บีโอไอชูสิทธิประโยชน์ลงทุนอีอีซี เล็งออกแพคเกจใหม่สิ้นปี ชี้ 500 บ.ญี่ปุ่น สอดรับแผนโรดโชว์ปี61

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หนังสือพิมพ์มติชนจัดสัมมนา ในหัวข้อ “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” ซึ่งถือเป็นการจัดสัมมนาครั้งที่ 3 ในรอบปีที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวสู่ปีที่ 40

ช่วงการเสวนาเชิงนโยบาย “6เดือนกับความร่วมมือของภาครัฐ” ดำเนินรายการโดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี และร่วมเสวนาโดย นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการถไฟแห่งประเทศไทย พลเรือตรีวรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ตอนนี้ภาคตะวันออกคือพื้นที่ที่มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนอันดับหนึ่ง โดยอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่ลงทุนในภาคตะวันออก คือ ยานยนต์ เคมีและปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบทบาทของบีโอไอ ขณะนี้ได้บังคับใช้กฎหมายบีโอไอฉบับใหม่ ที่มีสิทธิประโยชน์สูงสุด คือ เว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 13 ปีจากเดิมกฎหมายเก่าอยู่ที่ไม่เกิน 8 ปี โดยกิจการที่จะได้สูงสุด อาทิ กิจการวิจัยและพัฒนา มีเทคโนโลยีขั้นสูง มีความร่วมมือสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย สำหรับบีโอไอกับอีอีซี เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนเข้าลงทุนพื้นที่อีอีซี ซึ่งนักลงทุนที่เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซีนั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมคือลดอัตราภาษี 50% เพิ่มอีก 5 ปีจากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับอยู่ โดยมาตรการส่งเสริมลงทุนในอีอีซีจะมีแพคเกจใหม่เพื่อทดแทนแพคเกจปัจจุบันที่จะหมดอายุสิ้นปีนี้

สำหรับ พ.ร.บ.อีอีซีทีเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ได้ตัดสิทธิจากบีโอไอ แต่กฎหมายอีอีซีจะใช้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันจุดสำคัญของ พ.ร.บ.อีอีซีจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลประชาชน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญมากที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่อีอีซีมีคุณภาพชีวิตที่ดี

Advertisement

“ล่าสุด จากการคุยกับนักลงทุนมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาเพิ่มเติมแน่นอน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่เดินทางมาไทย 500 บริษัท ซึ่งปีงบประมาณ 2561 เริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มีแผนจะชักจูงการลงทุนหลายจังหวัดในญี่ปุ่น ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวตรงกับจังหวัดเป้าหมายที่บีโอไอจะเข้าไปชักจูงการลงทุน ดังนั้น การมาไทยจะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ทำให้โอกาสการลงทุนไทยเกิดขึ้นสูงแน่นอน

“ทั้งนี้ ประเภทกิจการที่บีโอไอที่ส่งเสริมในอีอีซีไม่ได้มีแค่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กิจการประเภทอื่น อาทิ เกษตร การผลิตเทคโนโลยีต่างๆ สามารถยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ได้เช่นกัน”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image