กระทรวงเกษตรแจง”ฮิวแมนไรต์วอทช์” ไทยทำตามมาตรฐานประมงสากล

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวฮิวแมนไรต์วอทซ์เผยแพร่รายงานชื่อ “โซ่ที่ซ่อนไว้ : การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย” ซึ่งระบุว่า ประมงไทยยังไม่หมดปัญหาการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงมีข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นมากมายจากการดำเนินงานตามมาตรการใหม่ของรัฐบาลไทยนั้น ขอชี้แจงว่าปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วนระดับชาติ เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์แบบองค์รวม ไม่ยอมรับการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิงและจากการปฏิรูปการประมง ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กรมประมงได้กำหนดมาตรการและกฎระเบียบต่าง ๆ โดยบูรณาการความร่วมมือและรับฟังความคิดเห็น ระหว่างหน่วยงานของรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายอดิศร กล่าวว่า สำหรับมาตรการและกฎระเบียบที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดตรวจสอบเรือประมงทั้งก่อนและหลังการออกทำประมง โดยศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก ซึ่งมีจำนวน 32 แห่ง และจุดตรวจส่วนหน้าอีก 19 แห่ง กระจายอยู่ในจังหวัดชายทะเล โดยมีเจ้าหน้าที่ชุดสหวิชาชีพจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมเจ้าท่า ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมจัดหางาน ร่วมกันตรวจเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และตรวจเรือประมง ตรวจความปลอดภัยของเรือ ตรวจสอบคนประจำเรือว่าถูกต้องตรงตามเอกสาร ทั้งในขณะที่จะออกทำการประมง และเมื่อกลับจากทำการประมง

นายอดิศร กล่าวว่า ยังได้ตรวจสอบการจัดเวลาพักให้กับแรงงานในเรือประมง รวมทั้งสุขอนามัยและสวัสดิภาพของคนประจำเรือด้วย และมีการการสุ่มสัมภาษณ์ลูกเรือประมงทั้งก่อนและหลังทำการประมง การตรวจสอบดังกล่าวเป็นไปตามกฎกระทรวงระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ พ.ศ. 2559 ออกตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และกฎกระทรวง คุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557 ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นอกจากนี้ ยังมีการออกตรวจตราในเรือกลางทะเล โดยเจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ สำนักงานปราบปรามและป้องกันยาเสพติด และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมประมง

นายอดิศร กล่าวว่า การดำเนินการที่เข้มงวดดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานได้พบกับเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น เป็นการป้องปรามการกระทำความผิดในด้านแรงงาน อันจะเป็นช่องทางหนึ่งที่แรงงานบนเรือประมงที่ประสบปัญหาหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง สามารถร้องเรียนหรือร้องทุกข์ผ่านเจ้าหน้าที่ขณะที่มีการตรวจสอบได้โดยตรง นอกจากนี้ การที่เรือประมงพาณิชย์ถูกกำหนดให้ออกทำการประมงครั้งละไม่เกิน 30 วัน จะทำให้แรงงานไม่ได้ถูกบังคับให้อยู่ในทะเลเป็นระยะเวลานาน อันจะเป็นการลดปัญหาแรงงานในเรือประมงลงได้อีกทางหนึ่งด้วย

Advertisement

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 ที่กระทรวงเกษตรฯ ถึงกรณีการนำเสนอข่าวของฮิวแมนไรต์วอทซ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ชี้แจงข้อมูลทั้งหมดแล้ว ส่วนเรื่องว่าไทยปลอดจากการทำประมงผิดกฎหมายไร้การควบคุม (ไอยูยู) หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทางหน่วยงานสหภาพยุโรป(อียู)เป็นผู้ประเมิน ในส่วนงานของกระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่ดำเนินการดูแลและควบคุมการทำประมงให้เป็นไปตามกฎหมายของไทยและมาตรฐานสากลอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image