กทค.ตั้ง’วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์’ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต หัวหน้าทีมสอบ’แจส’อาจไม่ใช่แค่ริบเงินประกัน 644 ล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เรื่องบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัทในเครือ จัสมิน อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ว่า มีการหารือ 2 ประเด็น ได้แก่ การคิดค่าเสียหายกับแจส และการจัดประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์

กรณีคิดค่าเสียหายกับแจส นายฐากรกล่าวว่า นอกจากริบเงินหลักประกันจำนวน 644 ล้านบาทแล้ว กทค.มีมติแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาเรื่องค่าเสียหาย โดยแต่งตั้งนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต จากสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธาน ส่วนทีมทำงานจะมาจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ กสทช.โดยจะพิจารณาว่าจะเกี่ยวข้องกับความผิดทางอาญาหรือไม่ ต้องโดนถอนใบอนุญาตอื่นๆ ที่กลุ่มบริษัทจัสมินมีกับ กสทช. รวม 13 ใบอนุญาต เช่น ใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่อง โมโน 29 ด้วยหรือไม่ โดยกำหนดให้คณะทำงานนำส่งผลการพิจารณาให้ กทค. ใน 30 วัน

ส่วนการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ นายฐากรกล่าวว่า เบื้องต้น กสทช.ได้ยื่นเรื่องเสนอ กทค. พิจารณาเปลี่ยนแปลงกติกาการประมูลใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.กำหนดราคาตั้งต้นการประมูลเท่ากับราคาที่แจส ประมูล คือ 75,654 ล้านบาท แต่หากในการรับฟังความเห็นสาธารณะไม่เห็นด้วยก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ผู้ออกจากการประมูลเดิมรายแรก คือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เสนอที่ 70,180 ล้านบาท

2.เพิ่มจำนวนเงินหลักประกันจากเดิม 644 ล้านบาท เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง 30% ของเงินตั้งต้นการประมูลหรือราว 22,000 ล้านบาท 20% ของเงินตั้งต้นการประมูลหรือราว 14,000 ล้านบาท หรือ 10% ของเงินตั้งต้นการประมูลหรือราว 7,000 ล้านบาท

Advertisement

และ 3.การปรับปรุงเงื่อนไขการสิ้นสุดระยะเวลาตามมาตรการเยียวยาของผู้ประกอบการรายเดิม จากเดิมกำหนดให้ต้องสิ้นสุดการให้บริการทันทีที่ผู้ชนะการประมูลได้รับใบอนุญาต เป็นยุติการให้บริการ 30 วัน หลังผู้ชนะการประมูลได้รับใบอนุญาต

นายฐากรกล่าวถึงระยะเวลาการดำเนินการเพื่อไปสู่การจัดประมูลใหม่ หรือโรดแมป ว่า จะเริ่มวันที่ 12 เมษายน เป็นการปรับปรุงและสรุปร่างร่างประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เข้าบอร์ด กทค. และ กสทช. ตามลำดับ วันที่ 18 เมษายน-23 พฤษภาคม เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการจัดประมูล วันที่ 31 พฤษภาคม กสทช. สรุปหลักเกณฑ์การประมูลทั้งหมดและนำไปประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1-20 มิถุนายน เปิดให้ผู้ที่สนใจรับซองเข้าประประมูล และช่วงปลายเดือนมิถุนายนเปิดให้มีการเคาะราคาประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งคาดว่าการประมูลจะไม่ยืดเยื้อ น่าจะมีการเคาะราคาเพิ่มเติมไม่เกิน 5 ครั้ง เนื่องจากราคาตั้งต้นการประมูลอยู่ในอัตราสูงแล้ว

“ที่ต้องรีบจัดให้ประมูลใหม่เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ประชาชนมีความต้องการใช้งานคลื่นความถี่สูงมาก อีกทั้งเพื่อไม่ให้ปล่อยคลื่นทิ้งไว้โดยสูญเปล่า และเพื่อเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ต้องวัดใจว่าผู้ประกอบการจะยอมเข้าประมูลหรือไม่ หากไม่ กสททช.จะทำการพักการประมูลไว้ 1 ปี”

Advertisement

ส่วนกรณีดีแทคเสนอให้ กสทช. ตัดสิทธิ กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกจากการประมูลรอบใหม่ นายฐากรกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กทค. มีมติแล้วว่าให้ ทรู สามารถเข้าประมูลได้ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าแข่งขันราคา ทั้งนี้การดำเนินการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบความเสียหาย และแผนการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ รอบใหม่นี้นี้ กสทช. จะทำหนังสือชี้แจงเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image