นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งออกไทยปี 2559 ดีกว่าปี 2558 โดยมีโอกาสเกิดมากสุด 60-70% คือ ขยายตัวเพียง 2% และมีมูลค่า 218,343 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือการปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี จากปี 2558 คาดว่าจะติดลบ 5.9% เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงสูง ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม)มีศักยภาพการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและแย่งส่วนแบ่งตลาดไทยมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรยังลดลง ปัญหาอียูให้ใบเหลืองประมงไทยยังไม่คลี่คลาย และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศและการก่อการร้าย ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงมองทิศทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแต่ยังไม่มากนัก โดยประเมินว่าจะเศรษฐกิจโลกมีโอกาสโตช่วง 2.9-3.6% อีกทั้ง เงินบาทอ่อนค่า และราคาน้ำมันยังอยู่ระดับต่ำ
ทั้งนี้ ทางศูนย์ศึกษาฯ ประเมินว่าปัจจัยที่ผลต่อการส่งออกไทยมากสุด คือการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งทุก 1%ของจีดีพีจีนลดลง จะกระทบต่อไทยส่งออกไปจีน 3.97% ที่คาดการส่งออกไทยโต 2% บนพื้นฐานเศรษฐกิจจีนโต 6.3%และไทยส่งออกไปจีนติดลบ 1.1%หรือต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และหากจีดีพีจีนขยายตัว 6% ส่งออกไทยไปจีนจะลบ 2.2% กระทบส่งออกรวมเหลือขยายตัวแค่ 0.4%และหากจีดีพีจีนขยายตัวเหลือ 5.8% ส่งออกไทยไปจีนลบ 3% และกระทบส่งออกรวมติดลบทันที ที่ 0.65% เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกไปจีนสัดส่วน 11%ของส่งออกรวม รวมกับผลกระทบทางอ้อมจากประเทศคู่ค้าอื่นส่งออกได้ลดลง ก็จะซื้อสินค้าไทยลดลงตาม ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2558 จีนลดนำเข้าถึง 18.8%
อีกปัจจัยที่น่ากังวล คือ ค่าบาทอ่อน แม้บาทอ่อนส่งออกเป็นเงินบาทมากขึ้น แต่ต้องมีอัตราการการอ่อนค่าใกล้เคียงประเทศคู่แข่งด้วยกัน เชื่อว่าปีนี้ยังมีสงครามการเงิน และเงินหยวนของจีนจะอ่อนค่าลงอีก จะซ้ำเติมการแข่งขันการค้าโลกยากขึ้น และที่กู้หนี้เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯจะแบกรับภาระมากขึ้น โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมในขณะนี้คือ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับราคาน้ำมัน เฉลี่ยปีนี้น่าจะต่ำกว่า 30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
นายอัทธ์ กล่าวว่า ดังนั้น ปีนี้ส่งออกไทยต้องเพิ่มความสำคัญเจาะตลาดอินเดีย เพราะปีนี้เศรษฐกิจอินเดียจะมีการขยายตัวดีสุดของโลกคือขยายตัว 7.5% แต่เป็นสัดส่วนไม่ถึง 1%ของส่งออกรวมของไทย ควรผลักดันให้ถึง 5% ตลาดอื่นที่ต้องเน้นเช่นกัน คือ รัสเซีย เอเชียกลาง ซีแอลเอ็มวี
สำหรับการแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ ว่า ต้องแก้ไขไปพร้อมกัน 2 ด้าน คือ ดึงราคายางพาราในประเทศให้สูงขึ้น และช่วยลดต้นทุนการผลิตยางพาราของไทย วิธีการคือเพิ่มความต้องการใช้ยางพาราในประเทศ และดึงจีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตยางแปรรูปในไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เงินเฟ้อโลกชะลอ หนุนส่งออกไทยก.ค. บวก 15% สูงสุดรอบ 28 เดือน ‘พณ.’ ยืนเป้าทั้งปีบวก 2%
- สรท. มั่นใจส่งออกไทยปี 67 โต 2% หลังสอบผ่านเห็น 6 เดือนแรกพลิกบวก
- ส่งออกมิ.ย.ลบ 0.3% แต่ครึ่งปีบวก 2% พาณิชย์ มั่นใจครึ่งปีหลังไม่ต่ำ 2.3 หมื่นล.ดอลล์/เดือน
- กลยุทธ์ ‘ส่งออกไทย’ ครึ่งปีหลัง’67 อัด 50 กิจกรรมเพิ่มยอดค้า 5 หมื่นล.