“แจส” ชวน “ชื่น”? ยอมตกกระแส “4จี” เสีย 600 ล้าน เสีย “ง่าย” เสีย 7 หมื่นล้าน เสีย “ยาก”

“แจส” ชวน “ชื่น”? ยอมตกกระแส “4จี” เสีย 600 ล้าน เสีย “ง่าย” เสีย 7 หมื่นล้าน เสีย “ยาก”

สุดท้ายแล้ว “แจส” ก็ทิ้งคลื่น 4G 900 MHz ตามที่หลายฝ่ายคาดเดากันไว้ก่อนหน้านี้

แม้ว่า กสทช. จะรีๆ รอๆ จนถึงช่วงเวลาที่กำหนดไว้เป็นเดดไลน์ 16.30 น. วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2559 จนแล้วจนรอดก็ไม่มีเงาร่างของ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือจัสมิน ของตระกูลโพธารามิก ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ 900 MHz (ช่วงที่ 1) มาจ่ายเงินงวดแรก 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน (แบงก์การันตี) จากที่ยื่นประมูลไปเมื่อปลายปีก่อน 75,650 ล้านบาท

โดยที่ “พิชญ์ โพธารามิก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มจัสมิน อ้างเหตุผลว่า สาเหตุที่ไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน จำนวน 72,000 ล้านบาท มามอบให้สำนักงาน กสทช. ได้ เป็นเพราะพันธมิตรจากประเทศจีนที่สนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทติดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของประเทศจีน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือนเมษายน 2559

ชื่อของ “แจส” เป็นที่กล่าวขานไปทั่ว หลังจากเอาชนะทั้งเอไอเอส และดีแทค ที่ตัดสินใจยกผ้า ไม่ยอมเคาะราคาต่อ เนื่องจากจำนวนเงินสูงมาก และอาจมีปัญหาหากฝืนลงทุนต่อไป

Advertisement

เท่ากับว่า ที่ทั้ง 4 ยักษ์ (เอไอเอส, ทรู, ดีแทค และแจส) เคาะราคาแข่งกันทะลุเดือด 4 คืน 5 วัน จนราคาใบอนุญาตคลื่น 900 จำนวน 2 ใบ รวมกันพุ่งไปถึง 1.5 แสนล้านบาท

มีเพียงบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์ซัล คอมมิวนิเคชั่น ในเครือทรู ที่เสนอราคาเป็นเงิน 76,298 ล้านบาท นำเงินประมูลงวดแรกมาจ่าย

ทำให้ “กสทช.” ต้องงัดแผนสำรองออกมาใช้

Advertisement

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ระบุว่า จะดำเนินการตามมติที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ที่เตรียมไว้มาใช้ ประกอบด้วย

1. หากมีการประมูลใหม่จะเริ่มต้นที่ราคา 75,654 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาของผู้ชนะประมูลครั้งที่แล้ว

2. ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ชนะครั้งที่แล้วที่นำเงินมาชำระแล้วเข้าประมูลรอบใหม่ ซึ่งหมายความว่าทรูสามารถเข้าประมูลได้

3. หากมีการเปิดประมูลใหม่แล้วไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลต้องเก็บคลื่นไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี เมื่อเปิดประมูลใหม่ราคาเริ่มต้นจะยังเท่าเดิมที่ 75,654 ล้านบาท

และ 4. กสทช. จะริบหลักประกันการประมูล มูลค่า 644 ล้านบาท และจะเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย หรือประกาศที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตเดิมจาก กสทช. ในทุกกิจการในเครือจัสมินด้วย

“เรื่องกฎหมาย กทค. จะไม่ก้าวก่าย โดยเฉพาะเรื่องการคำนวณค่าเสียหายของผู้บริโภคและประเทศชาติจากเหตุการณ์นี้ สำนักงาน กสทช. จะเป็นคนประสานงานให้มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาดูแล และนำเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี และประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ขอยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ”

งานนี้ “แจส” จึงไม่ใช่แค่โดนริบเงิน 644 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายค่าเสียหายที่ทำให้การประมูลล้มเหลวด้วย

ขณะที่ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การประเมินความเสียหายอาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยจะให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายพิจารณาเพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งในการดำเนินคดีและการคำนวณค่าเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แย้งว่า หาก กสทช. เก็บคลื่นที่แจสทิ้งไปไว้นานเป็นปี จะทำให้ประเทศเสียโอกาส

“แนวคิดที่ต้องการให้การประมูลใหม่ในราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะคือ 75,654 ล้านบาท ไม่สมเหตุสมผล เพราะสูงกว่าผู้ประมูลรายอื่นเคยเสนอไว้ หาก กสทช. ยึดราคาดังกล่าวเป็นราคาตั้งต้นอาจถูกมองได้ว่า กสทช. ไม่ต้องการให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นดังกล่าว ซึ่งจะมีผลนำไปสู่การผูกขาดบริการ 4G ที่ถูก กสทช. ควรนำราคาสุดท้ายที่ผู้ประกอบการทุกรายเคาะคือ 70,180 ล้านบาท เป็นราคาตั้งต้น”

ไม่เพียงเท่านั้น ดร.สมเกียรติ ยังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรตรวจสอบการซื้อขายหุ้น และธุรกรรมอื่นๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องว่ามีธุรกรรมใดผิดปกติในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาบางบริษัทมีธุรกรรมจำนวนหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ถือหุ้นกลุ่มต่างๆ ได้

บนเกมการประมูล 4G รอบที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ “แจส” โผล่ขึ้นมาเป็นม้ามืด กลายเป็นผู้ได้รับการชูมือให้ได้รับชัยชนะ ไล่เรียงมาถึงการทิ้งใบอนุญาต ได้ส่งผลต่อตลาด “มือถือ” ในหลายแง่มุม

เริ่มจากการแข่งขันในตลาดที่กลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการเปิดเกมของ “เอไอเอส” ที่กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ เช่นเดียวกับ “ดีแทค” ที่ทุ่มโหมทำการตลาดเป็นการใหญ่ หรือแม้แต่ “ทรูมูฟ เอช” 1 ใน 2 ผู้ชนะที่ได้สิทธิในคลื่น 900 MHz ต้องเร่งเกมชิงความได้เปรียบ เนื่องจากประมูลคลื่นมาในราคาสูงลิ่ว

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด กล่าวว่า จากการที่แจสโดดเข้าประมูลคลื่น 900 และทิ้งใบอนุญาตไป ทำให้บริษัทอื่นๆ อีก 3 ราย ที่เข้าร่วมประมูลคลื่นต้องสูญเสียมูลค่าธุรกิจไปมหาศาล (เนื่องจากราคาหุ้นในตลาดลดลง) โดยเฉพาะช่วงประมูลทั้ง 4 วัน (15-19 ธันวาคม 2558) ทั้ง 4 บริษัทคือ เอไอเอส, ทรู, ดีแทค และแจส สูญเสียมาร์เก็ตแคปรวมกว่า 2.65 แสนล้านบาท

โดยเฉพาะเอไอเอสที่เสียหายมากที่สุด

“3-4 เดือนที่ผ่านมา แจสทำให้ตลาดป่วนอย่างมาก และทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น ทุกคนในธุรกิจนี้เหนื่อยมากขึ้น แต่พอมาถึงวันนี้ที่แจสไม่ไปรับใบอนุญาต เรื่องก็ยังไม่จบ และการแข่งขันก็ไม่ได้ลดลง”

กรณีของ “แจส” ยังเกิดคำถามตามมาว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประมูลปล่อยให้บริษัทที่มีมูลค่าธุรกิจ (มาร์เก็ตแคป) แค่ 35,000 ล้านบาท เข้ามาประมูลสูงถึงกว่า 75,000 ล้านบาทได้อย่างไร

ซึ่งวงเงินจำนวนนี้ยักษ์ใหญ่อย่างเอไอเอส และดีแทค ยังต้องยกธงขาวมาแล้ว หรือแม้แต่ “ทรู” ซึ่งมีเครือเจริญโภคภัณฑ์ค้ำบัลลังก์อยู่เบื้องหลัง กว่าจะหาแบงก์การันตีได้ “ทรู” ยังหืดขึ้นคอ ต้องกู้เงินจากธนาคาถึง 6 แห่ง

ต้องไม่ลืมด้วยว่าเงินกว่า 75,000 ล้านบาท สำหรับหน้าใหม่ในธุรกิจมือถืออย่าง “แจส” คือวงเงินลงทุนเฉพาะค่าใบอนุญาตเริ่มต้นเท่านั้น

ยังต้องใช้เงินลงทุนเพื่อสร้างเครือข่าย (เน็ตเวิร์ก) อีกเป็นแสนๆ ล้านในอนาคต

สำหรับ “แจส” จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กับการเดินหน้าต่อไป

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเหตุผลมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า “แจส” มีความพยายามในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย ทั้งความพยายามหาผู้ร่วมลงทุนต่างชาติ ติดต่อหาพื้นที่เพื่อติดตั้งเสาสัญญาณมือถือทั่วประเทศ หรือแม้แต่ “โมโนฟิลม์” บริษัทในเครือโมโน กรุ๊ป ของจัสมิน ยังลงทุนสร้างภาคต่อ “หลวงพี่แท่ง” ด้วยการตั้งชื่อหนังว่า “หลวงพี่แจส 4จี” โดยนำดาราตลก “แจ๊ส ชวนชื่น” มาเป็นดารานำ เพื่อออกฉาย ด้วยหวังจะสร้างแบรนด์ให้ติดปากคนไทยมากที่สุด

แต่สุดท้ายแล้วผู้บริหารตระกูลโพธารามิก ผู้กุมบังเหียน “แจส” โดยตรงก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง หากจะฝืนเดินหน้าลงทุนต่อไป อาจหมายถึงหายนะที่อาจเกิดขึ้น

ยอมเสีย 600 ล้าน ดีกว่าต้องเสีย 75,000 ล้าน ให้ กสทช.

และอาจต้องเสี่ยงที่จะเสียอีกเป็นแสนล้านในอนาคต

ถอยและยอมเสียน้อยในจุดนี้ ย่อมเป็นทางเลือกที่ “ชื่นมื่น” มากกว่านั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image