สภาวิศวกรเรียกร้องความรับผิดชอบจากเอสซีบี

ร.ท.วโรดม สุจริตกุล ผู้แทนสถาบันป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง “บทเรียนระบบดับเพลิงแอโรซอล กับสาเหตุการเสียชีวิตที่เอสซีบี” ซึ่งจัดโดยสภาวิศวกรร่วมกับสภาผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร ว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีการระบุความรุนแรงของการที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายสัมผัสกับแอโรซอลถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งกรณีนี้ผู้เสียชีวิตไม่สามารถอพยพออกจากห้องได้ อาจเนื่องมาจาก ขนาดและความซับซ้อนของห้อง การเปลี่ยนการใช้งานห้องช่วงปรับปรุงระบบ จำนวนทางออกขณะเกิดเหตุ ความสามารถในการมองเห็น และจำนวนป้ายทางหนีไฟ จึงต้องหายใจนำแอโรซอล และสารพิษที่เกิดขึ้นเข้าไปเกินขนาดไม่น้อยกว่า 15 นาที จึงเป็นเหตุสำคัญที่สุดของการเสียชีวิตครั้งนี้

“ตามมาตรฐานของ NFPA 2010 บุคคลที่จะเข้าทำงานในพื้นที่ทำงานของระบบของแอโรซอล ต้องได้รับการอบรมตามมาตรฐาน และต้องสังเกตความปลอดภัย พร้อมปิดระบบขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างมาก”ร.ท.วโรดม กล่าว

นายสุจิ คอประเสริฐศักดิ์ เลขาธิการสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย กล่าวว่า การเข้าทำงานในห้องมั่นคง (Strong room) ถือว่าเป็นการทำงานในสถานที่เฉพาะ จำเป็นที่จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและขบวนการทำงานเฉพาะ จะต้องมีการขออนุญาตการเข้าทำงานจากเจ้าของสถานที่ และบุคคลากรจะต้องเคร่งครัดในขั้นตอนของกระบวนการทำงานอย่างรัดกุม ขอเรียกร้องให้ส่วนที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบที่มากกว่าการชี้เป้าให้บริษัทรับจ้างเป็นผู้ร้ายทางสังคมแต่เพียงผู้เดียว

นายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร กล่าวว่า การบริหารความปลอดภัยในอาคาร ต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของอาคาร และ ผู้รับเหมา และต้องให้ความสำคัญกับการปิดระบบก่อนจะใช้ห้อง ในระหว่างตรวจสอบอาคารด้วย โดยผู้ตรวจสอบอาคาร ต้องสามารถเข้าตรวจสอบได้ทุกพื้นที่ โดยการตรวจสอบต้องให้แน่ใจว่า ห้องมีทางออกที่สามารถอพยพได้ทันทีหรือไม่ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และไม่ได้ปิดกั้นทางออก หากมีระบบ Access control จะเชื่อมต่อเข้าระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ อุปกรณ์สัญญาณแจ้งเตือน ด้วยเสียงและแสง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการควบคุมเข้าปฏิบัติงานในห้องที่ติดตั้งระบบดับเพลิง ต้องประเมินความเสี่ยงอันตราย มีอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยงส่วนบุคคลที่เหมาะสม รวมถึงการปิดระบบก่อนเข้าปฏิบัติงาน

Advertisement

นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า เตรียมตั้งคณะกรรมการจรรยาบรรณ เพื่อไต่สวนสืบสวนข้อเท็จจริง โดยจะขอข้อมูลจากกรุงเทพมหานครและธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมตรวจสอบวิศวกรที่ออกแบบและควบคุมระบบ ซึ่งทุกคนต้องมีใบอนุญาต หากพบว่าวิศกรไม่มีใบอนุญาต ทำผิดจรรยาบรรณ ตามเงื่อนไขระเบียบข้อบังคับของสภาวิศวกรระบุ นอกจากจะพิจารณาการยกเลิกหรือพักใช้ใบอนุญาตแล้ว ยังมีบทลงโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image