อคส.เผยเอกชน 4 รายสนพัฒนาคลังสินค้าธนบุรี เป็นคอมมูนิลี้มอลล์ เพิ่มรายได้ปีละกว่า 600 ล้าน

ขอบคุณภาพจากองค์การคลังสินค้า

พ.อ. (พิเศษ) ดิเรก ดีประเสริฐ รองประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาคลังสินค้าธนบุรี 1 กรุงเทพฯ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ผสมกับศูนย์การเรียนรู้และคลังแสดงสินค้าทางการเกษตร ขนาดที่ดิน 7,884 ตารางวา หรือประมาณเกือบ 20 ไร่ มูลค่าที่ดิน 1,419 ล้านบาท เพื่อสร้างรายได้จากค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้แก่ อคส.ว่า กำลังว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการทางการเงินและการลงทุน เบื้องต้นจะดำเนินการพัฒนาโครงการด้วยวิธีร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (พีพีพี)

“ข้อมูลการประเมินเบื้องต้น งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง รวม 1,370 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารพาณิชย์สูง 4 ชั้น มีพื้นที่จัดแสดงจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร ศูนย์สาธิตการเรียนรู้ด้านการเกษตร และจะต้องทำสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นสอดคล้องกับพื้นที่ เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์ค และคอมมูนิตี้มอลล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงการเข้าข่ายต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หากได้ข้อสรุปจะใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี ระยะเวลาที่เหมาะสมของสัญญาเช่าพื้นที่ 30 ปี ซึ่งจะทำให้ อคส.มีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี รวมรายได้ตลอดสัญญาไม่ต่ำกว่า 600 กว่าล้านบาท อย่างไรก็ตามตัวเลขเหล่านี้ยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย โดยให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำแผนงานการศึกษาให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งต้องรวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ จากการทำประชาพิจารณ์ด้วย แผนของโครงการจะต้องนำมาเสนอบอร์ด อคส.อีกครั้งภายในเดือนตุลาคมนี้ และเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)ต่อไป” พ.อ. (พิเศษ) ดิเรกกล่าว

พ.อ. (พิเศษ) ดิเรก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สอบถามความคิดเห็นภาคเอกชน มีประมาณ 3 – 4 รายสนใจจะพัฒนาโครงการแบบพีพีพี เช่น แกรนด์ แอสเสท, นารายณ์ พร็อพเพอร์ตี้, สยามพิวรรธ์, ยูนิเวนเจอร์ส์ เป็นต้น ซึ่งเป็นเพียงการทดสอบความสนใจของนักลงทุนเท่านั้น (มาร์เก็ต ซาวน์ดิ่ง) โดยเอกชนที่จะร่วมทุนต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น คือ มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท เพื่อต้องการคนที่มีศักยภาพทำให้โครงการเกิดขึ้นจริงได้ นอกจากนี้จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พบว่าส่วนใหญ่เห็นชอบโครงการ เพราะเล็งเห็นโอกาสในการนำความเจริญมาสู่ชุมชนในพื้นที่ธนบุรี เห็นชอบการเก็บรักษาอาคารเก่า และการออกแบบที่คำนึงถึงชุมชน ควรมีบริการรถโดยสารรับส่งไปกลับสถานีรถไฟฟ้า พื้นที่ธนบุรีเป็นศูนย์รวมกล้วยไม้ ควรนำความโดดเด่นด้านกล้วยไม้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เป็นต้น

พ.อ. (พิเศษ) ดิเรก กล่าวอีกว่า หากโครงการดำเนินการสำเร็จ จะทำให้ อคส. มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ และช่วยสนับสนุนเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน อคส.มีรายได้จากค่าเช่าคลังสินค้าที่บริหารจัดการอยู่รวมประมาณ 70 ล้านบาท เฉพาะคลังสินค้าธนบุรี 1 มีรายได้ประมาณ 10 กว่าล้านบาทต่อปี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image