กรมท่าอากาศยานยกสนามบินอุดรฯ-ตากให้ ทอท.บริหาร เปิดทางเอกชนร่วมลงทุน

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) เปิดเผยในงานประชุมเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารและพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยานว่า จากการศึกษาของศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เกี่ยวกับแนวทางการบริหารท่าอากาศยานของ ทย.ที่มีทั้งหมด 28 แห่งที่ให้บริการในปัจจุบัน และอีก 1 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คือ ท่าอากาศยานเบตง ได้ข้อสรุปว่า ทย.จะให้สิทธิ์การบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานตาก แก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทอท.เพื่อให้ ทอท.มีโครงข่ายในการพัฒนาเส้นทางบินที่ครบทุกภูมิภาคหลักของประเทศ

“การให้ ทอท.บริหารท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานตาก เพื่อให้ ทอท.มีโครงข่ายการบินที่ครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ เช่น ท่าอากาศยานอุดรธานีที่สามารถเชื่อมโยงไปยังลาวได้ในระยะวลาอันรวดเร็ว โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเสนอผลการศึกษาไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาหารูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินการต่อไป”นายดรุณ กล่าว

นายดรุณ กล่าวว่า ทั้งนี้ท่าอากาศยานอุดรธานี และตาก ยังจำเป็นต้องใช้งบลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพให้รองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากขึ้น โดยท่าอากาศยานอุดรธานี ต้องใช้งบลงทุนอีกประมาณ 3 พันล้านบาท ดังนั้นหาก ทอท.นำไปพัฒนาต่อก็จะช่วยยกระดับขีดความสามารถได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ส่วนสาเหตุที่ไม่ให้ท่าอากาศยานขอนแก่นนั้น เนื่องจาก ทย.ได้รับงบประมาณเพื่อพัฒนาขยายขีดความสามารถแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประกวดราคาเพื่อหาผู้รับเหมาเข้ามาก่อสร้างแล้ว เช่นเดียวกับท่าอากาศยานกระบี่ ที่ได้งบประมาณและเปิดประกวดราคาแล้วเหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ ทอท.ต้องการที่จะเข้าไปบริหารท่าอากาศยานของ ทย.อย่างน้อย 15 แห่ง การที่ ทย.เสนอให้บริหารแค่ 2 แห่ง แสดงว่าที่เหลือจะไม่ให้ ทอท.บริหารใช่หรือไม่

Advertisement

นายดรุณ กล่าวว่า ทั้ง 2 ท่าอากาศยานที่ให้ ทอท.บริหาร เป็นเรื่องของผลการศึกษา ส่วนท้ายที่สุดแล้ว ทอท.จะได้บริหารกี่ท่าอากาศยานก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณา

นายดรุณ กล่าวว่า ในส่วนของท่าอากาศยานขนาดเล็กที่สามารถพัฒนาได้ ผลการศึกษาระบุว่า จะให้เอกชนร่วมลงทุน เบื้องต้นกำหนดไว้ 4 แห่ง คือ ลำปาง เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และชุมพร โดยรูปแบบการลงทุนขึ้นอยู่กับผลการศึกษาที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน(พีพีพี)

“ในจำนวนท่าอากาศยานทั้งหมด 28 แห่ง มี 15 แห่งที่มีกำไร ส่วนที่เหลือเสมอตัว และขาดทุน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ ทย.ไม่ได้เรียกเก็บค่าใช้บริการต่างๆจากสายการบิน หรือเก็บในอัตราที่ถูกกว่าท่าอากาศยานอื่นประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปี จึงส่งผลให้มีกำไรไม่มาก แต่เอื้ออำนวยให้สายการบินต้นทุนต่ำลดราคาให้กับผู้โดยสาร ซึ่งช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย”นายดรุณ กล่าว

Advertisement

นายดรุณ กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานของ ทย.ในช่วง 10 ปีนับจากนี้จะใช้งบลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยเฉลี่ยแต่ละปีจะใช้งบประมาณ 3-4 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานอื่น ส่วนรายได้จากการดำเนินงานของ ทย.ในปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาท มีค่าใช้จ่ายประมาณ 800 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image