ปรากฏการณ์ ‘แจส’

ยังอึ้งกันไม่เลิก กรณี “แจส โมบาย บรอดแบนด์” ในเครือจัสมิน ตัดสินใจทิ้งใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ยอมให้ยึดเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาท

ท่ามกลางความเสียดายของกองเชียร์ทั้งหลาย ที่อยากเห็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดบ้านเราบ้าง

“แจส” เป็นน้องใหม่ที่ (เคย) ได้รับฉายา “ม้านอกสายตา” ตั้งแต่เมื่อครั้งประมูลคลื่น 1800 MHz เพราะไม่เพียงเป็นหนึ่งเดียวที่ประกาศตัวเข้าแข่งขัน ท่ามกลางวงล้อมของ 3 ค่ายมือถือเจ้าถิ่นเดิมเท่านั้น แต่ยังเคาะ “ราคา” สู้ยิบตาแบบไม่เกรงกลัวใคร

แม้ในครั้งนั้น “แจส” จะแพ้ประมูล ไม่ได้คลื่นมาครอบครองสมใจ แต่ชนะใจกองเชียร์ทั้งหลายอย่างท่วมท้น

Advertisement

เพราะเมื่อการแข่งขันสิ้นสุด ผลปรากฏว่า ราคาเคาะครั้งสุดท้ายของ “แจส” อยู่ที่ 38,996 ล้านบาท ทิ้งห่างมือวางอันดับสองในตลาดมือถือ ผู้ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นยักษ์ข้ามชาติ นาม “เทเลนอร์” ไกลลิบลับ

(ดีแทค ออกจากการแข่งขันหลังจากเคาะราคาสู้ไปไม่กี่ครั้ง ราคาสุดท้ายอยู่ที่ 17,504 ล้านบาท)

จากม้านอกสายตาจึงกลายเป็น “ตัวเก็ง” ขึ้นมาในทันที เมื่อเข้าสู่รอบการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา

Advertisement

การประมูลคลื่น 900 MHz มี 4 บริษัทเดิมลงสนามชิงคลื่น ประกอบด้วย 3 ค่ายมือถือรายเดิม และ 1 น้องใหม่ “แจส โมบาย บรอดแบนด์”

ในครั้งนี้ แม้ไม่มีใครกล้ามองข้าม “แจส” แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่า 2 ใน 4 ผู้ชนะการประมูลจะไม่มีชื่อ “เอไอเอส” (เชื่อว่าแม้แต่ตัวแทนเอไอเอสที่เข้าประมูลก็ยังไม่เชื่อว่าตนจะแพ้)

พอๆ กับที่ไม่มีใครคิดว่า 1 ใน 2 ผู้ชนะจะเป็นน้องใหม่ “แจส” แม้จะแอบเชียร์ แต่ก็ไม่อยากเชื่อว่าจะสู้จนชนะมาได้ด้วยราคาเท่านี้

ทั้ง 4 บริษัทเคาะราคาสู้กันแบบไม่มีใครยอมใคร ทำให้ทั้ง “ราคา” และระยะเวลาในการประมูลลากไปยาวนานข้ามวันข้ามคืน ถึงขนาดผู้สังเกตการณ์นอกห้องประมูลจากที่

ฮือฮาและตื่นเต้นกับราคาที่วิ่งลิ่วๆ ขึ้นไป กลายมาเป็น “ลุ้น” ว่าเมื่อไรจะจบๆ สักที

ว่ากันว่าที่ราคาพุ่งไปสูงลิบ ไม่ใช่ “ราคา” มูลค่าคลื่น แต่เป็นมูลค่าคลื่นบวกกับการกีดกันรายใหม่ไม่ให้เข้าสู่ตลาด

อยากได้คลื่นความถี่ใหม่ แต่ไม่อยากให้มีรายใหม่ 3 เจ้าสังเวียนเดิมจึงสู้ยิบตา

หลังแข่งกันไป 4 วัน 4 คืน การประมูลก็จบลงด้วยการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ในบ้านเราในหลายแง่มุมด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นการเคาะราคาสู้กันอย่างยาวนานที่สุดถึง 4 วัน 4 คืน และ “ราคา” ใบอนุญาตทะลุไปไกลถึงใบละกว่า 7 หมื่นล้านบาท (แจส ชนะประมูลด้วยราคา 75,654 ล้านบาท ส่วนทรู ชนะประมูลด้วยราคา 76,298 ล้านบาท)

รวม 2 ใบอนุญาต เป็นเงินมากถึงกว่า 1.6 แสนล้านบาท สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศชาติ

เหนือสิ่งอื่นใด ชัยชนะของ “แจส” (ยัง) หมายถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดมือถืออีกด้วย เมื่อ “แจส” เบียดมาเป็น 1 ใน 2 ผู้ชนะ

สงครามมือถือเริ่มต้นขึ้นทันที โดยการเปิดเกมของผู้แพ้ (ประมูลคลื่น) อย่าง “เอไอเอส” ซึ่งใช้คลื่น 900 MHz อยู่แต่เดิม และยังมีลูกค้าใช้งานอยู่กว่า 11 ล้านราย จึงต้องเร่งโอนย้ายลูกค้าอย่างเร่งด่วน

ปฏิบัติการระดมแจกเครื่องฟรีจึงเกิดด้วยเหตุนี้ ไม่ใช่แค่ “เอไอเอส” แต่มี “ทรูมูฟ เอช” ร่วมด้วยช่วยกันแจกเครื่องกับเขาด้วย

เป็นการขับเคี่ยวแย่งชิงลูกค้าระหว่างเบอร์หนึ่งและเบอร์สาม

ใครๆ ก็แข่งกันเอาอกเอาใจลูกค้า ถือเป็นเสน่ห์ของการแข่งขันอย่างแท้จริงจากการมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น

การไม่มี “แจส” จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย

การประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ที่ “กสทช.” กำหนดไว้คร่าวๆ ว่าจะมีในเดือน มิ.ย.นี้ จึงน่าคิดว่า มากกว่า “รายได้” จากการประมูลคลื่นแล้ว การส่งเสริมให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม แต่คงไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าตั้งต้นประมูลโดยใช้ราคาที่ “แจส” ชนะมาได้ หรือไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาท

เริ่มต้นที่ “ราคา” เท่านี้ แม้แต่ “เอไอเอส” ซึ่งมีดีกรีเป็นมือวางอันดับหนึ่งในสังเวียนมือถือยังต้องคิดหนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image