โพลหอค้าฯชี้ผู้ปกครองใช้เงินรับเปิดเทอมพุ่งสูงสุดรอบ 5ปี กว่า 5.2 หมื่นล้าน ยอมกู้ยืมในระบบ-ญาติ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า คาดว่าการใช้จ่ายเงินช่วงเปิดเทอมที่จะถึงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีมูลค่า 52,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่า 50,196 ล้านบาท ในแง่การขยายตัวถือว่าสูงสุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจเมื่อปี 2553

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจพบว่า ผู้ปกครอง 59.2% ระบุว่า ยังมีความสามารถใช้จ่ายค่าเปิดเทอมได้ เพราะมองว่า เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้ว แม้ยังไม่ฟื้นตัวทุกภาคส่วน แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียนของบุตรหลาน ยังคงใช้จ่ายด้านการเรียนอย่างเต็มที่หรือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 16,407 บาท เพิ่มขึ้น 47.9% โดยสาเหตุเกิดจากผู้ปกครองซื้อเพิ่มขึ้น จากรายได้ที่ดีขึ้น และราคาสินค้าแพงขึ้น แม้ผู้ปกครองที่ไม่มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมมีถึง 40.8% ก็จะหาเงินด้วยการใช้จำนำทรัพย์สินมากที่สุด รองลงมาคือ กู้ยืมทั้งในระบบและยืมญาติพี่น้อง

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงเปิดเทอม คือค่าเล่าเรียน ค่าหน่วยกิต 16,289 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 13,894 บาท, ค่าบำรุงโรงเรียนตามปกติ 2,233 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 2,133 บาท, ค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเปลี่ยนโรงเรียน (แป๊ะเจี๊ยะ) 9,877 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 9,138 บาท, ค่าหนังสือ 1,833 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 1,642 บาท, ค่าเสื้อผ้า 1,900 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 1,262 บาท และค่ารองเท้า ถุงเท้า 978 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 772 และสำหรับค่าใช้จ่ายที่ลดลงในช่วงเปิดเทอม คือ ค่าอุปกรณ์การเรียน 1,103 บาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 1,928 บาท และค่าบริการจัดการพิเศษ เช่น ค่าประกันชีวิต 1,553 ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 1,685

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังเห็นว่า การเรียนพิเศษเพิ่มเติมมีความจำเป็นในระดับชั้นประถมศึกษามากที่สุด 64.9% รองลงมาคือ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 60.1% และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 56.4% โดยสาเหตุที่ให้เรียนเพิ่มเติมคือ จะได้มีความรู้เพียงพอสำหรับการแข่งขัน ต้องการให้ได้เกรดเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเรียน

Advertisement

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ด้านทัศนะของผู้ปกครองที่มีต่อระบบการศึกษาไทยปัจจุบันเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับคะแนน 7.89 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 และระดับความพึงพอใจในการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลมีระดับคะแนนอยู่ที่ 7.98 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่า หลักสูตรการศึกษาระดับปฐมวัยมีความเร่งรัดด้านการเรียนมากเกินไป 42.1% ข้อสอบวัดมาตรฐานไม่อิงกับหลักสูตรการเรียนการสอน 37.8% และจำนวนครู/อาจารย์มีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ 35.6% และผู้ปกครองต้องการให้ปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 38.5% ภาษาในกลุ่มอาเซียน 33.5% ด้านจริยธรรม 24.2% ด้านวิชาชีพ 23.5% ด้านวัฒนธรรมในกลุ่มอาเซียน 23.2% ด้านคณิตศาสตร์ 20.4% และด้านภาษาอังกฤษ 17.6% ส่วนเรื่องมาตรฐานคุณภาพการศึกษาส่วนใหญ่ 86.4% ยังเห็นว่าเท่าเทียมกัน และเห็นว่า โครงการเงินกู้ของรัฐบาลเพื่อการศึกษา (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา : กยศ.) มีความสำคัญระดับปานกลาง

“จากผลสำรวจยังพบว่า บุตรหลานเล่นอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทั้ง สมาร์ทโฟน เครื่องเล่นเกมส์ที่บ้าน เกมออนไลน์ แทปเล็ต เกมส์พกพาขนาดเล็ก และเกมตู้ โดยเฉลี่ยในช่วงเปิดเทอมอยู่ที่ 1.85 ชม./วัน และโดยเฉลี่ยในช่วงปิดเทอมอยู่ที่ 3.38 ชม./วัน ซึ่งผู้ปกครองมองว่า เล่นแล้วทำให้ไม่เสียการเรียน 68.1% โดยผู้ปกครองพยายามให้คำแนะนำถึงข้อดีข้อเสีย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image