นักวิชาการวิพากษ์ ปัดฝุ่น ‘ช้อปช่วยชาติ’

หมายเหตุ – ความเห็นจากนักวิชาการกรณีรัฐบาลเตรียมนำโครงการช้อปช่วยชาติ โดยให้ประชาชนที่ซื้อสินค้าช่วงปลายปีนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท


ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

มาตรการช้อปช่วยชาติที่รัฐบาลทำใน 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ในปี 2558 เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 และปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 รัฐบาลจึงกระตุ้นด้วยมาตรการช้อปช่วยชาติ แต่ปีนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่า 2 ปีที่แล้ว ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือน 2 ปีที่แล้ว แต่ก็สามารถทำได้ เพราะตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นแบบกระจุกตัวกับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและคนมีรายได้ไม่มาก ทั้งคนฐานรากและชั้นกลางลงมามีรายได้ไม่เต็มที่ จึงเป็นการฟื้นตัวช้าในมุมมองของประชาชน

ถ้าช้อปช่วยชาติสามารถดำเนินการให้มีเม็ดเงินสะพัดในต่างจังหวัดและเอสเอ็มอี รัฐบาลต้องเพิ่มแนวคิดให้เป็นการช้อปปิ้งในแหล่งท่องเที่ยวต่างจังหวัด หรือช้อปปิ้งกับเอสเอ็มอี จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้น บรรยากาศเศรษฐกิจคึกคักขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

Advertisement

ที่พูดกันว่าเป็นช้อปช่วยห้างนั้น ปกติการดำเนินมาตรการภาษีต้องเที่ยงธรรมและทั่วถึง การช้อปช่วยชาติจะห้ามประชาชนให้ไปช็อปที่ต่างๆ ไม่ได้ มีข้อจำกัดของมาตรการ รัฐบาลจะบอกให้ประชาชนไปช้อปต่างจังหวัดนั้นทำได้ไม่เต็มที่นอกจากจะจูงใจ และถ้าทำจะยุ่งยาก เช่นถ้าจะใช้กับเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นรีสอร์ตหรือร้านค้าทั่วไปที่ไม่ใช่ห้าง ต้องมีการยกเว้นตัวเลขบัญชีของผู้เสียภาษี จึงเป็นขั้นตอนยุ่งยาก และถ้าบอกว่าช้อปช่วยชาติห้ามใช้ที่ห้าง คนจะเกิดคำถาม จะมีความรู้สึกว่าไม่เที่ยงธรรมต่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขัดหลักความเป็นธรรม ความทั่วถึงและเท่าเทียมของหลักภาษี

ถ้าไปใช้จ่ายที่ห้างเขาก็จ้างคน ซื้อของจากซัพพลายเออร์จากต่างจังหวัดหรือเอสเอ็มอี หรือถ้าซื้อของจากธุรกิจขนาดใหญ่ ก็เป็นทางอ้อมที่จะหมุนเวียนใช้จ่ายซื้อวัตถุดิบจากที่ต่างๆ แต่รัฐบาลสามารถรณรงค์ได้ ถ้ามีการส่งเสริมเป็นพิเศษ และถ้าสามารถดำเนินการในบางช่องทางได้ เช่นบอกว่าไปรีสอร์ตต่างจังหวัดน่าจะเป็นประโยชน์ หรือระบุว่าถ้าไปตรงนั้นตรงนี้เฉพาะเจาะจงได้ก็จะตรงวัตถุประสงค์มากขึ้น เพื่อช่วยคนมีรายได้น้อย แต่น่าจะเป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพราะตามหลักภาษี ไม่ควรจำกัดเฉพาะบางที่ แต่ขอให้ประชาชนคนไทยกระจายการใช้จ่ายไปยังธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และต่างจังหวัดจะตรงวัตถุประสงค์มากขึ้น แต่การใช้จ่ายทั่วไปปกติลงไปถึงประชาชนอยู่แล้ว อาจมากน้อยต่างกันแล้วแต่ประเภทสินค้า

ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการอื่นในตอนนี้ไม่จำเป็นแล้ว ที่ต้องทำคือ 1.เรื่องการส่งเสริมการลงทุน เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นเร็ว 2.ถ้าจะทำเพื่อประโยชน์คนฐานราก ทำให้รวยกระจุกจนกระจายหายไป น่าจะพยายามผลักดันราคาสินค้าการเกษตรให้สูงขึ้น โดยการระบายสินค้าไปยังต่างประเทศ และส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือความต้องการใช้ในประเทศ เป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะปานกลาง

Advertisement

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

มองว่านโยบายช้อปช่วยชาติไม่ได้มีความจำเป็นมากเท่าไหร่ เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมขยับตัวดีขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ารัฐบาลต้องการช่วยคนมีรายได้น้อย หรือชนชั้นกลาง ก็ควรจะใช้มาตรการหรือวิธีการอื่นๆ เช่น ดูแลสวัสดิการของคนยากจน ลดภาษีให้กับผู้ที่มีรายได้ไม่สูง พิจารณาลดภาษีบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอี หรือตั้งกองทุนในการดูแลเรื่องการประกอบอาชีพ ส่วนหนึ่งรัฐบาลก็ทำอยู่แล้ว

ผลกระทบของนโยบายนี้ เราก็หวังว่าจะมีผลต่อเนื่องไปยังผู้ผลิต มีกระบวนการผลิตที่ดีขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น แต่ถ้าสมมติคนเอาไปซื้อสินค้าคงทน หรือกึ่งคงทน ก็ไม่ได้มีผลอะไร เนื่องจากระยะต่อไปจะทำให้ยอดขาย ยอดการผลิต หรือยอดค่าใช้จ่ายของสินค้านั้นชะลอตัวลง ถ้ามองเศรษฐกิจในระยะใกล้ แค่ 3-6 เดือน สมมุติว่าคนเอาเงินไปซื้อวิทยุ ซื้อคอมพิวเตอร์ ได้ลดหย่อนภาษี ระยะต่อไปก็จะไม่ซื้อแล้ว หรือแม้กระทั่งสินค้าที่ใช้สิ้นเปลืองบางอย่าง พอซื้อเยอะแล้ว ระยะต่อไปก็จะไม่ซื้อ เนื่องจากมีการกักตุนในช่วงที่ได้รับการลดหย่อนภาษี

ถ้าเป็นการลดหย่อนภาษี ควรกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวดีกว่า เพราะจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเยอะกว่า เพราะการท่องเที่ยวก็คือเที่ยวไปแล้ว แต่หากการซื้อของ เราจะยังมีสินค้านั้นอยู่ ระยะต่อไปจะซื้อน้อยลง แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ ต้องดูที่พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นหลัก

ประชาชนต้องออกมาใช้ประโยชน์จากนโยบายนี้อยู่แล้ว เหมือนรัฐบาลให้โปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม แต่ประชาชนก็ควรไปซื้อร้านค้ารายย่อยด้วย เพราะหากซื้อที่ห้างเพียงอย่างเดียวเม็ดเงินก็จะกระจุกตัว จนเป็นมาตรการช้อปช่วยห้างแทน

ข้อดีทางอ้อมของนโยบายนี้ คือ พอมีนโยบายช้อปช่วยชาติเป็นระยะๆ ก็จะทำให้ระบบบัญชีของผู้ค้ารายย่อยจะต้องปรับให้ได้มาตรฐาน เพราะหากไม่ได้มาตรฐานผู้บริโภคก็จะนำไปลดหย่อนภาษีไม่ได้ เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจรายย่อยต้องปรับตัวเข้ามาในระบบบัญชีที่มีมาตรฐานมากขึ้น

แต่หากมาตรการนี้ยังมีอยู่เรื่อยๆ จนผู้บริโภคคาดการณ์การประกาศนโยบายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้ในทุกปี ผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากคนจะอั้นไม่ซื้อของเพื่อรอไปใช้จ่ายในช่วงช้อปช่วยชาติแทน


นณริฏ พิศลยบุตร

นณริฏ พิศลยบุตร

นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ไม่เห็นด้วยกับโครงการลักษณะนี้ เนื่องจากโครงการช้อปช่วยชาติค่อนข้างให้ผลจำกัด ประการแรกในแง่ผู้ซื้อ มองว่าโครงการลักษณะนี้ได้เครดิตภาษีคืนหรือคนเสียภาษีน้อยลง หมายถึงว่าจะต้องเป็นคนเสียภาษีอยู่แล้ว จำนวนคนไทยทั้งหมดเกือบ 70 ล้านคน มีคนเสียภาษีจริงๆ แค่ประมาณ 4-6 ล้านคนเท่านั้น ประการที่ 2 โครงการนี้ให้ผลประโยชน์กับคนรวยมากกว่า ยิ่งคนที่มีรายได้สูงหรือฐานภาษีสูง ก็จะได้เครดิตคืนมากกว่าคนฐานภาษีต่ำ เพราะฉะนั้นประโยชน์จากมาตรการนี้จึงไม่ได้ไปตกกับคนที่ควรจะได้

เมื่อพิจารณาต่อเนื่องในแง่ผู้ขาย ก็พบว่ามีข้อจำกัดเช่นกัน เพราะผู้ขายจะทำหรือสร้างหลักฐานให้ภาครัฐ จะต้องเป็นธุรกิจในระบบที่มีการจดภาษี ผู้ขายจึงมักเป็นธุรกิจที่มีรายได้สูง สอดคล้องกับแนวโน้มการไปซื้อของของผู้บริโภคเช่นกันว่าต้องเลือกสถานที่ที่ดีๆ ไม่ใช่ร้านค้านอกระบบ ประการต่อมาตามสถิติปัจจุบันเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ประมาณ 3.8% สูงกว่าปีที่แล้วมาก และลักษณะการโตของเศรษฐกิจโตแบบไม่เท่าเทียม จะเห็นว่าอย่างในตลาดหุ้น กำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่เมื่อมาดูเศรษฐกิจฐานรากมีแต่คนบ่นว่าขายของไม่ได้

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจลักษณะนี้ เป็นโครงการไปเติมเงินให้กับคนฐานบน ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น ในหลักวิชาการไม่มีเหตุผลจะต้องกระตุ้น หากเศรษฐกิจตกต่ำ มีอัตราการขยายตัวเพียง 0.8% หรือ 2% อย่างปีก่อนๆ ยังพอเป็นเหตุผลว่าควรจะกระตุ้น แต่สภาพเศรษฐกิจปีนี้คาดว่าจะโต 3.8% หรืออาจจะโตมากกว่านี้ จึงมีคำถามว่าจะกระตุ้นไปทำไม

ประเด็นสุดท้ายที่ไม่เห็นด้วยคือจุดรั่วไหลของโครงการ เนื่องจากในช่วงปลายปีเป็นช่วงคนวางแผนซื้อสินค้ากันอยู่แล้ว ก็แปลว่าการลดราคาของภาครัฐ ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เมื่อมีมาตรการออกมาแล้วไม่ตรงกับสถานการณ์ คนก็ได้ในสิ่งที่ไม่ควรได้ ภาครัฐเองนำเงินภาษีที่ไม่ควรจ่ายไปจ่ายให้ จึงคิดว่าส่วนเพิ่มที่ได้จากการออกมาตรการมีไม่มาก แต่ส่วนที่จะต้องจ่ายมีมากกว่า

อย่างไรก็ตามแม้ว่ามีคนบางส่วนตัดสินใจซื้อสินค้าเร็วขึ้น เช่น เดิมวางแผนจะซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ปีหน้า ก็เลื่อนขึ้นมาซื้อสินค้าภายในปีนี้เลย แต่จะเห็นว่าปีหน้าเขาก็ไม่ซื้อสินค้าต่อ เพราะซื้อแค่เพียงครั้งเดียว จึงมองว่าคนจะเปลี่ยนมาซื้อสินค้าเมื่อได้ยินเสียงภาครัฐจะลดภาษีมีน้อยมาก ดังนั้นจึงมองว่ามาตรการนี้ไม่ถูกเวลา ช่วยเหลือไม่ถูกคน และจังหวะต่อการซื้อในระบบเศรษฐกิจก็ไม่ได้


เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มาตรการช้อปช่วยชาติถือว่าเป็นมาตรการที่ใช้ได้ เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวเช่นนี้ แน่นอนอยู่แล้วว่าผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ จะมีการจับจ่ายใช้สอยจริงๆ แต่ประเด็นที่ยังกังวลคือ มาตรการนี้ทำต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว หากดำเนินมาตรการติดๆ กันหลายปี ผลลัพธ์อาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงเหมือนกับปีที่ผ่านมาๆ แม้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะดีก็ตาม ส่วนอีกเรื่องคือมาตรการนี้ยังไม่กระจายลงไปสู่ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย หรือเอสเอ็มอีในท้องที่จริงๆ

มาตรการช้อปช่วยชาติเป็นมาตรการกลางๆ ถือว่าพอใช้ได้ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ แต่การดำเนินนโยบายที่ทำต่อเนื่องมาหลายปี เกรงว่าปีนี้อาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกับปีที่ผ่านๆ มา รวมถึงผลจากการดำเนินมาตรการยังไม่กระจายรายได้ลงไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ต่างๆ เท่าไหร่นัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image