“ไทยเบฟ”รับขึ้นภาษีสรรพสามิต-ภาษีเครื่องดื่มน้ำตาล กระทบธุรกิจ มั่นใจรับมือได้ ส่ง “รวงข้าว ซิลเวอร์” สุราขาวพรีเมียมตีตลาดเอเชีย

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมของรายได้ของบริษัท 9 เดือน (ตุลาคม 2559 – มิถุนายน 2560) มีทั้งสิ้น 142,460 ล้านบาท ติดลบ 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่าน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังซบเซา ส่งผลให้ประชาชนยังบริโภคต่ำ อย่างไรก็ตามจากการลดต้นทุนของบริษัท และการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้บริษัทยังมีกำไร 21,117 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ประเมินว่าในช่วงไตรมาสที่เหลืออยู่ เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านส่งออกที่กลับมาขยายตัวอย่างมาก น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องได้ถึงปี 2561 เช่นเดียวกับรายได้ของบริษัทที่น่าจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งบริษัท เตรียมงบลงทุนในปี 2560/61 ไว้ที่ 7,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปี 2559/2560 ที่มีประมาณ 5,200 ล้านบาท ตั้งเป้าขึ้นมาเป็นบริษัทผู้นำเครื่องดื่มอันดับของ 1 อาเซียนในปี 2563

“สำหรับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและยอดขายในระยะสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามบริษัทจะพยายามดูแลราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คาดว่าเมื่อผู้บริโภคปรับตัวได้สักระยะหนึ่ง กำลังซื้อจะกลับมาเป็นปกติ” นายฐาปน กล่าว

นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ กรรมการอำนวยการ กลุ่มธุรกิจสุรา บริษัท ไทยเบฟฯ กล่าวว่า จากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ส่งผลให้ราคาจำหน่ายสุราปรับขึ้นไปแล้วเฉลี่ย 2% อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าน่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้ บริษัท ได้เตรียมเปิดตัวสุราขาว “รวงข้าว ซิลเวอร์” เพื่อขยายตลาดสุราขาวให้เข้าสู่ตลาดพรีเมียมมากขึ้น จากเดิมที่จะเน้นเพียงตลาดระดับล่าง โดยได้ทำการเปลี่ยนแพคเกจให้มีความหรูหรามากขึ้น และเตรียมวางจำหน่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 และในปีหน้าเตรียมส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อแข่งขันกับตลาดสุราท้องถิ่นในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ภายใน 3 ปี เตรียมขยายธุรกิจสุราไปยังอาเซียน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตสุรา ในเวียดนาม รวมทั้งเตรียมศึกษาเป็นผู้จัดจำหน่ายในฟิลิปินส์ และลงทุนในกัมพูชา

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ธุรกิจอาหาร กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต และภาษีน้ำตาล ส่งผลให้ธุรกิจชาเขียวพร้อมดื่ม ได้ระดับผลกระทบ 2 เด้ง คือ ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต จากเดิมที่ได้รับการยกเว้น และเตรียมจ่ายภาษีน้ำตาล ซึ่งขณะนี้รัฐบาลให้ระยะเวลา 2 ปีในการปรับตัว ซึ่งบริษัทเชื่อว่า น่าจะสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ เพื่อให้มีการปรับขึ้นราคา และส่งผลกระทบต่อประชาชนให้ได้น้อยที่สุด ส่วนธุรกิจอาหารตั้งเป้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า ภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่มูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยเตรียมขยายสาขาร้านในเครือ อาทิ ชาบูชิ โออิชิ ราเมน โออิชิ แกรนด์ ให้เพิ่มขึ้น รวมถึงเล็งเปิดร้านอาหารไทย อาหารอาเซียน ภายใต้แบรนด์ โซอาเซียน เพื่อเจาะตลาดอาเซียน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image