ประกาศ 8 นร.ทุนรัฐบาลไทย-ดาวรุ่งดีเด่น เผยผลงานสร้างคุณประโยชน์ประเทศชาติ ‘ทวารัฐ’ ปาฐกถาชี้ ‘ดิจิตอล’ มาแน่

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา เขตพญาไท กรุงเทพฯ สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทยร่วมกับมูลนิธิสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย มีการจัดพิธีมอบเข็มประกาศเกียรติคุณนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น และนักเรียนไทยดาวรุ่งดีเด่น ประจำปี 2560

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า เวลาประมาณ 08.30 น. มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก วาระการประชุมเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงเรื่องพิจารณาอื่นๆ จากนั้นในเวลาประมาณ 12.30 น. เป็นการฉายวีดีทัศน์คำประกาศเกียรติคุณนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นและพิธีการมอบเข็มดังกล่าว ได้แก่

1. ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีผลงานมากมายเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะการ “เชื่อมนวัตกรรม” ในทุกมิติระหว่างภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคสังคม

2. ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง มีบทบาทอย่างสูงในการวิเคราะห์งานเชิงวิชาการด้านเศรษฐกิจของประเทศที่มีผลต่อการวางแผนพัฒนาชาติตลอดมา เป็นผู้สร้างฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยผ่านการจดทะเบียนและให้สิทธิประโยชน์โดยให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

Advertisement

3. นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับต่อสังคมคือการส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ส่งเสริมการค้าออนไลน์ และหาตลาดให้เกษตรกร เป็นต้น

4.ดร.บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ (สาขาจุลชีววิทยา) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงานที่โดดเด่นอยางมากคือ การดำเนินการและจัดระบบแผนทดสอบความชำนาญการตรวจ HIV Serology แห่งชาติ และแผนทดสอบความชำนาญการตรวจ HIV viral load ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยได้รับการรับรองการยุติปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก เป็นประเทศที่ 2 ของโลก

5.ดร.นเรศ ดำรงชัย ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ร่วมจัดทำกรอบนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมฐานชีวภาพในปัจจุบัน รวมถึงคาดการณ์อนาคตและแผนที่นำทางนาโนเทคโนโลยีซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

Advertisement

ต่อมา เป็นการมอบเข็มประกาศเกียรติคุณนักเรียนไทยดาวรุ่งดีเด่น ซึ่งได้แก่

1. รศ.ดร.ยุทธนันท์ บุญยงมณีรัตน์ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้พัฒนางานวิจัยขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเคลือบผิวโลหะอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดเผยแพร่ความรู้แก่สังคมวงกว้าง สร้างเครือข่ายร่วมกับต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

2. ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม รองผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าของผลงานวิจัยเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือเพื่อป้องกันการจุดชนวนระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงนำไปใช้งานจริง ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยสามารถช่วยรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างมาก

3.นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผอ.กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ของสหประชาชาติ และผลักดันการลงนามรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้หายสาบสูญ เป็นต้น

จากนั้น เวลาประมาณ 13.00 น.มีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Digital World of Energy” โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร

ดร.ทวารัฐกล่าวว่า การประยุกต์ใช้ดิจิทัลในสาขาการพลังงาน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ระบบการขนส่ง 2.กิจการไฟฟ้าอาคาร 3.โรงงานอุตสาหกรรม และ 4.ระบบผลิตจำหน่ายไฟฟ้า กล่าวคือ ในส่วนของการขนส่ง มีการนำระบบดิจิตอลมาใช้ ได้แก่ 1. ระบบคาร์ แชร์ริ่ง เช่น อูเบอร์ 2. เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า มีความชัดเจนว่ามาแทนรถน้ำมันอย่างแน่นอน แต่จะเร็วและแรงแค่ไหน ยังไม่ชัดเจน โดยเชื่อว่าจะมาแทนรถเก๋งก่อน ส่วนรถกระบะ และรถบรรทุกอาจต้องใช้เวลา 3. พาหนะไร้คนขับ 4. โดรน ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้โดรนในการขนส่งสินค้า

ดร.ทวารัฐกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องกิจการไฟฟ้าอาคาร ดิจิทัลจะนำมาสู่การควบคุมการใช้พลังงานในบ้าน แต่ต้องติดเซ็นเซอร์ มีสมองกลประมวลผลเพื่อประสิทธิภาพที่ดี มีการปรับอุณหภูมิ และปิดส่วนที่ไม่ใช้ด้วยปลายนิ้ว เป็นต้น ส่วนในโรงงานอุตสาหกรรม มองว่ามี 3 ระดับ ระดับที่ 1 ใช้ในการรวมรวบข้อมูล โดยยังต้องประมวลผลด้วยคน และคนยังเป็นผู้ตัดสินใจ ระดับที่ 2 อาจมีเซิฟเวอร์ประมวลผลให้ แต่ผู้ตัดสินใจและควบคุมยังเป็นคน ซึ่งในอนาคตคาดว่าหลายโรงงานจะยกระดับเป็นระดับที่ 3 คือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ตัดสินใจแทนคน เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีการใช้อย่างแพร่หลายอย่างน้อยในระดับที่ 2 แน่นอน

อีกไม่นานการตัดสินใจด้วยหุ่นยนต์จะแทรกในชีวิตประจำวันของผู้จัดการโรงงาน ในอนาคตการนำดิจิทัลมาใช้จะทำให้การส่งไฟฟ้าฉลาดขึ้น สมัยก่อนส่งจากโรงไฟฟ้าไปยังบ้าน อนาคตอาจส่ง 2 ทาง การไฟฟ้าสามารถรับไฟส่วนเกินไปขายที่อื่นได้เป็นต้น นอกจากนี้ อาจมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบ้านข้างๆ แต่การไฟฟ้าต้องปรับตัว การซื้อขายฟ้าในอนาคตอาจไม่ได้ซื้อขายแค่เนื้อไฟฟ้า แต่ซื้อขายผลประหยัดไฟฟ้าด้วย เพื่อให้พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยน นอกจากนี้สิ่งที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ คือ การเลือกไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้คือ ระบบ สมาร์ท กริด (Smart Grid) หรือการส่งไฟฟ้าในรูปแบบดิจิทัล

“ขอฟังธงตามสไตล์ทวารัฐว่า ดิจิทัลมาแน่ แต่นโยบายรัฐต้องช่วย เพราะหลายเรื่องออกแบบตอนดิจิทัลยังไม่เกิด ขอเสนอว่ารัฐต้องเตรียมความพร้อม คือ ต้องสร้างคนที่มีทักษะ สร้างคนพันธุ์ D รัฐต้องกล้าลองผ่านโครงการนำร่อง เรียนรู้อย่างรวดเร็วจากบทเรียนต่างประเทศ แต่รัฐก็ต้องเตรียมทำใจว่าการทำลองย่อมมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว แต่ดีกว่าไม่ได้ลอง นอกจากนี้ ยังต้องสร้างบรรยากาศใหม่ในการแข่งขันเชิงนวัตกรรมและแนวความคิดด้วย” ดร.ทวารัฐกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image