‘พินิจ’ นำจีนจับคู่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ประเดิมสัญญาซื้อขายหมอนยางบึงกาฬ 2,000 ใบ (คลิป)

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่โรงแรมดุสิตธานี สภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ จัดงานต้อนรับคณะสภาส่งเสริมธุรกิจการค้ามณฑลซานตง โดยมีการเซ็นสัญญาขายหมอนยางพาราระหว่างสหกรณ์กองทุนสวนยางบึงกาฬและบริษัทรับเบอร์วัลเล่ย์กรุ๊ป จำนวน 2,000 ใบ

นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวว่า การจัดงานจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างนักธุรกิจมณฑลซานตงกับประเทศไทยในค่ำวันนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของความสัมพันธ์การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว และตลอดการทำแมตชิ่งมาต่อเนื่อง พบว่ามูลค่าการค้าระหว่างซานตงกับไทยเพิ่มขึ้น 21.7 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา โดยมียอดการค้านำเข้าส่งออก 49,640 ล้านหยวน หรือมากกว่า 248,000 ล้านบาท และในไตรมาสแรกของปี 2561 มียอดการค้านำเข้าส่งออก 12,110 ล้านหยวน หรือมากกว่า 60,000 ล้านบาท ขณะที่มณฑลอื่นของจีนก็มีแนวโน้มตัวเลขการนำเข้าและส่งออกที่ดีมากเช่นกัน แสดงว่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจทางการค้าระหว่างไทยกับจีนประสบความสำเร็จมาก

“สำหรับการแมตชิ่งครั้งนี้ มีนายหลิว เสี่ยว เจียง รองประธานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งมณฑลซานตง และรองเลขาธิการรัฐบาลมณฑลซานตง รองอธิบดีกรมพาณิชย์มณฑลซานตง นำคณะนักธุรกิจจากประเทศจีน 40 ท่าน โดยมีเป้าหมายเพิ่มยอดการค้าการลงทุนกับประเทศไทย โดยคัดบริษัทที่ตั้งใจจะมาลงทุนทำการค้ากับประเทศไทย ซึ่งทางประเทศจะมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำกลุ่มโอท็อป กลุ่มเอสเอ็มอี หอการค้าจังหวัดต่างๆ ตลอดจนผู้ประกอบการจากกรมส่งเสริมการเกษตรมาร่วมงาน และวันนี้จะมีการเซ็นสัญญาซื้อหมอนยางพารา 2,000 ใบต่อเดือน ระหว่างชุมนุมสหกรณ์ กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ กับบริษัทรับเบอร์วัลเล่ย์กรุ๊ป ประเทศจีน ซึ่งทางจีนเขามีความต้องการมาก อยากได้หลักหมื่นใบ แต่กำลังผลิตเรายังน้อยอยู่ การซื้อขายครั้งนี้เป็นการซื้อขายกับเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง เป็นมิติของการค้าขายโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง แล้วหลังจากการจับคู่ธุรกิจวันนี้แล้ว คณะจากมณฑลซานตงจะเดินทางไปดูโครงการอีอีซี” นายพินิจกล่าว

Advertisement

นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ และที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์ กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ครั้งนี้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายหมอนยางพาราล็อตเเรก 2,000 ใบ ซึ่งเป็นความต่อเนื่องจากโครงการเดิมที่มีการทำมาตั้งแต่งานยางพาราบึงกาฬ ต่อยอดจนการทำโรงงานยางพาราครบวงจร โดยเริ่มจากการผลิตหมอน ก็มีการประสานกับทางจีนมาต่อเนื่อง จนมาถึงการเซ็นสัญญาซื้อขายครั้งนึ้ โดยเบื้องต้นวันนี้โรงงานสามารถผลิตได้วันละ 200 ใบ กำลังดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิตด้วยเครื่องจักรตัวใหม่ซึ่งจะสามารถผลิตได้วันละ 1,000 ใบ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 5 เดือนข้างหน้า

“หมอนยางพาราของเรามีคุณภาพ ทำจากเนื้อยาง 100 เปอร์เซ็นต์ ได้มาตรฐาน และมีราคาถูก โดยรวมปลอกหมอนแล้วใบละ 400 บาท ที่สำคัญยังเป็นหมอนยางพาราที่เป็นของเกษตรกรโดยตรง” นายนิพนธ์กล่าว และว่า นอกจากประเทศจีนที่มีการเซ็นสัญญาซื้อขาย ขณะนี้ก็มีประเทศเวียดนามกำลังทำหนังสือ โดยสถานกงสุลเวียดนามประจำขอนแก่นได้พาพ่อค้าเวียดนามมาเจรจาและลงนามความร่วมมือแล้ว หลังทำหนังสือเสร็จจะมีการนำเข้าไปจำหน่ายที่เวียดนามต่อไป

Advertisement

ต่อมาเวลา 18.45น. มีการเซ็นสัญญาซื้อขาย การเซ็นสัญญาขายหมอนยางพาราระหว่างสหกรณ์กองทุนสวนยางบึงกาฬและบริษัทรับเบอร์วัลเล่ย์กรุ๊ป จำนวน 2,000 ใบ โดย นายอารี โพธิ์จันทร์ ประธานชุมนุมสหกรณ์ กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด และนายเฉิน หู้เซิง (โทนี่ เฉิน) ผู้จัดการ บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ จำกัด สาขาประเทศไทย ร่วมลงนาม และมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ , นายหลิว เสี่ยว เจียง รองประธานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งมณฑลซานตง และรองเลขาธิการรัฐบาลมณฑลซานตง รองอธิบดีกรมพาณิชย์มณฑลซานตง , พล.อ.วิชิต ยาทิพย์, นายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การ บริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ร่วมเป็นสักขีพยาน และมีนายวราวุธ​ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมงาน

นายอุตตม กล่าวว่า ประเทศไทยและประเทศจีนมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งยาวนานมีความเป็นมิตรทั้งด้านวัฒนธรรม การค้าและการลงทุน รวมถึงนโยบายที่ทั้ง 2 ประเทศดำเนินอยู่ขณะนี้เชื่อว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนได้ โดยนโยบายวันเบลท์วัน โรดของจีน ถือว่าว่าเป็นนโยบายที่จะสร้างความเชื่อมโยงกับหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลไทยได้พัฒนายุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะเดียวกันยังสร้างความพันธ์และความร่วมมือกับประเทศที่เป็นมิตร โดยเฉพาะประเทศที่ใกล้ชิดมานาน เช่น ประเทศจีน

“ประเทศไทยได้กำหนด 11 อุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมเป็นพิเศษ หลายอุตสาหกรรมเชื่อว่าประเทศจีนมีความชำนาญ และจะมาร่วมมือกับไทย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เรามุ่งไปสู่รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และมีโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอีอีซี เป็นการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดภาคตะวันออก เพื่อเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่พัฒนาให้เป็นสมาร์ทซิตี้ รวมถึงยกระดับเมืองเดิมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น” นายอุตตม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image