อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กู้ศก.สั้น-ยาว ดัน”เอสเคิร์ฟ”

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กู้ศก.สั้น-ยาว ดัน”เอสเคิร์ฟ”

สัมภาษณ์

โดย มาสุทธิ ตั้งภควัตกุล

 

Advertisement

หนึ่งในทีมเศรษฐกิจถูกจับตามองเป็นพิเศษว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีดีอะไร ทำให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไว้วางใจดึงมาช่วยทำงาน พร้อมมอบหมายให้นั่งกระทรวง ถือเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ภายหลังเข้ามาทำงานกว่า 6 เดือน นายอภิศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “มติชน” โดยได้ฉายภาพของการดูแลเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่าน รวมถึงแผนเตรียมไว้ในอนาคต เนื่องจากคนบางกลุ่มยังมีความรู้สึกว่านโยบายกระตุ้นหลายมาตรการออกมายังไม่ช่วยเศรษฐกิจเท่าใดนั้น เพราะยังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลงเรื่อยๆ จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารัฐบาล “หมดมุข” แก้เศรษฐกิจหรือยัง

– การทำงานด้านเศรษฐกิจในขณะนี้เป็นอย่างไร

หลักการทำงานด้านเศรษฐกิจมี 2 ส่วนคือ ระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นนั้นทำมาแล้วหลายมาตรการ ทั้งการเติมเงินไปให้กลุ่มประชาชนลำบาก อาทิ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ด้วยการให้สินเชื่อ 0% นาน 2 ปี ผ่านกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท การให้เงินตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อไปจ้างงานในชนบท วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย เพราะเท่าที่ดูพบว่าคนไทยมีเงิน แต่ไม่มีอารมณ์จะใช้จ่าย จึงมีโครงการช้อปช่วยชาติ ด้วยการลดหย่อนภาษีจากการช้อปปิ้งช่วงปีใหม่ 1.5 หมื่นบาทออกมา ตรงนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ภาครัฐพยายามทำเรื่องลดคอร์รัปชั่น อาทิ กรณีนำวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มาใช้ในการประมูลภาครัฐ นอกจากทำให้เกิดความโปร่งใสแล้ว ยังช่วยทำให้รัฐประหยัดงบประมาณเพราะการประมูลต่ำกว่าราคากลาง 10-30% หรือในช่วง 6 เดือนนำระบบนี้มาใช้ทำให้รัฐบาลประหยัดงบกว่า 3 หมื่นล้านบาท สามารถนำงบประมาณตรงนี้ไปดูแลเศรษฐกิจในส่วนอื่นได้

การทำงานรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เน้นการกระตุ้นระยะสั้นแค่ขาเดียว แต่จะทำไปพร้อมๆ กับการวางรากฐานให้กับประเทศในระยะยาว รวมถึงต้องดูในเรื่องของการเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างความเท่าเทียมของสังคม เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เอสเอ็มอี 1.5 แสนล้านบาท การเติมเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน การสนับสนุนการศึกษาผ่านกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และออกมาตรการเพื่อให้คนกู้ยืม กยศ.ใช้หนี้ เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียนไปให้นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อๆ ไป

– แล้วแผนระยะยาว…

แผนเศรษฐกิจในระยะยาวเน้นกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทั้งการลงทุนรัฐและเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐนั้นหลังจากวางแผนมานานกว่า 2 ปี ในปีนี้รัฐบาลจะเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนให้ได้ ส่วนเอกชนมีมาตรการกระตุ้น ทั้งนำมูลค่าการลงทุนมาหักค่าใช้จ่ายภาษีได้ 2 เท่า และมีการกำหนดเป้าหมายการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมอนาคต ให้สิทธิประโยชน์พิเศษ เพราะถือเป็นการวางรากฐานให้กับอนาคตประเทศ

ในระยะยาวนั้นยังมีโครงสร้างอีกหลายอย่างที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินเพิ่งออกเป็น พ.ร.บ.การเงินการคลัง

การผลักดันให้ภาคธุรกิจและร้านค้ารับจ่ายเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์) สนับสนุนบัญชีเดียวสำหรับเอสเอ็มอี พบว่าเอสเอ็มอีให้ความสนใจมาลงทะเบียนกว่า 4 แสนราย หรือเกือบ 100% ของบริษัทเอสเอ็มอีในไทย

การดูแลเศรษฐกิจนั้นต้องทำไปพร้อมๆ กันทั้งการกระตุ้น และวางรากฐานในระยะยาว ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ เพราะถ้าไม่กระตุ้นระยะสั้น ทำให้เศรษฐกิจลงไปลึกเมื่อลงลึกต้องใช้พลังมากในการดึงกลับคืนมาระดับเดิม ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานช่วงนี้เป็นจังหวะดี ต้องลงทุน และรัฐบาลชุดนี้พร้อมสนับสนุน เพราะไม่ได้หวังผลทางการเมือง หากเป็นรัฐบาลเลือกตั้งจะเน้นกระตุ้น เพื่อซื้อใจคน การลงทุนพื้นฐานในอดีตจึงน้อยมาก

– สุดท้ายแล้วคาดว่าจะได้ผลแค่ไหน

ขณะนี้เศรษฐกิจโลกไม่ดีนัก ไทยเคยพึ่งพาคือการส่งออก ขณะนี้ก็พึ่งไม่ได้แล้ว ตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนมกราคมติดลบถึง 9% ถ้าเทียบกับจีนพบว่าในเดือนมกราคมติดลบ 11% ที่น่าตกใจคือในเดือนกุมภาพันธ์จีนติดลบถึง 25% ถือว่าไม่ปกติ ทำให้จีนปรับนโยบายเศรษฐกิจหันมาพึ่งพาในประเทศมากขึ้น เหมือนกับที่ไทยให้ความสนใจกับเศรษฐกิจในประเทศ มองแล้วว่าการส่งออกมีปัญหา

ดังนั้น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนี้น่าจะเดินมาถูกทางแล้ว

เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้เกินกว่า 3% แต่ต่ำกว่า 3.7% ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินไว้เมื่อต้นปี มีความหวังว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ทั้งในเรื่องผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.7 ล้านล้านบาท ระบบอีเพย์เมนต์ บัญชีเดียว จะทำให้รากฐานของประเทศแข็งแกร่ง และทำให้ประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมอนาคต จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยก้าวสู่เอส (S) เคิร์ฟใหม่

ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยดิ่งลง ขณะนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ตรงปลายตัวเอส และจ่อจะดิ่งหัวลง หวังว่าสิ่งที่รัฐบาลวางไว้ จะได้ผลดี ทำให้เศรษฐกิจไทยในอีก 3-4 ปีข้างหน้าโตได้เฉลี่ย 4-5% แม้รัฐบาลชุดนี้จะไม่อยู่แล้วก็จะคอยติดตามผลที่จะเกิดขึ้น

– มีคนมองว่ารัฐบาลหมดมุข

มีคนมองแบบนั้น มองว่ารัฐบาลหมดมุขแก้เศรษฐกิจ มุขอะไรไม่รู้ อธิบายไม่ถูก เพราะในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นต้องมองไปข้างหน้า และเตรียมความพร้อมไว้ ไม่จำเป็นว่าที่เตรียมไว้ต้องนำมาใช้ทั้งหมด แต่ความสำคัญคือต้องประเมินสถานการณ์ให้ออก และนำสิ่งเตรียมไว้มาใช้ให้ถูกจังหวะ

รัฐบาลไม่ได้มีปัญหาด้านการเงิน ดังนั้น จึงมีเงินจะนำมาดูแลเศรษฐกิจอีกมาก แม้การจัดเก็บรายได้จากภาษีจะหลุดเป้าไปบ้าง แต่เป็นการหลุดเป้าจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาก มีรายได้อื่นมาเสริม อาทิ การประมูล 4จี และในอนาคตจะมีเงินจากนโยบายวางไว้ อาทิ บัญชีเดียว อีเพย์เมนต์ คาดว่าจะทำให้รายได้ของกรมสรรพากรปรับเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 แสนล้านบาท มาช่วยอีก

ที่สำคัญภาระหนี้สาธารณะ (หนี้ของรัฐบาล) ยังต่ำมาก 44% ของจีดีพีเท่านั้น ทำให้สามารถกู้เงินได้อีกมากหากจำเป็น โดยกำหนดระดับหนี้สาธารณะตามกรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลังของไทยว่าไม่ควรเกิน 60% ของจีดีพี แต่รัฐบาลชุดนี้พยายามไม่เป็นหนี้มาก เห็นได้จากการพยายามปรับลดงบประมาณด้วยการนำระบบอีบิดดิ้งมาใช้ ลดการทุจริตคอร์รัปชั่น และผลักการลงทุนขนาดใหญ่ไปให้เอกชนมาร่วมลงทุน (พีพีพี) มากขึ้น

ในการดูแลเศรษฐกิจ รัฐบาลมีแผนสำรองไว้เพียบ กระสุนก็มีพร้อม แถมยังมีกระสุนสำรองเอาไว้ดูแลเวลาเกิดปัญหาฉุกเฉิน คือการที่หนี้สาธารณะต่ำ หากจำเป็นก็พร้อมจะกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจได้ทันที แต่ก็ขอย้ำว่าต้องจำเป็นจริงๆ จึงจะกู้มาใช้

ในเวลาอันใกล้ 1-2 สัปดาห์นี้จะมีเรื่องบ้านประชารัฐจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) กระทรวงการคลังเสนอเรื่องไปบรรจุวาระเข้า ครม.แล้ว และกำลังขอความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการบ้านประชารัฐจะช่วยสนับสนุนให้คนจนมีบ้าน และบ้านถือเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต แม้นโยบายนี้อาจทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ก็ไม่เป็นห่วง เพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินในอนาคต ไม่ใช่การใช้จ่ายที่หมดไป

นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภคช่วงสงกรานต์ เพื่อให้คนไทยนำเงินออกมาใช้จ่าย เป็นโครงการต่อเนื่องจากการกระตุ้นใช้จ่ายปลายปี ยอมรับว่าต้องกระตุ้นตรงนี้เพราะคนไทยยังไม่เชื่อมั่น ทำให้การบริโภคขยายตัวน้อยกว่าควรจะเป็น แต่ในทางกลับกันต่างชาติกลับมองไทยดีขึ้น เพราะไทยเป็นประเทศมีการเงินการคลังมั่นคง มีการเจริญเติบโตพอสมควร การเมืองช่วงนี้นิ่งแล้ว แต่ก็แปลกคนไทยกลับไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น

ในส่วนของเกษตรกรและคนมีรายได้น้อยนั้น รัฐบาลยังไม่ทิ้ง กระทรวงอยู่ระหว่างสรุปมาตรการเพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าโดยเฉพาะกับคนรายได้น้อย ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คนมีรายได้น้อยมีอยู่หลายกลุ่มทั้งเกษตรกร และคนกลุ่มฐานราก ขณะนี้คงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้มากนัก เนื่องจากต้องรอให้ผ่าน ครม.ก่อน

มาตรการที่จะประกาศในเร็วๆ นี้มีการเตรียมเงินไว้แล้ว ดังนั้น จึงขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้พร้อมจะดูแลเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มาตรการเตรียมไว้มีอีกมาก และพร้อมงัดมาใช้ทุกสถานการณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image