พลิกตำราฝ่าโค้งสุดท้ายภัยแล้ง “บิ๊กฉัตร” ลั่น นำเกษตรกรก้าวพ้นวิกฤติไปพร้อมกัน

นาทีนี้คนไทยทุกคนคงได้ประจักษ์ต่อสายตาตนเองถึงความ “หนักหน่วง” จากสถานการณ์วิกฤติภัยแล้งที่รุมเร้าเข้าใส่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2557 เพราะไม่ว่าที่ผ่านมาจะเกิดพายุฝนหรือเกิดลมหนาวไม่รู้กี่ระลอก แต่ก็ไม่ได้ทำให้พิษสงของภัยแล้งที่ซึมลึกอยู่ในแต่ละพื้นที่บรรเทาเบาบางลงได้เลย

ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ วิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้น ยังอาจลุกลามไปถึงภาพรวมภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพราะดังที่ทุกคนทราบกันดีว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยต้องพึ่งพาสินค้าจากภาคการเกษตรเป็นหลัก และภาคการเกษตรก็ต้องอาศัย “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน

ดังนั้น การไม่มีน้ำของประเทศไทย จึงไม่ได้มีความหมายแค่เพียงการชะงักงันของภาวะเศรษฐกิจระดับฐานรากคือเกษตรกรทั่วไปเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศ

นี่จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลไม่อาจละเลยต่อการให้น้ำหนักความสำคัญในการแก้ปัญหาภัยแล้ง!

Advertisement

“รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาภัยแล้ง เพราะทราบดีว่าเป็นปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2557 จนถึงปัจจุบัน และรู้ดีว่าเป็นปัญหาที่รอไม่ได้ ต้องรีบคิดและลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาทำงานร่วมกันอย่างมีระบบและประสิทธิภาพ” พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ย้อนความให้ฟัง

ภาพประกอบ3

พล.อ. ฉัตรชัย เล่าให้ฟังว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งมีการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่เริ่ม โดยทุกหน่วยงานต้องมาช่วยกันระดมสมองเพื่อหาแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ก่อนจะได้ข้อสรุป 8 มาตรการ ซึ่งเปรียบเสมือน “ไพ่ตาย” ต่อสู้กับวิกฤติภัยแล้งที่กำลังย่างเข้ามา ประกอบด้วย 1. มาตรการส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น โครงการสร้างรายได้จากการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปศุสัตว์ และประมง 2. การชะลอหรือขยายเวลาชำระหนี้ 3. การจ้างงาน 4. การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน 5. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6. การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 7. การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8. การสนับสนุนอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อวิสาหกิจชุมชน

“6 ตุลาคม 2558” คือ ดีเดย์เริ่มต้นการทิ้ง “ไพ่ตาย” 8 มาตรการ เพื่อควบคุมผลกระทบอันเกิดจากภัยแล้ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมา แม้จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรได้อย่างน่าพอใจ แต่ด้วยความหนักหน่วงของสถานการณ์ที่โหมกระหน่ำเข้ามาในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้แผนงานต่างๆ ที่วางไว้ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที

“ความรุนแรงของสถานการณ์ก็เป็นปัญหาหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าความติดขัดของการทำงานในระบบราชการก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกมองว่างานของเราล่าช้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมอยากขออภัยและอยากขอให้เข้าใจ” พล.อ. ฉัตรชัย ยืดอกยอมรับ พร้อมกับชี้แจงว่า ด้วยความเป็นหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีระเบียบปฏิบัติมาก รวมทั้งเป็นการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน ทำให้การแก้ปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา หลายส่วนเกิดความสะดุด นอกจากนี้ ในการดำเนินงานตามแผนงานบางมาตรการ เช่น มาตรการที่ 4 ที่เปิดให้ชุมชนต่างๆ เสนอโครงการที่ตรงกับความต้องการมาให้พิจารณา ปรากฏว่า ชุมชนในแต่ละจังหวัดมีการเสนอโครงการเข้ามารวมกันถึงเกือบ 10,000 โครงการ ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ของเรายังมีอยู่เท่าเดิม และสำนักงบประมาณก็จำเป็นต้องตรวจสอบโครงการอย่างละเอียดเพื่อป้องกันการรั่วไหลของงบประมาณ จึงทำให้มีความล่าช้าเกิดขึ้นบ้าง

“เรื่องนี้ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ เพราะวันนี้งานลงไปเยอะมาก ทุกกระทรวงลงไปหมด งานกระจุกตัวมาก ทำให้แผนงานหลายอย่างที่คิดว่าต้องเสร็จภายในเวลาที่กำหนดเกิดความล่าช้าออกไป แต่เราก็พยายามขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ จึงมีการนำระบบ Single Command มาปรับใช้ เพื่อให้แต่ละพื้นที่มีผู้รับผิดชอบหลักที่สามารถชี้แจงข้อมูลรายละเอียด รวมทั้งสั่งการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน ซึ่งส่งผลให้แผนงานตามมาตรการทั้ง 8 มีความคืบหน้า และหลายโครงการถูกดำเนินการจนแล้วเสร็จ โดยภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการทั้งหมดให้ได้ตามแผน”

พล.อ. ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับ 3 เดือน นับจากนี้ไป ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของวิกฤติภัยแล้ง จะมีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบว่าจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือใดๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่ โดยจะมีการนำมาตรการต่างๆ มาใช้ดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ในเบื้องต้นหากพบพื้นที่ประสบปัญหาเร่งด่วน จะใช้กติกาเดิมของกระทรวงมหาดไทย คือการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,113 บาท/ไร่ รวมทั้งปรับเปลี่ยนแผนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีอยู่เดิม เพื่อนำไปเติมในการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นภัยแล้งไปได้พร้อมๆ กัน

ส่วนในระยะยาว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ จะมาคุยกันถึงการวางแผนผลิตและการตลาด อันจะนำไปสู่แผนการลดการปลูกนาปรังในปีหน้า หลายพื้นที่ที่เคยทำนาปรังหลายรอบต้องเหลือทำรอบเดียว ซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตลดและช่วยดันราคาข้าวให้สูงขึ้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นผู้วางแผนการปลูกพืชหรืออื่นๆ เช่น ปศุสัตว์ ประมง มาทดแทน รวมทั้งหาตลาดมารองรับ ดังนั้น เกษตรกรไม่ต้องห่วง ทุกหน่วยงานในรัฐบาลชุดนี้ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะไม่ยอมทิ้งเกษตรกรอย่างแน่นอน แต่ขณะเดียวกัน ประชาชนและเกษตรกรก็ต้องไม่ทิ้งภาครัฐให้วิ่งตามแก้ปัญหาอย่างโดดเดี่ยวด้วยเช่นกัน

ด้าน คุณธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล ว่าสำหรับความคืบหน้าผลดำเนินงาน 8 มาตรการ ภายใต้โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติภัยแล้ง คือ

มาตรการที่ 1 ส่งเสริมความรู้ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการสร้างรายได้จากการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปศุสัตว์ ประมง และปรับปรุงดิน วงเงิน 1,009.07 ล้านบาท ซึ่ง ครม. เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 วงเงิน 971.98 ล้านบาท สำนักงบประมาณอนุมัติเงินงวด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2558 มีเป้าหมาย 386,809 ราย ซึ่งเดือนมกราคม 2559 มอบปัจจัยการผลิตแล้ว 58,129 ราย คิดเป็น 15% คาดว่าอีก 75% จะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นอกจากนี้ ยังลดค่าครองชีพ ภายใต้โครงการ “ธงฟ้า ช่วยภัยแล้ง” มีผลการจัดจำหน่ายสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 แล้ว จำนวน 199 ครั้ง ในพื้นที่ 20 จังหวัด มีมูลค่าการจำหน่ายรวม 21.51 ล้านบาท และลดภาระค่าครองชีพ 14.34 ล้านบาท ประชาชนเข้าร่วมงาน 71,684 คน

มาตรการที่ 2 ชะลอหรือขยายเวลาชำระหนี้ ได้แก่ การลดค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าซื้อที่ดิน และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว 22,613 ราย วงเงิน 60.23 ล้านบาท และการให้สินเชื่อเกษตรกร 61,369 ราย วงเงิน 1,213.02 ล้านบาท และประชาชน 10,078 ราย วงเงิน 818.38 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยแล้ว 630 ราย วงเงิน 109.25 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 72,077 ราย วงเงิน 2,140.65 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน

มาตรการที่ 3 การจ้างงาน โดยมีการจ้างแรงงานแล้ว 237,855 ราย แบ่งเป็น จ้างแรงงานชลประทานแล้ว 68,025 คน จ้างแรงงานเร่งด่วน 7,869 คน และจ้างงานจากเงินทดรองราชการของจังหวัด 161,961 คน นอกจากนี้ มติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ได้อนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร ซึ่งอยู่ระหว่างคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ

มาตรการที่ 4 การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 และ 15 ธันวาคม 2558 ได้อนุมัติกรอบวงเงิน โครงการฯ ระยะที่ 1 กรณีการปลูกพืชใช้น้ำน้อย วงเงิน 167.56 ล้านบาท จังหวัดได้โอนเงินให้ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) แล้ว 155 โครงการ วงเงิน 151.94 ล้านบาท และมติคณะกรรมการอำนวยการฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ได้เห็นชอบโครงการตามแผนพัฒนาชุมชนฯ ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1 ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี จำนวน 3,135 โครงการ วงเงิน 1,614.0439 ล้านบาท คาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 740,184 ราย

มาตรการที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำ ได้จัดทำแปลงสาธิตแล้วจำนวน 37 แปลง ในพื้นที่ 9 ศูนย์ คิดเป็น 37% และการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ โดยกรมประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย สถานการณ์น้ำ แนวทางการบริหารจัดการน้ำ การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดในการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย

มาตรการที่ 6 การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ การปฏิบัติการฝนหลวง จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วจังหวัดนครสวรรค์ มีการขึ้นปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จำนวน 66 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกรวม 11 จังหวัด การขุดเจาะบ่อบาดาล ดำเนินการเสร็จแล้ว 1,257 บ่อ และการทำแก้มลิง 30 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร หนองคาย บึงกาฬ และเลย ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุน้ำเก็บกักได้ 12.77 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 14,680 ไร่ เกษตรกร 6,030 ครัวเรือน

มาตรการที่ 7 การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยกระทรวงสาธารณสุขออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และเจ้าหน้าที่สายตรวจลงพื้นที่ 30,488 ครั้ง

มาตรการที่ 8 การสนับสนุนอื่นๆ เช่น ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อแก่วิสาหกิจชุมชน 11 กลุ่ม วงเงิน 9.30 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 6 เดือน จำนวน 45 สหกรณ์ วงเงิน 83.82 ล้านบาท

2

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแนวทางการบริหารงานโดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง การให้ความสำคัญทั้งในเรื่องพืช ประมง และปศุสัตว์ อีกทั้งยังมีการพัฒนา Single Command ให้มีความเข้มแข็ง มีการบูรณาการการทำงาน รวมถึงสามารถประสานงานในเชิงนโยบายได้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน 2. แปลงใหญ่ 3. Zoning 4. 882 ศูนย์ 5. ธนาคารสินค้าเกษตร และ 6. เกษตรอินทรีย์” คุณธีรภัทร กล่าว

ด้าน คุณสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากปัญหาน้ำในเขื่อนต่ำสุดในรอบ 20 ปี คาดความเสียหายเบื้องต้นภาคเกษตร 6.5 หมื่นล้าน ซึ่งอีกหนึ่งแนวทางออกนอกจากมาตรการดังกล่าวคือ กรมชลฯ จะไม่พยายามใช้น้ำจากอ่างในช่วงฝนตกเพื่อให้น้ำในอ่างสูงกว่าเกณฑ์ให้ได้ และคาดว่าเดือนเมษายน ทิศทางสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น โดยมีเป้าหมายในปลายปีจะเติมน้ำในอ่างให้เต็ม ขณะที่ในช่วงภัยแล้งที่เหลืออีก 100 วัน ถ้าไม่ใช้น้ำในการเพาะปลูกมากเกินไป เขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจะไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือเกษตรกรในการงดการปลูกข้าวนาปรัง โดยควรเร่งส่งเสริมให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและทนแล้ง และสำหรับการปลูกข้าวนาปี พร้อมประชาสัมพันธ์ให้เลื่อนการเพาะปลูกออกไปจากช่วงปกติไป

อย่างไรก็ตาม ผลสัมฤทธิ์จากการแก้ไขปัญหาภัยแล้งสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จาก 8 ล้านไร่ ในปี 2557/58 เหลือ 4 ล้านไร่ ในปี 2558/59 ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สร้างโอกาสทางด้านอาชีพที่เกิดจากความต้องการของชุมชน รวมถึงการมีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทั้งหมด คือแนวทางที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือ ร่วมแรงกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” มุ่งหวังฝ่าวิกฤติการณ์ภัยแล้งที่ส่อเค้ารุนแรงขึ้นครั้งนี้ไปให้ได้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชน ซึ่งนอกจากภาครัฐจะแข็งขันในการแก้ปัญหาแล้ว เกษตรกรและประชาชนก็เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการให้ความร่วมมือในการประหยัดน้ำ และแนวทางของภาครัฐที่ขอความช่วยเหลือเพื่อเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรนั่นเอง

แต่ความสำเร็จย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากความร่วมมือจากคนไทยทุกคน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image