่ ดึงดูดการลงทุนรอบใหม่ เป็นประตูอาเซียนด้วย ซึ่งมีตลาดใหญ่ถึง 600 ล้านคน โครงการสำคัญที่จะทำในอีอีซี ทั้งสนามบิน ท่าเรือ รถไฟ เมืองใหม่ มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ จะให้เอกชนมาแบ่งเบาภาระ ในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว แต่ในส่วนท่องเที่ยวจะใช้เม็ดเงินเอกชนเอง มูลค่ารวมกันเกือบ 1.5 ล้านล้านบาท ตรงนี้นักลงทุนต่างชาติตาเป็นประกายและบอกว่ารอมา 15 ปี นี่คือพื้นที่ใหม่สามารถมาลงทุนได้

Advertisement

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาของพีพีพี ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 เป็นกระบวนการใช้เวลา ตั้งแต่การเตรียมโครงการจนคัดเลือกเอกชน ใช้เวลา 40 เดือน จึงเกิดการปรับปรุงมีพีพีพีฟาสต์แทร์ค เหลือ20 เดือน แต่สำหรับพีพีพีในอีอีซีก็ยังรอไม่ได้ เพราะอีอีซีเป็นพื้นที่ที่มีอยู่แล้วมาตั้งแต่อดีต นำมาซึ่งรายได้ให้ไทย แต่สิ่งที่มีในปัจจุบันเป็นบุญเก่า ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ต้องทำโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือน้ำลึกใหม่ ถ้าใช้เวลาดำเนินการ 20 เดือน รอไม่ได้ จึงหาทางทำอีอีซีซุปเปอร์ฟาสต์แทร็ค มีการใช้มาตรา 44 ให้อำนาจพีพีพีในอีอีซีโดยเฉพาะ ลดเวลาเหลือแค่ 10 เดือน ตั้งแต่ศึกษาจนคัดเลือกเอกชนได้ ที่เร็วขึ้นมีหลักการสำคัญ เป็นสิ่งที่ทำแน่ เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา เมื่อทำแน่ก็ดำเนินการไปพร้อมๆ กันได้เลย  โดยทำ 3 เรื่องพร้อมกัน ทั้งทดสอบความเป็นไปได้ของโครงการ ตั้งกรรมการคัดเลือก และร่างทีโออาร์ไว้รอ ตัดขั้นตอนต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกประหยัดเวลาได้มาก ใส่ความโปร่งใส การตรวจสอบถ่วงดุลเข้าไป ประชาชนมีส่วนร่วม และทำโครงการให้สำเร็จให้ได้

“โดยภายในสัปดาห์หน้าระเบียบของพีพีพีในอีอีซีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และภายใน 1-2 เดือนหน้าจะมีเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม รับฟังความเห็นจากภาคเอกชนในโครงการต่างๆ ขณะเดียวกันโครงการสนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) รถไฟความเร็วสูง การพัฒนาเมืองใหม่ จะเป็นโครงการที่เร่งดำเนินการในปีนี้ ส่วนการออกทีโออาร์โครงการจะเสร็จปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า คัดเลือกเอกชนให้เสร็จกลางปีหน้า และเริ่มลงทุนก่อสร้าง ทั้งหมดนี้จะเป็นเป้าหมายที่จะดำเนินการต่อไป” นายกอบศักดิ์ ระบุ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image