มังกรออนไลน์ ‘แจ๊ก หม่าž’ บุก ไทยได้-เสียž?!

บันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) 4 ฉบับ ระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัท อาลีบาบา เพื่อจัดทำไทยแลนด์ทัวริสต์ แพลตฟอร์ม เป็นรูปธรรมเมื่อวันที่ 19 เมษายน พร้อมกับการเดินทางมาประเทศไทย ของ นายแจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ป

เนื้อหาการลงนามประกอบด้วย 1.ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) และอาลีบาบา

2.ความร่วมมือด้านการลงทุนสมาร์ทดิจิทัลฮับ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(อีอีซี) ระหว่าง สกรศ. กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistics Network Hong Kong Limited
3.ความร่วมมือด้านการพัฒนาเอสเอ็มอี และบุคลากรด้านดิจิทัล ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และวิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS)

และ 4.ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านระบบดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอาลีบาบา

Advertisement

มุมหนึ่งที่ปรากฏชัดคือ ความคาดหวังผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยนับจากนี้ เพราะอาลีบาบา คือ ผู้นำแฟลตฟอร์มการค้าออนไลน์ของโลก เมื่อไทยเกี่ยวมือด้วย ก็ย่อมได้อานิสงส์ในการขายสินค้าของไทยผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จนถึงขึ้นมหาศาลก็ได้

ความคาดหวังนี้หลักๆ มาจากการประโคมข่าวจากฟากรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนเอกชนบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์เต็มๆ
ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า แผนงานการลงทุนและความร่วมมือของบริษัทอาลีบาบากับหน่วยงานของไทยจะมี 8 ด้าน ดังนี้คือ

1.การส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยคือข้าว และผลไม้ โดยภายในปี 2561 อาลีบาบามีเป้าหมายช่วยส่งออกข้าวไทยจำนวน 45,000 ตัน และปี 2562 จำนวน 120,000 ตัน

Advertisement

2.การส่งออกสินค้าไทยสู่นานาชาติมีเป้าหมายส่งออกสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อปของไทย 10 รายต่อปี หรือขั้นต่ำจำนวน 50 รายการสินค้า 3.ด้านการท่องเที่ยว จะช่วยให้เกิดการเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว โดยเพิ่มจุดอาลีเพย์ (Alipay) ในร้านค้าและโรงแรม 20 จุดท่องเที่ยวสำคัญ

4.การพัฒนาบุคลากร จะอบรมอีคอมเมิร์ซระดับเป็นอาจารย์ 100 ราย เอสเอ็มอี 30,000 คน และผู้ประกอบการสตาร์ตอัพจำนวน 10 ราย

5.การลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าประมาณ 11,000 ล้านบาท ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบ
การโลจิสติกส์ไทย โดยใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า สามารถจัดส่งสินค้าภายในประเทศภายใน 24 ชั่วโมง และทั่วโลกภายใน 72 ชั่วโมง เปิดดำเนินการได้ในปี 2562
6.ด้านการส่งเสริมดิจิทัล จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพให้
เอสเอ็มอีของไทย
7.ตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ให้บริการด้านภาษี พิธีการศุลกากร และการแลกเปลี่ยนเงินออนไลน์ครบวงจร ให้บริการเต็มรูปแบบได้ในปี 2552

และ 8.การเงินดิจิทัล จะอำนวยความสะดวกการค้าออนไลน์ผ่านระบบ Alipay

เป็นการจับมือที่ทำให้เห็นมุมของความสำเร็จในอนาคต แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีเสียงของความกังวลว่าอาลีบาบา อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยบางรายที่กำลังหัดเดินเตาะแตะล้มลงได้ เพราะสู้ศักยภาพของอาลีบาบาไม่ได้

นางศิริวรรณ พิริยะเมธากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอท ไทย มอลล์ ผู้บริหารเว็บไซต์ ThailandMall.com และ smesiam.com เปิดประเด็นความกังวลก่อนจะมีการลงนามเอ็มโอยูว่า รู้สึกเป็นกังวลจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยที่เป็นตลาดการค้าออนไลน์ (อีมาร์เก็ตเพลส) มีแนวโน้มได้รับผลกระทบประมาณ 10% จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 30-50 ราย

และอาจมีถึง 5% ต้องล้มหายตายจาก หรือต้องขายกิจการให้ต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเน้นตลาดภายในประเทศ เนื่องจากอาลีบาบาเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ มีงบประมาณด้านการตลาดมาก รวมทั้งรัฐบาลจีนยังให้การอุดหนุนด้านการขนส่ง ทำให้มีต้นทุนถูกกว่าไทย

ดังนั้น รัฐบาลควรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในส่วนนี้ เพื่อให้แข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างชาติได้

ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า เป็นเรื่องดีที่บริษัทขนาดใหญ่ของโลกเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย

แต่อีกมุมยังกังวลเรื่องการได้ฐานข้อมูล (ดาต้าเบส) ของไทย จะมีระบบการป้องกันข้อมูลส่วนตัวจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งอยากให้รัฐพิจารณาตรงจุดนี้ให้รัดกุมด้วย

เช่นเดียวกับ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด ให้ความเห็นว่า การเข้ามาลงทุนของอาลีบาบาในไทยถือเป็นการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างไทยกับจีน โดยสินค้าไทยสามารถส่งออกไปจีนได้ง่ายสะดวกขึ้น

ในทางกลับกัน สินค้าจีนก็จะไหลเข้าไทยได้มากขึ้น สะดวกขึ้นได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะตอนนี้คนไทยหลายๆ คนนิยมซื้อสินค้าผ่านทางลาซาด้า และทางลาซาด้าเองก็กำลังผลักดันสินค้าจากจีนโดยตรงที่ราคาถูกกว่าสินค้าของผู้ประกอบการไทยมากๆ

และเมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าเหล่านี้จะส่งตรงมาจากโรงงานในจีนไปยังบ้านของผู้ซื้อคนไทยทันที โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือบริษัทตัวแทนนำเข้าอีกต่อไป พ่อค้าแม่ค้าที่นำเข้าสินค้าจากจีนเตรียมเปลี่ยนงานได้เลย

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่ผลิตสินค้าตรงกับสินค้าของจีนก็ต้องเตรียมปรับตัวเช่นกัน

แต่สำหรับในมุมของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของเอ็มโอยูกับอาลีบาบาก็แสดงความเป็นห่วงเช่นกัน

โดย นายสุรวัช อัครวรมาศ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ถ้ามองในแง่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เป็นห่วงเรื่องการเตรียมความพร้อมของชุมชน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหลั่งไหลเข้ามาในปริมาณมากๆ ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐเรื่องแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว มองว่าขณะนี้ภาครัฐจะต้องเสริมเรื่องนี้
อย่างจีนวันนี้ที่อาลีบาบาประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งก็เพราะภาครัฐทำเรื่องซิงเกิล เกตเวย์ ทำให้แพลตฟอร์ม อาทิ วีแชต ได้รับความนิยมจนกลายเป็นช่องทางหลัก เพราะฉะนั้นเราจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างถนน เปรียบเสมือนแพลตฟอร์มหรือระบบ ให้พัฒนาควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดเราเป็นฝ่ายที่จะกำหนดทิศทางได้
รัฐบาลเอง ก็มองออกถึงความห่วงใยที่เกิดขึ้น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าใจดีถึงข้อห่วงใยของนักธุรกิจและประชาชนเกี่ยวกับการผูกขาดทางการค้า หลังจากไทยลงนามกับกลุ่มอาลีบาบา

แต่อยากให้เปิดใจกว้างมองอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะสิ่งดีๆ ที่ไทยจะได้รับ ยืนยันว่ารัฐบาลยึดหลักผลประโยชน์ร่วมกัน และคำนึงถึงประเทศชาติเป็นสำคัญ

ด้าน นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อธิบายว่า การใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ประหยัดเวลาที่ต้องนำสินค้าออกเสนอต่อตลาดทั่งในประเทศและต่างประเทศ ลดปัญหาสต๊อก และยังเปิดกว้างต่อการลงทุนร่วมหรือต่อยอดกับธุรกิจที่ทำอยู่
การจับมือกับอาลีบาบา กรุ๊ป ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเปิดตลาดการค้าของผู้ประกอบการไทย เพราะอาลีบาบาเป็นเว็บที่ชาวนาใช้บริการมาก จากประชากรรวมเป็นพันล้านคน เพียงส่วนหนึ่งสั่งซื้อสินค้าไทย เหมือนอย่างที่เพิ่งสั่งซื้อทุเรียนหมอนทองของไทย เพียง 1 นาทีก็ขายจนหมด นั่นแสดงให้เห็นถึงความต้องการสินค้าของไทย เพราะหากสินค้าเราไม่เด่นจริง ยังทำแบบเดิมๆ ไม่นานก็ขายได้ยากขึ้น ความร่วมมือก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก

ประเด็นอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการไทยจะปรับตัวหรือยัง เรื่องนี้หลายหน่วยงานรัฐทั้งภายในกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงอื่นๆ ต่างมีกิจกรรมหรือโครงการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ

ตั้งแต่จัดทำหลักสูตรอบรมความเข้าใจกับการทำตลาดในจีน การทำตลาดบนอินเตอร์เน็ต และค้าขายบนอีคอมเมิร์ซ อีกด้านหนึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้ประกอบการในสมาพันธ์อีคอมเมิร์ซไทยมาหารือและหาแนวทางในการพัฒนาหรือปรับตัวอย่างไร จะแข่งขันได้กับอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ของโลกซึ่งไม่แค่อาลีบาบาเท่านั้น

ส่วนความวิตกเรื่องการล้วงข้อมูลจากเว็บดัง ไม่ว่าจะเป็นอาลีบาบา กรุ๊ป หรือเว็บอื่นๆ ก็จะใช้การเชื่อมข้อมูลกับ Thaitrade.com เป็น national platform ช่วยผู้ประกอบการให้ขายสินค้าบนออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อาลีบาบาจะเลือกคัดสินค้าบนไทยเทรดนี้แล้วนำไปเสนอขายบนอาลีบาบา

ดังนั้น เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้ประกอบการต้องแจ้งต่อกรมก่อนขึ้นไทยเทรดอยู่แล้ว เว็บความร่วมมืออื่นๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน เพราะผู้ขายต้องนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นต่อการผลิตและการพัฒนาอยู่แล้ว

มาถึงจุดนี้ไม่ว่าความร่วมมือกับอาลีบาบา จะก่อให้เกิดผลอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ไทยต้องพร้อมอย่างมาก ทั้งภาครัฐและเอกชน คือการปรับตัวเพื่อรับมือกับการค้าออนไลน์ ที่กำลังยึดครองตลาดโลกอย่างรวดเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image