‘เนร่า’ เผยความเสี่ยงจากการประมูลคลื่นความถี่ ส่งผลไทยประสบปัญหาใช้งานดาต้าช้า

จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำลังเตรียมการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ของประเทศไทยในปี 2561

นายฮานส์ อีลเล ในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสประจำสำนักงานเนร่า (NERA) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกที่เชี่ยวชาญและวิเคราะห์ พร้อมทั้งออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ทั่วโลกทั้งเอเชียแปซิฟิก ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา เปิดเผยผลการศึกษาต่อมุมมองการเตรียมจัดประมูลดังกล่าวโดยจัดทำเป็นรายงาน (Whitepaper) ในหัวข้อ “ความเสี่ยงจากการประมูลคลื่นความถี่ทำให้ประเทศไทยประสบกับการใช้งานดาต้าที่ช้า” และมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

“คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz เป็นคลื่นความถี่ที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค” ใช้ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G และ 4G ภายใต้สัญญาสัมปทานกับ กสท ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2561 ซึ่งดีแทคไม่ได้รับสิทธิ์ในการต่ออายุ และจะต้องเข้าแข่งขันในการประมูลหากต้องการนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้งานต่อ”

นายฮานส์ กล่าวว่า การออกแบบการประมูลในชั้นแรกของ กสทช.นั้น อาจทำให้เกิดข้อโต้เถียง 2 ประการ เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวไม่สนับสนุนกระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งกรณีที่ผู้เข้าร่วมประมูลน้อยราย จะไม่มีการนำคลื่นความถี่บางช่วงเข้ามาประมูล (กฎ N-1) และการกำหนดราคาตั้งต้นที่สูงเป็นพิเศษ โดยอาศัยราคาจากการประมูลในปี 2558

Advertisement

“การกำหนดเช่นนี้จึงอาจทำให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ ก็คือได้เงินจากการประมูลน้อยลง มีคลื่นความถี่ที่ไม่สามารถประมูลได้ ตลาดไม่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องแบกรับภาระทางการเงิน ส่งผลให้มีการลดแรงจูงใจในการลงทุนและแข่งขันกันในการให้บริการข้อมูลผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ในยุคต่อไป ประเทศไทยยังไม่ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่สำหรับ 4G และยังตามหลังเศรษฐกิจประเทศตะวันตกและอีกหลายประเทศในเอเชียในการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการการใช้งานการใช้ดาต้าที่เพิ่มขึ้น ผลที่ไม่ได้ตั้งใจของกฎ N-1 คือ อาจจะทำให้มีช่องว่างนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจะเป็นผลให้คลื่นความถี่อย่างน้อย ร้อยละ 10 ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานในตลาด” นายฮานส์ กล่าวและว่า

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกต้องการแสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎเกณฑ์นี้อาจทำให้ไทยต้องประสบกับช่องทางการใช้งานดาต้าที่เชื่องช้า เป็นการจำกัดขอบเขตการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในอนาคต ที่สำคัญอาจส่งผลกระทบต่อวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 และยังส่งผลให้ผู้บริโภคที่จำเป็นต้องใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจได้รับผลเสียหายตามมา นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ยกเลิกการใช้กฎ N-1 และตั้งราคาตั้งต้นการประมูลที่สมเหตุสมผล ซึ่งในที่สุดแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคชาวไทยและเศรษฐกิจองค์รวม

(ข้อมูลสรุปจากการวิเคราะห์จาก www.nera.com)

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image