สัมผัสแพลตฟอร์มใหม่ TNGA โตโยต้า C-HR ไฮบริด เปิดจองมอเตอร์เอ็กซ์โป2017

เริ่มเป็นที่คุ้นหู ในแวดวงยานยนต์มาได้สักพัก สำหรับแพลตฟอร์มใหม่ของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวทั่วโลก TNGA หรือ Toyota New Global Architecture เป็นรูปโครงสร้างสำเร็จรูปที่ประกอบไปด้วยพื้นตัวถังส่วนห้องเครื่องยนต์ พื้นตัวถัง ห้องโดยสาร งานวิศวกรรมร่วม

ทริปนี้ โตโยต้า ประเทศไทย พาคณะสื่อมวลชนไปทดลองสำหรับยนต์ที่ใช้แพลตฟอร์มใหม่ ชมเทคโนโลยีหลักของโตโยต้าภายใต้การสร้างคอนเซ็ปต์ ยนตรกรรมที่ดียิ่งกว่า หรือ Ever-better Cars เพื่อรอยยิ้มที่เสมือนดั่งรางวัลของเรา และจะได้ทดลองการนั่งใน TNGA แพลตฟอร์ม ซึ่งรถโมเดลใหม่ของ โตโยต้า ทั้ง คัมรี พริอุส โคโรลลา และ ซี-เอชอาร์ (C-HR) และในปี 2020 กว่าครึ่งจะใช้แพลตฟอร์มนี้

โดยมี 2 ผู้บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คุณโมโตโอะ คามิยะ และ คุณฮิโรทากะ ยาตะ ของโตโยต้า อธิบายให้ความรู้รายละเอียดของแพลตฟอร์มใหม่ของ TNGA ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

คุณโมโตโอะบอกว่า TNGA นั้นคือ ความท้าทายใหม่สำหรับโตโยต้า ที่มุ่งพัฒนารถยนต์ที่จะยังคงเป็นที่สุดยอดแห่งยนตรกรรมชั้นนำในอีก 10 ปีข้างหน้า จิตวิญญาณทางวิศวกรรมนี้ เป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรม TNGA จะฉีกกรอบความคิดทั่วไป รวมทั้งสร้างมุมมองใหม่เพื่อบรรลุเป้าหมายของเรา นั่นคือ การสร้างยนตรกรรมดียิ่งกว่า โดยจะมีการสร้างโครงที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ยึดมั่นสมรรถภาพขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นตอนที่รถขับเคลื่อนไปข้างหน้า หรือการเลี้ยว หรือเมื่อรถหยุด นับเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนายนตรกรรมที่สร้างความเพลิดเพลินขณะขับขี่อย่างแท้จริง นี่คือหัวใจของปรัชญา การสร้างยนตรกรรมที่ดียิ่งกว่า

Advertisement

 

คุณโมโตโอะยังบอกอีกว่า รถก็เหมือนร่างกายคนเราที่ต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง และนี่ก็คือสิ่งที่ TNGA สามารถทำให้ได้ นอกจากนี้ยังปรับโครงสร้างทั้งหมดเพื่อสมรรถนะการขับขี่ โตโยต้าเปลี่ยนมุมมองจากการมองแบบแยกส่วนประกอบเป็นชิ้นๆ เป็นการมององค์รวม โดยออกแบบส่วนต่างๆ ของตัวรถ รวมถึงโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ทั้งสมรรถนะขั้นพื้นฐาน พื้นที่ภายในห้องโดยสาร ทัศนวิสัยการขับขี่ และการออกแบบ และยังพลิกโฉมการดำเนินงานของโตโยต้าด้วยการปรับเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีการผลิต กระบวนการการจัดซื้อชิ้นส่วนอะไหล่ ระบบขนส่งโลจิสติกส์กระบวนการผลิต รวมถึงการวางแผนและพัฒนายานยนต์


โมโตโอะ คามิยะ

Advertisement

(ขวาบน) ตัวท็อป C-HR Hybrid

(ล่าง) ช่วงทดสอบในถนนจริง

 

“ดังนั้น ผลลัพธ์ที่ได้ คือแพลตฟอร์มที่เบา และกะทัดรัด หากมีสมรรถนะชั้นเลิศและระบบส่งกำลังที่เสริมให้การขับขี่มีความคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หลักๆ ที่ TNGA ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลง ก็คือ จุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ ส่วนประกอบนับร้อยชิ้นถูกปรับให้เล็กลง บางลง และติดตั้งในจุดที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

เช่น หน่วยส่งกำลัง ชุดกรอง/ระบายอากาศ เครื่องปรับอากาศ ถังน้ำมันเชื้อพลิงและท่อไอเสีย ได้มีการปรับให้เล็กลงและบางลง

จากนั้น เราก็จัดวางในตำแหน่งที่ต่ำที่สุดในโครงสร้างรถยนต์เท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ การสร้างจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลง สร้างเสถียรภาพที่ดีในการวิ่งทางตรง สมรรถนะการขับขี่ที่มั่นคง ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก และสร้างสมรรถนะในการควบคุมรถที่สูงสำหรับผู้ขับขี่ทุกระดับ

“ยังมีเรื่องความแข็งแกร่งของตัวถังรถยนต์ จากโครงสร้างที่มีลักษณะของวงกลม ช่วยกระจายแรงกดดันจากการเคลื่อนที่ เมื่อตัวถังแข็งแกร่งทำให้สมรรถนะการขับขี่เหนือระดับ ภายใต้ทุกสภาวะการขับขี่ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ตัวถังแข็งแกร่งขึ้นถึง 60% และถือเป็นการปฏิวัติอย่างยิ่งใหญ่ด้านสมรรถนะ

“นวัตกรรม TNGA มาพร้อมระบบกันสะเทือนอิสระแบบปีกนกคู่ มีหลักการทำงานอย่างอิสระของล้อรถด้านขวาและด้านซ้าย ทำให้รู้สึกถึงการขับขี่ที่เหนือระดับ พร้อมการเข้าโค้งอย่างมั่นคง ปรับเปลี่ยนตำแหน่งพวงมาลัย ดูว่าตำแหน่งที่ดีที่สุดของคนขับควรจะอยู่ตรงไหนของรถของเรา ตั้งแต่ตำแหน่งสะโพกจนถึงการจับพวงมาลัย

“สำหรับมุมการวางพวงมาลัยนั้นชันกว่าปกติ เพื่อการจับของคนขับอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับการจับมือ ที่นั่งเหมาะกับร่างกายคนขับ ทำให้เกิดจุดการมองที่คงที่ขณะเข้าโค้ง นี่คือตำแหน่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับการขับขี่ที่เรียบง่าย ทำให้คนขับไม่เหนื่อยล้า แม้ในการขับรถนานๆ ทัศนวิสัยที่ดียิ่งขึ้น กระจกหน้ารถที่มีจุดต่ำที่ต่ำยิ่งขึ้น และเสา A-pillar ที่บางลง”

ฮิโรทากะ ยาตะ 

 

อย่างไรก็ตาม คุณโมโตโอะยังบอกว่า ด้วยความลงตัวของ TNGA จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการถือกำเนิดขึ้น รถไฮบริดรุ่นใหม่ของโตโยต้าที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยี TNGA

ซึ่งในทริปนั้นโตโยต้า ซี-เอชอาร์ ไฮบริด (C-HR Hybrid) รุ่นใหม่ของโตโยต้าที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยี TNGA มาเป็นตัวนำพรีเซ็นต์ โดยความเปลี่ยนแปลงในยนตรกรรมไฮบริดรุ่นใหม่

คุณโมโตโอะบอกว่า ระบบส่งกำลังรถใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ระบบส่งกำลังของรถไฮบริดมีการวิวัฒนาการไปมาก อันดับแรก คือ เครื่องยนต์ การเผาไหม้พลังงานเชื้อเพลิงที่ดีขึ้น ด้วยการปรับรูปทรงของช่องทางเข้าของอากาศภายนอก รวมถึง ERG หรือการหมุนเวียนไอเสียใหม่ให้ประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น นอกจากนั้น การปรับชิ้นส่วนก่อให้เกิดแรงเสียดทานต่ำ ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพความร้อนสูงสุด 40%

สำหรับมอเตอร์ มีการปรับโครงสร้างโรลลิ่ง-คอยล์ (rolling-coil) ใหม่ในคอยล์จุดระเบิด (segmented distributor coil) ทั้งนี้ โครงสร้างหลักซึ่งเป็นโลหะแบบมีพลังงานแม่เหล็กประกอบกับชุดขดลวดแบบใหม่ช่วยลดการสูญเสียได้มากกว่าเดิมถึง 20% ความยาวของเพลาส่งกำลังใหม่สำหรับมอเตอร์และตัวกำเนิดพลังงานปรับให้สั้นลง 47 มิลลิเมตร ส่วนเกียร์แกนคู่ขนานใหม่ (parallel axis gear) ที่ใช้ในการลดอัตราความเร็ว ช่วยลดการสูญเสียเชิงกลถึง 20%

นอกจากนี้ โครงสร้างการระบายความร้อนและสายไฟแรงสูงออกแบบใหม่ เพื่อลดขนาดของชุดควบคุมการส่งกำลังลงประมาณ 33% ในขณะที่เซมิคอนดักเตอร์ลดการสูญเสียลง 20% แบตเตอรี่ไฮบริด ขั้วไฟฟ้าภายในแบตเตอรี่และที่วางแบตเตอรี่พัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการชาร์จดีขึ้น 28% รวมถึงช่วยทำให้ขนาดแบตเตอรี่ลดลง 10%

ทั้งนี้ การพัฒนาเส้นทางระบายความร้อนภายในแบตเตอรี่ ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนดีขึ้นด้วย การเอาส่วนที่ไม่ได้ใช้งานภายในแบตเตอรี่ออก ผ่านการทำระบบระบายความร้อนและการจัดวางตำแหน่งภายในตัวแบตเตอรี่ใหม่ ทำให้สามารถนำมาไว้ใต้ที่นั่งเบาะหลัง ก่อให้เกิดจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลงและการเข้าโค้งที่มั่นคงยิ่งขึ้น

และยังได้ปรับเปลี่ยนให้รถไฮบริดมีการประหยัดเชื้อเพลิงที่ดีกว่ารุ่นที่ 3 มากถึง 25.2 เปอร์เซ็นต์

คุณโมโตโอะยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ด้วยนวัตกรรมดังกล่าว ทำให้รถไฮบริดกลายเป็นนวัตกรรมยานยนต์ชั้นนำที่เป็นเอกลักษณ์ของโตโยต้า ความน่าเชื่อถือของรถไฮบริดของโตโยต้านั้น ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถไฮบริดของโตโยต้าทะยานถึงกว่า 10 ล้านคัน ในปัจจุบัน

ทั้งนี้หลังจากอธิบายเทคโนโลยีความก้าวล้ำของโตโยต้า คณะสื่อมวลชนก็ได้พบกับ Toyota C-HR Hybrid โดยจะได้ทดลองนั่งทั้งในแทรค สนาม เซ็นทรัล เซอร์กิต (Central Circuit) เป็นการทดสอบเชิงสมรรถนะแบบเต็มรูปแบบ โดยนักแข่งจากสนามแข่งมากประสบการณ์ในหลายรูปแบบ ทั้งการเข้าโค้งแบบกระชั้นชิด การเบรกแบบกะทันหัน แต่หน้าไม่ทิ่ม นอกจากนี้ยังทดสอบในถนนจริง เป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนสถานการณ์จริงของรถยนต์ และฟังก์ชั่นการประหยัดพลังงาน ระหว่างทางจะได้สัมผัสถึงความนุ่มสบาย ผ่านระบบกันสะเทือน การเร่งเครื่อง เพิ่มลดความเร็ว โดยการทดสอบประมาณ 15 นาที ระยะทางไปกลับ 17 กม. ผลการทดสอบเมื่อรถถึงจุดหมายพบว่าอัตราการสิ้นเปลืองอยู่ที่ 31.8 กิโลเมตรต่อ 1 ลิตร

ความงามภายในเรียบหรูครบครัน แต่ช่วงเบาะหลัง คนนั่งถ้าตัวเล็กก็อาจจะดูทัศนวิสัยด้านข้างไม่ได้ซักเท่าไหร่ เพราะจะมีขอบประตูบังนิดหน่อย แต่ถ้าชอบความเป็นส่วนตัวก็ไม่ใช่ปัญหา

งานนี้โตโยต้าทำให้เราได้รับรู้ได้ถึงการนำ TNGA มาดีไซน์ความคู่ไปกับงานรถสปอร์ต รับรู้ถึงความสบายในการนั่ง ห้องโดยสารเงียบ รวมทั้งความคล่องตัวสูงในการขับขี่ อีกทั้ง ระบบประหยัดพลังงานของไฮบริดใหม่ ซึ่งเตรียมจะนำมาขายในเมืองไทย

สำหรับ Toyota C-HR Hybrid เตรียมโชว์ตัวในงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2017 โดยทางโตโยต้าจะเปิดให้จองสิทธิแบบไม่เก็บเงินจอง ส่วนราคายังไม่เปิดเผย เป็นสเปก เครื่องเบนซิน 1.8L สีแดง และสีน้ำเงิน งานนี้หากใครชื่นชอบในความเป็นโตโยต้า หรือความเป็นไฮบริดของโตโยต้า คงต้องรอยลโฉม เร็วๆ นี้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image