วิ่งแล้ว! รถเมล์สายศาลายา-หมอชิต ขึ้นฟรี 5 วัน

กรมการขนส่งทางบกเริ่มให้บริการรถโดยสารมาตรฐานใหม่แล้ว เส้นทางนำร่อง “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯ ศาลายา-บีทีเอส หมอชิต (ทางด่วน)” ยกระดับการเดินทางของประชาชนให้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ด้วยระบบจีพีเอส แทร็กกิ้ง ติดตามและค้นหาตำแหน่งรถทุกคันได้ผ่านแอพพลิเคชั่น DLT GPS แบบเรียลไทม์ เพื่อการวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมระบบรองรับการชำระเงินผ่านระบบตั๋วร่วมอีทิกเก็ต เชื่อมโหมดการเดินทางสู่ระบบรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับผู้บริหาร บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด ผู้ให้บริการบัตรแรบบิท หนึ่งในระบบตั๋วร่วมสำหรับระบบขนส่งมวลชน และผู้บริหาร บริษัท ชัยวิเศษ แทร์นสปอท จำกัด ผู้ประกอบการเอกชนเดินรถที่ผ่านการคัดเลือกด้วยมาตรฐานคุณภาพได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งเส้นทางนำร่องด้วยรถโดยสารมาตรฐานใหม่ เส้นทาง “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน)” ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร่วมปล่อยขบวนรถโดยสารเพื่อให้บริการประชาชนเป็นวันแรก และจะให้บริการฟรีต่อเนื่อง 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เส้นทางวิ่งให้บริการตั้งแต่ต้นทาง ปลายทาง และจุดจอดระหว่างทาง เพื่อการวางแผนการเดินทางของประชาชนที่อยู่ในเส้นทางและบริเวณใกล้เคียง ด้วยความร่วมมือและความตั้งใจที่ทุกภาคส่วนต้องการมอบการให้บริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยเป็นของขวัญให้ประชาชน

Advertisement

นายสนิทเปิดเผยว่า หลังจากเปิดตัวเส้นทางนำร่องตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเริ่มให้บริการเส้นทางสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี(ทางด่วน) ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนที่อยู่ในเส้นทางดังกล่าวเป็นอย่างดี และเพื่อยกระดับการเดินทางของประชาชนให้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น กรมการขนส่งทางบกจึงกำหนดเริ่มให้บริการเดินรถอีก 1 เส้นทางที่เปิดตัวไปแล้วพร้อมกันคือ เส้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) ซึ่งเป็นเส้นทางเปิดใหม่ที่จะรองรับการเดินทางของประชาชนจากเขตปริมณฑลและกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตกเข้าสู่ตัวเมืองกรุงเทพมหานครชั้นใน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางสู่ระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ

โดยใช้รถโดยสารขนาดเล็กปรับอากาศขนาด 21 ที่นั่ง ประกันที่นั่งไม่มีที่ยืน ซึ่งเป็นมาตรฐานรถแบบใหม่ที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้ใช้ทดแทนรถตู้โดยสาร พร้อมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีจีพีเอส แทร็กกิ้ง (GPS Tracking) ติดตามการเดินรถตลอดเส้นทาง, อุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor) ตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก, กล้องซีซีทีวี (CCTV) ทั้งยังรองรับการชำระเงินหลากหลายรูปแบบ ทั้งรับชำระเป็นเงินสดและผ่านบัตรแรบบิท ซึ่งเป็นระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบตั๋วร่วม (e-Ticket)

Advertisement

สำหรับระบบขนส่งมวลชน ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อของประชาชนจากรถโดยสารประจำทางสู่ระบบรถไฟฟ้า บีทีเอสสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ภายในรถยังมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น บริการอินเตอร์เน็ตไวไฟตลอดการเดินทาง และบริการสำรองที่นั่งล่วงหน้าผ่านทางโทรศัพท์ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้สำรองที่นั่งล่วงหน้า สามารถเรียกใช้บริการได้ ณ จุดจอดที่กำหนด โดยสังเกตป้ายไฟแสดงสถานะหน้ารถที่เปิดสถานะ “ว่าง” พร้อมให้บริการ ในส่วนของเส้นทางให้บริการ ต้นทางจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา ผ่านมหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา), สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (บรมราชชนนี), ถนนราชพฤกษ์, สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต), ตลาด อ.ต.ก., สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต (ฝั่งตรงข้ามกรมการขนส่งทางบก) เที่ยวกลับผ่าน สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต) ก่อนย้อนกลับขึ้นทางด่วนเส้นทางเดิม สำหรับเส้นทางนี้มีจำนวนรถทั้งหมด 18 คัน สลับกันเดินรถขั้นต่ำวันละ 48 เที่ยววิ่ง (ไป-กลับ) อัตราค่าโดยสาร 45 บาทตลอดสาย

อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวเพิ่มเติมว่า การให้บริการรถโดยสารประจำทางมาตรฐานใหม่ ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากกรมการขนส่งทางบก พร้อมให้ประชาชนติดตามการเดินรถและค้นหาตำแหน่งรถได้ทุกคันจากระบบ GPS Tracking ที่ติดตั้งภายในรถโดยสารทุกคัน ผ่านการใช้งานแอพพลิเคชั่น DLT GPS เพียงกรอกหมายเลขทะเบียนรถที่ต้องการทราบตำแหน่งได้ทันทีแบบ Realtime เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีได้ทุกระบบ ทั้ง iOS : https://goo.gl/owBHir และ Android : https://goo.gl/pkKFMJ นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาได้ โดยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการรถโดยสารประจำทางในเส้นทางนำร่องได้ทางแฟนเพจ Facebook “การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม.” หรือ URL:http://www.facebook.com/BusRerouteBKK/ เพื่อนำข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำ มาประเมินและปรับปรุงการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวทิ้งท้ายว่า กรมการขนส่งทางบกจะติดตาม ควบคุม และประเมินคุณภาพของผู้ประกอบการอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้านการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ สร้างความเชื่อมั่นด้วยระบบควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัย และการให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบสนองการใช้บริการของคนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตอบโจทย์การเดินทางของผู้โดยสารได้อย่างลงตัว สะดวกสบาย จูงใจให้ประชาชนมาใช้ระบบรถโดยสารประจำทางสาธารณะด้วยคุณภาพการให้บริการอย่างมืออาชีพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image