รีวิว ‘รถไฟสายสีแดง’ บางซื่อ-รังสิต ผลงาน 3 ปี ก่อสร้างถึงไหนแล้ว ?

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

รีวิวสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ผลงาน 3 ปีก่อสร้างยังไม่ถึง 50%

หลังลุ่ม ๆ ดอน ๆ มานาน สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วง “บางซื่อ-รังสิต” ระยะทาง 26 กม. ที่ใช้เงินลงทุน 84,858 ล้านบาท ล่าสุดเริ่มเห็นความก้าวหน้าการก่อสร้างทีละนิด ตลอดเส้นทางมีขึ้นโครงสร้างของสถานีให้เห็นประปราย โดยเฉพาะ “สถานีทุ่งสองห้อง” เด่นชัดกว่าใครเพื่อน

ย้อนดูข้อมูลสถิติการก่อสร้าง นับจากเริ่มลงเข็มต้นแรกเมื่อต้นปี 2556 และปีนี้กำลังเข้าสู่ปีที่ 4 สถานะโครงการ ณ ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา มีผลงานก้าวหน้างานโยธาโดยรวมประมาณ 30-40% ยังล่าช้าจากแผนงานอยู่มาก มีความเป็นไปได้ที่การเปิดใช้บริการจะล่าช้าจากแผนเดิมเดือนเมษายน 2560 เป็นปี 2561 หรืออย่างช้าปี 2562

Advertisement

สำหรับผลงานก่อสร้างดูรายละเอียดแยกเป็นสัญญาพบว่า “สัญญาที่ 1” งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ อาคารซ่อมบำรุง และสถานีจตุจักร มีกลุ่มกิจการร่วมค้าเอสยู (บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง มูลค่างาน 34,141 ล้านบาท มีผลงานก้าวหน้าอยู่ที่ 36.86% ยังล่าช้าจากแผนงาน 25.43%

“สัญญาที่ 2” งานทางวิ่งรถไฟยกระดับและระดับดิน พร้อมอาคารสถานี 6 สถานี ได้แก่ บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง และรังสิต มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง มูลค่างาน 24,587 ล้านบาท มีผลงานก้าวหน้า 54.65% ยังล่าช้าจากแผนงาน 43.30%

ส่วน “สัญญาที่ 3” งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมรถไฟฟ้ากรอบวงเงิน 29,372 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ “ร.ฟ.ท-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ยังไม่สามารถเซ็นสัญญากับกลุ่ม MHSC (มิตซูบิชิเฮฟวี่-ฮิตาชิ-สุมิโตโม) ผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ ทั้งที่เปิดประมูลตั้งแต่ต้นปี 2554

ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมจาก “ครม.-คณะรัฐมนตรี” เนื่องจากเอกชนเสนอราคามาที่ 32,399 ล้านบาท ยังสูงกว่ากรอบวงเงินที่ได้รับจาก ครม. 28,899 ล้านบาท (ยังไม่รวมงบฯที่ได้รับอนุมัติเพิ่ม 473 ล้านบาท)

“วุฒิชาติ กัลยาณมิตร” ผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานสัญญาที่ 3 ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒน์ฯ กระทรวงการคลัง ให้ทางการรถไฟฯทำรายละเอียดความเป็นไปได้ของโครงการด้านผลตอบแทนทางการเงิน และทางเศรษฐกิจมาประกอบกับข้อมูลราคาที่เพิ่มเติมเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาด้วย

“รถไฟได้จ้างบริษัทที่ปรึกษามาดำเนินการแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้ และเสนอ ครม.ได้ภายในเดือนก.พ.นี้”

จากความล่าช้าของ “สัญญาที่ 3” นี้กลายเป็นตัวฉุดรั้งการเปิดใช้อย่างเป็นทางการของสายสีแดงช่วง “บางซื่อ-ตลิ่งชัน” ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมานานหลายปี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีกำหนดเปิดใช้บริการ เพราะขบวนรถที่จะนำมาวิ่งบริการนั้น พ่วงไปกับขบวนรถของสายสีแดงช่วง “บางซื่อ-รังสิต” ต้องรอจนกว่า “ร.ฟ.ท.” จะซื้อขบวนรถไฟฟ้าได้สำเร็จ หากปิดดีลจบปีนี้เร็วสุดรออีก 2 ปี หรือในปี 2561 ได้รถใหม่มาวิ่ง หรืออย่างช้าปี 2562

งานนี้วัดใจ “ผู้ว่าการการรถไฟฯ” จะเข็นโครงการได้เร็วขึ้นแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ ขณะนี้ “ออมสิน ชีวะพฤกษ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลงานของการรถไฟฯโดยตรง ก็เริ่มฮึ่ม ๆ กับผลงานที่ดูยังไม่เข้าตาของผู้ว่าการรถไฟฯ อยู่เหมือนกัน

“ออมสิน” ย้ำว่า จะเร่งการรถไฟฯเสนอรายละเอียดมายังกระทรวงโดยเร็ว เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณา เพราะต้องขอขยายกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นจาก 2.9 หมื่นล้านบาท เป็นกว่า 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากโครงการล่าช้ามานานหลายปี กลัวว่าหากดีเลย์ไปอีก จะไม่มีรถมาวิ่งบริการ เหมือนสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image