ขนส่งฯ รับลูก’บิ๊กตู่’ เข้มงวดแท็กซี่ เผยเป็นแชมป์ถูกร้องเรียนมากที่สุด

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการได้รับแจ้งจากประชาชนร้องเรียนค่าแท็กซี่แพง มิเตอร์วิ่งเร็ว รวมถึงการปฏิเสธผู้โดยสาร เเละเสนอแนวคิดต้องเอาให้เข็ดหลาบด้วยการสั่งพักหยุดขับรถแท็กซี่ประมาณ 15-30 วัน และอาจถึงขั้นยึดใบขับขี่นั้น

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายกฯได้สั่งให้เข้าไปตรวจสอบและให้เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกมีการติดตามและลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นระยะอยู่แล้ว แต่ได้สั่งการให้ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้บรรดาผู้ขับแท็กซี่ที่เคยทำผิดแล้วชะล่าใจว่าไม่มีการตรวจซ้ำ เกิดการกระทำผิดซ้ำซาก หากตรวจสอบพบจะมีโทษตั้งแต่การว่ากล่าวตักเตือน โทษปรับค่าสินไหม หรือหากยังพบการกระทำผิดอีกจะพักใบอนุญาตขับขี่ และโทษขั้นสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ด้านนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 11 มีนาคม ได้นำเจ้าหน้าที่ตรวจการขนส่งทางบกและเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถ ตรวจสอบข้อร้องเรียนกรณีรถแท็กซี่ส่วนบุคคล ทะเบียน มฉ 4373 กรุงเทพมหานคร พบว่ามาตรค่าโดยสารขึ้นเร็วผิดปกติ ตามที่มีการร้องเรียนเมื่อเวลา 13.59 น. วันที่ 11 มีนาคมนั้น กรมการขนส่งทางบกได้เรียกตัวนายสมพงษ์ ใจดี เจ้าของรถและผู้ขับรถในช่วงเวลาที่มีการร้องเรียนมาพบ โดยมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ หมายเลข 4000163 สิ้นอายุวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 มาสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบล่วงหน้า

นายสนิทกล่าวต่อว่า เมื่อตรวจบันทึกประวัติย้อนหลังจากการทำหน้าที่ขับรถแท็กซี่มา 10 ปี ไม่พบประวัติความผิดหรือเคยถูกร้องเรียนมาก่อน จึงได้สอบข้อเท็จจริง พบว่าเป็นมาตรค่าโดยสารผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก และมาตรค่าโดยสารยังคงอยู่ในสภาพปกติ ซีลตะกั่วอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จึงได้ถอดมาตรค่าโดยสารไปทดสอบกับเครื่องสอบเทียบมาตรค่าโดยสาร ผลการตรวจสอบมาตรค่าโดยสารที่ระยะทาง 5, 10, 20, 25, 30 และ 40 กิโลเมตรตามลำดับ ยังเป็นไปตามที่กำหนด จากนั้นเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถได้ตรวจสอบเพื่อหาสวิตช์สายไฟหรือความผิดปกติต่างๆ ภายในรถ แต่ไม่พบสิ่งผิดปกติ เพื่อให้ได้ข้อสรุปชัดเจนยิ่งขึ้น จึงนำรถแท็กซี่คันดังกล่าวไปทดสอบภาคสนามตามสถานที่จริง ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถร่วมกับเจ้าหน้าที่ตรวจการขนส่งทางบก เป็นระยะทาง 26.4 กิโลเมตร ผลการตรวจสอบอัตราค่าโดยสาร ไม่พบความผิดปกติ

Advertisement

นายสนิทกล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันเหตุในลักษณะเช่นนี้อีก ได้กำชับให้นายสมพงษ์ตรวจสอบการทำงานของมาตรค่าโดยสารอยู่เสมอ หากพบว่าความผิดปกติให้รีบแก้ไขทันที

“หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอัตราค่าโดยสาร ในเบื้องต้นแนะนำให้ผู้โดยสารสังเกตซีลตะกั่วที่ปิดผนึกตัวมาตรค่าโดยสาร ต้องไม่ชำรุด ไม่ฉีกขาด ตรวจสอบการคิดค่าโดยสารของรถแท็กซี่ว่าถูกต้องหรือไม่โดยให้สังเกตจากจำนวน ระยะทาง และเวลาที่มาตรค่าโดยสารแสดง เปรียบเทียบกับตารางอัตราค่าโดยสารที่ติดอยู่บริเวณหลังเบาะพนักพิงผู้โดยสารตอนหน้า หากพบเห็นการให้บริการรถแท็กซี่ไม่เป็นธรรม ให้ระบุรายละเอียดรถและผู้ขับรถคันที่กระทำความผิด เช่น หมายเลขทะเบียนรถ ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ จะทำให้กระบวนการติดตามรวดเร็วขึ้น ร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายสนิทกล่าว

ทั้งนี้รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบกเผยว่า สถิติการร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน 1584 ช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558-31 มกราคม 2559) พบว่าประชาชนร้องเรียนปัญหาการให้บริการรถโดยสารสาธารณะรวมทั้งสิ้น 19,727 ครั้ง เป็นปัญหารถแท็กซี่กว่า 14,912 ครั้ง พบว่าร้องเรียนแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารสูงสุด รองลงมาคือแสดงกิริยาไม่สุภาพ ขับรถประมาทหวาดเสียว แต่งกายไม่ถูกต้อง และไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร โดยทุกปัญหาการร้องเรียนจะเร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทางเอสเอ็มเอสภายใน 1-2 วัน

Advertisement

สำหรับมาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายขั้นสูงสุดทุกกรณี พร้อมส่งตัวเข้ารับการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกการให้บริการ และบันทึกประวัติการกระทำผิดไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ สำหรับตรวจสอบการกระทำความผิดซ้ำซาก เพื่อพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป และสำหรับความผิดอาญาหรือทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอย่างร้ายแรง เช่น การขู่กรรโชก ทำร้ายร่างกายผู้โดยสาร กระทำอนาจาร ดัดแปลงมาตรค่าโดยสาร ส่งตัวดำเนินคดีและเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image