แจสเบี้ยวจ่ายค่า 4 จี คลื่น 900 ถูกยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันกว่า 600 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อสิ้นสุดเวลา 16.30 น.วันที่ 21 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือแจส ต้องชำระค่าประมูล 4 จี งวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท และวงเงินค้ำประกันอีก 6.76 หมื่นล้านบาท ปรากฏว่าเมื่อหลังเวลา 16.30 น.ซึ่งผ่านพ้นเส้นตายไปแล้วทางแจสก็ยังไม่ได้นำมาส่งมอบกับทางกสทช.แต่อย่างใด ส่งผลให้ แจส ต้องถูกยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงิน 644 ล้านบาททันที รวมถึงการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการจัดการประมูลรอบใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบรรยากาศการรอรับชำระค่าใบอนุญาตวันสุดท้ายของ แจส ตลอดทั้งวันได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนกว่า 50 คน รวมถึงตัวแทนของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ที่ได้เข้ามาเฝ้าสังเกตการณ์ด้วย

พิชญ์ โพธารามิก ซีอีโอ กลุ่มจัสมิน
พิชญ์ โพธารามิก ซีอีโอ กลุ่มจัสมิน

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) วันที่ 21 มีนาคม ว่า ราคาหุ้นซื้อขายในแดนบวกตลอดทั้งวัน และยังเป็นหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายและปริมาณการซื้อขายสูสุดติด 1 ใน 5 ของวัน ราคาปิดการซื้อขายที่ 3.68 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือ 2.79% ราคาสูงสุดของวันที่ 3.70 บาท และต่ำสุดที่ 3.56 บาท มูลค่าการซื้อขาย 3,229 ล้านบาท

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยแพร่ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก “Somkiat Tangkitvanich” ว่า น่าเสียดายที่แจสไม่ได้นำเงินมาชำระค่าประมูลคลื่น ทำให้ไม่เกิดผู้เล่นรายใหม่ แต่มองในแง่ดี การมีปัญหาในช่วงนี้ดีกว่าการมีปัญหาในอนาคตซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค หากเริ่มให้บริการแล้ว โดยกสทช. ควรนำคลื่นมาประมูลใหม่โดยตั้งราคาเท่ากับราคาสุดท้ายก่อนที่ผู้ประกอบการที่เหลือรายแรกออกจากการประมูล ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เพราะเป็นราคาที่ทุกรายรับกันได้ ไม่ควรนำไปประมูลในราคาที่แจสประมูลได้ เพราะเป็นราคาที่ผู้ประกอบการรายอื่นไม่เอา และไม่ควรเก็บคลื่นไว้เฉย ๆ เพราะเป็นการปล่อยให้ทรัพยากรสูญเปล่า ควรนำมาจัดประมูลโดยเร็วที่สุด เพราะสังคมมีความต้องการใช้

Advertisement

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) กล่าวว่า หลังจากที่แจสไม่เดินทางชำระค่าประมูล 4 จีคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ หลังสิ้นสุดเวลา 16.30 น.วันที่ 21 มีนาคมนั้น ทาง กสทช. จึงได้ตัดสิทธิ์ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์แก่ แจส ส่วนแนวทางที่จะดำเนินการในเบื้องต้นนั้นเป็นไปตามที่บอร์ด กทค. ได้มีมติออกมา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ประกอบด้วย 1.หากมีการประมูลใหม่ ราคาตั้งต้นการประมูล จะกำหนดเท่ากับราคาประมูลที่ผู้ชนะการประมูลทิ้งใบอนุญาตไป ซึ่งในกรณีของ แจส คือ 75,654 ล้านบาท 2.ในการประมูลใหม่ จะไม่ตัดสิทธ์ผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้วที่ได้นำเงินประมูลมาชำระ คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เพื่อให้มีผู้เข้าประมูลจำนวนมากราย

3.หากมีการประมูลใหม่แต่ไม่มีผู้สนใจเข้าประมูล ทาง กสทช. จะเก็บคลื่นไว้อย่างน้อย 2 ปี และ 4.ผู้ประมูลที่ไม่มาชำระตามกำหนดเวลา นอกจาก กสทช. จะริบหลักประกันที่เป็นเช็คเงินสดมูลค่า 644 ล้านบาท ยังจะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงตรวจสอบคุณสมบัติใบอนุญาตของการเป็นผู้ประกอบกิจการที่มีกับ กสทช. ทั้งหมด ทั้งนี้ส่วนจะมีการประมูลใหม่เมื่อใด หรือจะมีการเรียกร้องค่าเสียหายเมื่อใดนั้น ทางบอร์ด กทค. จะมีการประชุมเพื่อหาความชัดเจนในกรณีต่างๆ ในวันที่ 23 มีนาคมนี้ โดยหลังจากได้ข้อสรุปแนวทางได้แล้วก็จะมีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชน นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงจากกรณีที่เกิดขึ้นต่อไป

“เราทำหน้าที่ดีที่สุดแล้วและเป็นไปได้ตามข้อกฎหมาย คือเมื่อชนะการประมูลแล้วมาจ่ายค่าประมูลไม่ได้ก็ต้องรับโทษไป แต่หากไม่เห็นด้วยก็สามารถใช้สิทธิ์ต่อสู้ในชั้นศาลได้” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

Advertisement

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในการคิดค่าเสียหายกับ แจส ทางกสทช. จะตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาทางกฎหมายขึ้นมาพิจารณา โดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธาน และตัวแทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว ส่วนรายละเอียดการดำเนินการทางกฎหมายนั้นต้องหารือกันในบอร์ด กทค.ที่จะประชุมในวันที่ 23 มีนาคมนี้ก่อน นอกจากนี้ได้ประสานไปยัง แจส และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ(ตลท.) เพื่อขอให้ แจส ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการด้วย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่ประชาชน หรือนักลงทุน ต้องรับทราบข้อเท็จจริง

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวกระทบต่อประวัติการณ์ของวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยอย่างมาก ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกันหาทางออกอย่างรอบคอบที่สุดเพื่อความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ในความเห็นของดีแทค หากมีการจัดการประมูลอีกครั้ง ควรจะต้องนำคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ช่วงที่ 1 มาประมูลใหม่ตามเงื่อนไขเดิมของ กสทช. ซึ่งยังมีผลใช้บังคับ รวมทั้งกำหนดราคาประมูลเริ่มต้น 16,080 ล้านบาทเท่าเดิม เพราะเป็นราคาที่นำไปสู่การสะท้อนมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image