มธ.เปิดเวที Re-design Thailand เผยแพร่งานวิจัย ชี้บริษัทไทยยังอยู่ยุค 2.5 แรงงานไม่ปรับตัว

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นายชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะอาจารย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานสัมมนา “Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้ยกประเด็น 2 ใน 3 เสาหลักทางเศรษฐกิจที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืนมานำเสนอ ได้แก่ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยภายในงานมีบุคลากรในแวดวงการศึกษา นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

นายอาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่องภาคบริการกับบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยว่า แรงงานไทยมีแนวโน้มไหลเข้าภาคบริการมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลตอบแทนดีกว่าแรงงานในภาคการเกษตร อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าการบริการด้านเมดิคอล ทัวริสม์ ซึ่งเป็นบริการระดับไฮเอนด์ยังมียุทธศาสตร์ไม่ชัดเจน ถูกระบุว่าเป็นการบริการที่หลากหลาย ทั้งที่ความจริงแล้วการให้บริการเฉพาะทาง เช่น ศัลยกรรม ผ่าตัด ขณะเดียวกันต้องปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ยังไม่สะดวกมากนัก การให้การันตีด้านการรักษากรณีมีข้อพิพาทหรือมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น และการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาล

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่องช่องว่างทักษะกับนัยยะที่มีต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยว่า นอกจากการเพิ่มจำนวนแรงงานฝีมือให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญด้วยคือปัญหาช่องว่างของทักษะ โดยเฉพาะในด้านความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบ และความมีวินัยในการทำงาน ทั้งนี้พบว่าบริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ 2.5 จะเห็นช่องว่างของทักษะแรงงานได้ชัดขึ้น เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน แต่แรงงานยังทำงานไม่เป็นหรือทำงานไม่ได้ตามความคาดหวังของนายจ้าง

ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่อง “พลวัตการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” ว่า ความสามารถในการเปิดตลาดใหม่ของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในตลาดโลก มีแนวโน้มชะลอตัวลงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมหลักและมีเพียงครึ่งเดียวที่จะสามารถพัฒนาไปสู่การส่งออกที่ยั่งยืนได้ นอกจากนี้แล้วพบว่าอุตสาหกรรมที่เพิ่มความชำนาญในการผลิตและส่งออก สามารถสร้างหรือกระตุ้นการเติบโตทางการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ และสามารถลดความผันผวนจากการสร้างความชำนาญในการผลิตสินค้าได้ด้วยการกระจายสินค้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image