‘ไพรินทร์’ตรวจเยี่ยม รฟม.พร้อมลุยรถไฟฟ้าหลากสี ปิ๊ง!ใช้บัตรเครดิตแทนตั๋วร่วม

วันที่ 12 มกราคม นายไพรินทร์ ชูชาติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ว่า รฟม.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งดำเนินการได้ดีและมีภารกิจที่ชัดเจน โดยการลงทุนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนใหญ่ผ่านความเห็นชอบเกือบหมดแล้ว รฟม.จึงมีภารกิจในการผลักดันรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดต่อไป เช่น เชียงใหม่ภูเก็ตนครราชสีมา และขอนแก่น

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ปีนี้จะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง จึงขอให้ประชาชนอดทนต่อปัญหาจราจร แต่ รฟม.ก็ต้องคืนพื้นที่จราจรในส่วนที่ก่อสร้างเสร็จแล้วโดยเร็ว โดยในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตนั้น รฟม.จะคืนพื้นที่ก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธินตามแผนในต้นปี 2562 อย่างแน่นอน สำหรับแผน คือ จะก่อสร้างสะพานข้ามแยกรัชโยธินแล้วเสร็จในปี 2561 และก่อสร้างอุโมงค์ลอดแยกรัชโยธินในปี 2562 ซึ่งจะลดปัญหาจราจรบริเวณดังกล่าวลงไปได้

ด้านนายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ภายในปีนี้ รฟม.จะดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 101,112 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท โดยสีม่วงใต้จะเปิดประมูลในเดือนกุมภาพันธ์ และลงนาในสัญญาผู้รับจ้างเดือนธันวาคมปีนี้ เบื้องต้นจะแบ่งเป็น 6 สัญญา คือ ใต้ดิน 4 สัญญา ยกระดับ 1 สัญญา และราง 1 สัญญา สำหรับวงเงินก่อสร้างงานโยธาอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท โดยจากกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย 10% และ 90% จะกู้จากในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงการคลัง ส่วนสีส้ม อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมทุน คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาเสนอให้บอร์ดรฟม.พิจารณาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ และจะเปิดประมูลได้ปลายปีนี้

นายฤทธิกา กล่าวว่า สำหรับโครงรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค – พุทธมณฑล สาย และสายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการ-บางปู และช่วงคูคต-ลำลูกกานั้น อาจจะต้องชะลอการดำเนินโครงการออกไปก่อน เนื่องจาก รฟม.ยังตกลงเรื่องการโอนหนี้สินและทรัพย์สินในส่วนของสายสีเขียวที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนสายสีน้ำเงินจะต้องมีการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนก่อน เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะลดภาระการลงทุนของภาครัฐโดยต้องการให้เอกชนเข้ามาลงทุน

Advertisement

ส่วนความคืบหน้าในการศึกษาระบบตั๋วร่วมนั้น รฟม.ได้มีหนังสือไปถึงบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีอีเอ็มให้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบกลับมา และอยู่ระหว่างหารือกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือบีทีเอส และบีอีเอ็มเรื่องการจัดตั้งบริษัทลูกในการบริหารตั๋วร่วม นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาระบบใหม่ที่อาจจะนำมาใช้แทนระบบตั๋วร่วม คือ การใช้ระบบบัตรเครดิตแทนซึ่งเป็นระบบที่ต่างประเทศใช้กันในขณะนี้

นายฤทธิกา กล่าวต่อถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น คาดว่ารถไฟฟ้าภูเก็ตจะเริ่มดำเนินการได้ก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษารูปแบบการลงทุน คาดว่าจะใช้เวลา 4 เดือน โดยหากองค์กรท้องถิ่นส่วนภูมิภาคต้องการลงทุนเอง รฟม.ก็ยินดี เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งขณะนี้มีหนึ่งเอกชนที่ภูเก็ตสนใจ ส่วนของรถไฟฟ้าขอนแก่นนั้นขณะนี้ทางเทศบาลขอนแก่นจะเข้ามาลงทุนเองทั้งหมด ส่วนรถไฟฟ้าเชียงไหม่นั้นต้องรอให้กระทรวงคมนาคมเลือกรูปแบบของโครงการก่อนว่า จะใช้รูปแบบบนดินหรือใต้ดินหลังจากนั้น รฟม.จึงจะมาดำเนินการต่อไป

Advertisement

ส่วนการดำเนินการฟ้องร้องบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ให้นำรถออกจากพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น  รฟม.มอบให้อัยการดำเนินการฟ้องร้อง โดยเบื้องต้นอัยการได้ทำหนังสือสอบถาม รฟม.ว่า สามารถจัดหาที่จอดรถส่วนอื่นแทนได้หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นมองว่าพอมีที่จอดแต่การย้ายรถจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ดังนั้น คงต้องรอศาลมีคำสั่งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตามขณะนี้ รฟม.ได้ประสานกับผู้รับเหมาให้ปรับแผนการก่อสร้างแล้ว โดยให้ไปเริ่มงานก่อสร้างในส่วนอื่นก่อน

ส่วนการเตรียมปรับขึ้นค่าโดยสาร รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ซึ่งเป็นไปตามสัญญาสัมปทานที่ต้องปรับทุกๆ 2 ปี นั้นคาดว่า รฟม.จะเสนอเรื่องให้บอร์ดพิจารณาได้ภายในปลายเดือนมกราคมนี้ จากนั้นจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบก่อนปรับราคา เบื้องต้นจะมีการปรับเพียง 3 สถานี จากทั้งหมด 18 สถานี ซึ่งตามสัญญาการปรับราคาจะมีผลในเดือนกรกฎาคมปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image