“ปศุสัตว์”เข้มจัดโซนพื้นที่สุนัขบ้าทั่วประเทศเผยปีนี้ตายแล้ว2ราย

นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผย ว่าได้เดินทางมาเปิดโครงการสัตวแพทย์พระราชทาน ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งกิจกรรมในโครงการ นอกจากจะมีการให้ความรู้กับพี่น้องเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ใน จ.สุรินทร์ แล้ว ก็ยังมีการผ่าตัดทำหมันฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมว พร้อมทั้งมีการออกตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ฉีดยาบำรุงสุขภาพ รักษาโคนม และได้เดินทางมาดูกิจกรรมการดูแลสุขภาพช้างที่ศูนย์คชศึกษา ในหมู่บ้านช้าง ซึ่งที่นี่ก็มีช้างประมาณ 250 เชือก เป็นช้างคู่บ้านคู่เมืองของ จ.สุรินทร์ มาดูว่าช้างเลี้ยงกันอย่างไร เพื่อให้คนสุรินทร์อนุรักษ์ช้าง และดูแลช้างอย่างมีความสุข

นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์ก็ได้มีการเข้มงวดกวดขันให้ มีการส่งตัวอย่างตรวจให้มากที่สุด เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ใดมีปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้มีการส่งผลตัวอย่างจำนวนมาก พบว่ามีผลบวกจำนวนมาก การที่เรารู้มาก ก็จะรู้เร็ว และสามารถควบคุมได้เร็ว ถ้าเกิดเราไม่รู้ว่าที่ไหน และไม่เร่งรัด จะทำให้เกิดปัญหาความล่าช้า แก้ไขปัญหาไม่ทันท่วงที กรมปศุสัตว์จึงกำหนดให้พื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด เป็น 3 สีด้วยกัน สีเขียว คือ จังหวัดที่ไม่เคยเกิดโรคพิษสุนัขบ้าเลยตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป บางจังหวัด 7 ปีก็มี ที่ยังไม่เคยเกิดอุบัติกาลโรคพิษสุนัขบ้าเลย รวมทั้งหมดรวม 22 จังหวัด มี 42 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีเหลือง ที่ใน 2 ปียังเกิดอุบัติการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ แต่ยังไม่มีคนตายใน 42 จังหวัด ส่วนอีก 13 จังหวัด ยังมีอุบัติการโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์และก็มีคนตาย ทำให้แบ่งเกรด เพื่อให้าสามารถบริการจัดการ ให้ผู้บริหารแต่ละจังหวัดได้ทราบสถานะตนเอง ในพื้นที่สีเขียว สีเหลือง สีแดง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร เจ้าของสัตว์เอง จะได้ทราบว่าพื้นที่ที่เลี้ยงสัตว์ของท่านอยู่ในพื้นที่สีใด เรื่องสำคัญในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าก็คือ ต้องให้เจ้าของสัตว์มีสำนึกรับผิดชอบ ในการเลี้ยงดูแลสัตว์ ถ้าเขามีสำนึกรับผิดชอบในการดูแลแล้ว เขาต้องมีหน้าที่ในการนำสุนัขไปฉีดวัคซีน ไม่ต้องไปรอวัคซีนฟรี เพราะกฎหมายกำหนดแล้วว่า ถ้าใครเป็นเจ้าของสุนัขและแมว ก็มีหน้าที่ในการนำสัตว์ไปฉีดวัคซีน ถ้าเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ตรวจพบไม่ฉีดวัคซีน ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย เปรียบเทียบปรับ สำหรับจังหวัดใด พื้นที่ใดที่มีการประกาศเขตโรคระบาด ก็ขอความกรุณาว่าจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งเจ้าของสัตว์ในพื้นที่ประกาศเขตโรคระบาด ทั้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ จะต้องดำเนินไปตามกฎหมาย หากมีใครฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษทันที ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินการแจ้งความทันที ในพื้นที่กำหนดเขตโรคระบาด 5 กม. เพราะต้องเข้มงวด

นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เนื่องจากว่าสัตว์ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เพราะวัคซีนเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าฉีด และมีการบริการจัดเก็บวัคซีนที่ดี วัคซีนจะคุมโรคแน่นอน โดยการฉีดแต่ละครั้ง ตั้งแต่ลูกแรกเกิด ตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน ต้องนำไปฉีดวัคซีน และต่อไปก็ต้องนำไปฉีดวัคซีน ทุกปี สัตว์ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคคือ สุนัขและแมว ตอนนี้มีพื้นที่เสี่ยงโรคระบาดมาก และมีการจัดการเลี้ยงดูที่ไม่ดี มีสุนัขจรจัดมาก ซึ่งสุนัขจรจัด เป็นแหล่งรังโรค หรือแหล่งที่มีเชื้อแพร่มาก และอาจจะเสี่ยงไปในพื้นที่แหล่งเลี้ยงโค โดยเฉพาะภาคใต้ ก็ยังมีปัญหาเรื่องโค เพราะภาคใต้ชอบเลี้ยงโค แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก จริงๆแล้วก็มีปัญหาที่สุนัขและแมว โคเป็นเรื่องเล็กน้อย ช้างก็มีโอกาสเพราะช้างเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม คือโรคพิษสุนัขบ้านั้น สัตว์ใดที่ให้นมลูก สัตว์ตัวนั้นจะมีโอกาสเป็นได้ทุกชนิด ส่วนสถานการณ์ผู้เสียชีวิต ตั้งแต่เดือนมกราราคม 2561 มี 1 ราย ที่ จ.สุรินทร์, กุมภาพันธ์ 1 ราย ที่ จ.สงขลา จริงๆแล้วเดือนมีนาคม 2561 นี้ ที่ จ.ตรัง ยังไม่เสียชีวิต เพราะตรวจแล้วว่าเป็นโรค รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image